ประวัติศาสตร์กับมโนทัศน์อันจำกัด

จากกรณีธนาคารเก่าแก่ของไทย (ที่อายุเพิ่งร้อยปีไปไม่กี่ปี) ทำให้ผมนึกถึงกรณีทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกัน

และมันสำคัญที่ว่า คนไทยในระบบการศึกษาไทย ถูกจำกัดมโนทัศน์ไปจนไม่ค่อยเห็นภาพนี้ (แต่หากคุณไม่ใช่คนในกลุ่มนี้ ผมก็ดีใจด้วย)

เล่าแบบสั้นๆ นะครับ เจ็บคอ คือ ธนาคารไทยแห่งแรกมีอายุทางการ 111 ปี เริ่มต้นทดลองทำในสมัย ร.5 ที่ต้องทดลองก่อน เพราะสังคมสยามตอนนั้น ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ระบบธนาคารยุคนั้น มีแล้ว มาจากต่างชาติหมด

ทีนี้ในสมัยอยุธยา ปี 1608 คือมากกว่า 410 ปีก่อน บริษัท VOC หรือชื่อในภาษาอังกฤษ Dutch East India Company เขาเข้ามาตั้งห้างขายของในอยุธยาแล้ว

บริษัทนี้มาจากไหน ก็มาจากการระดมทุนในตลาดหุ้นของพวก Dutch (ฮอลแลนด์) คนชั้นกลาง ใครมีเงินก็เอาเงินไปลงทุนได้ เขาก็เอาเงินไปต่อเรือ จ้างลูกเรือ สร้างระบบกองทัพ และขนเรือมาเอเชีย เอาสินค้ามาขาย และขนสินค้าจากเอเชียกลับไปบ้าน ทำกำไรในทุกที่ที่ไป

VOC มีศูนย์กลางของเอเชียอยู่ที่เมืองปัตตาเวีย (Battavia) ปัจจุบันคือจาร์กาต้า ประเทศอินโดนิเซีย

พวกเขามาอยุธยา สร้างท่าเรือ ห้างค้าขาย และอยู่เป็นชุมชนใหญ่ที่เรียกว่า Settlement ตั้งสถานทูต คือไม่ได้มาเล่นๆ พวกดัตช์นี่ยังไปไกลถึงเมืองนางาซากิ ทางใต้ประเทศญี่ปุ่น ในยุคที่พวกเขาปิดประเทศ

มาลองพิจารณาที่ timeline ดูนะครับ คือ 410 ปีก่อน นานกว่าอายุธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเกือบ 4 เท่าตัว

เรื่องนี้บอกอะไรเราบ้าง?

  1. หลังจากยุโรปตื่นจากความมืดบอดที่ครอบงำโดยศาสนา เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เริ่มทำงานเต็มรูป ก่อให้เกิดบริษัทข้ามชาติแห่งแรกและตลาดหุ้น

  2. VOC จึงมีความเหมือน Startup ในเซนส์ของวันนี้ เพราะเขาคิดใหม่ ทำใหม่ และ disrupt วงการ จากแต่ก่อน การออกเรือต้องใช้นายทุนหลักคนเดียว เช่นกษัตริย์ รูปแบบใหม่คือสร้างองค์กรและระดมทุนจากประชาชนด้วยกัน

  3. และโมเดลนี้เอง ดีงามเสียจนชนชาติอื่นอย่างอังกฤษ ก็ลอกไปทำ ถึงจุดนึงขัดแย้งจนต้องซัดกันในสงคราม ซึ่งรอบนั้นอังกฤษชนะไป

เมื่อเราพิจารณาสังคมไทยตอนนั้น เราอาจเห็นว่ามีชาวต่างชาติมาพำนักเยอะ มีความสัมพันธ์ทางการทูต มีห้างค้าขายจากต่างชาติ แต่สังคมสยามเอง เป็นระบบไพร่ทาสอยู่ หากไพร่อยากลงเงินซื้อหุ้น VOC ก็ทำไม่ได้ เพราะต้องไปซื้อไกลถึง Amsterdam หรือไม่แม้แต่จะตั้งบริษัท Public Company ขึ้นมา มีตลาดหุ้น ที่ไม่ใช่การกู้เงินมาทำแบบปกติ เพราะทักษะ ความคิดจิตใจยังไปไม่ถึงจุดนั้น

หรือคิดแบบง่ายกว่านั้น แค่การบันทึกรายละเอียดสังคมไทย ด้วยภาษาไทย ก็มีให้อ่านกันน้อยมาก เพราะการรู้ภาษามันจำกัดในชนชั้นปกครองเท่านั้น ไม่นับกว่าแท่นพิมพ์แบบ moveable type จะถูกนำเข้ามาสังคมไทย ต้องรอจนถึงสมัย ร.3 โดยแพทย์มิชชั่นนารีอเมริกัน Dan Beach Bradley

หรือพูดสรุปแบบกระชับ โลกทรรศน์สังคมไทยตอนนั้นยังไปไม่ถึง มันยังอยู่ในระบบไพร่ทาสอยู่

ข้ามเวลามา 300 ปี ตอนที่ ร.5 และพระอนุชา กำลังทดลองโปรเจกต์ใหม่ Codename “Book Club” เพื่อพัฒนาระบบธนาคารไทยครั้งแรก ตอนนั้นคนไทยเกือบทั้งหมด ยังไม่รู้จักระบบสำนักงาน ที่ยุคนั้นเรียกว่า “การออฟฟิซ” กันเลย เป็นเหตุให้ต้องเริ่มต้นระบบโรงเรียน เพื่อสร้างคนอ่านออกเขียนได้มาเพิ่ม เพื่อป้อนเข้าระบบ ทีนี้จะหาแรงงานมาจากไหนล่ะ หากคนสมัยนั้นยังเป็นไพร่เป็นทาส ทำงานมีสังกัด มีนายกันอยู่ เป็นเหตุให้ ร.5 ต้องทยอยลดระบบทาสลง เพื่อ transit ทั้งสังคม สู่ระบบใหม่ ที่มาจ่อคอหอยสังคมไทยตอนนั้น หรือถ้าให้ถูกต้องบอกว่า มันเข้ามา 300 ปีแล้ว (นับจากยุค ร.5) กับสิ่งที่เรียกว่า “Globalization”

ผ่านมาถึงยุคปัจจุบันที่สังคมไทย มีระบบการศึกษาแบบ Public School และการศึกษาภาคบังคับแล้ว สิ่งที่พวกเขาพร่ำสอนในโรงเรียน นอกจากให้อ่านออกเขียนได้แล้ว คือประวัติศาสตร์สงคราม เน้นไปที่บุคคล

บางที โลกทรรศน์ของคนไทยยุคนี้ ยังแทบไม่ต่างจากในอยุทธยาตอนนั้น แค่พวกเขาอ่านออกเขียนได้ เล่น facebook เป็น เท่านั้นเองครับ

ภาพ: ภาพวาดอยุธยาแบบพาโนรามา ภาพจริงปัจจุบันเก็บไว้ที่ Amsterdam

คำว่า Iudea คาดว่าเป็นชื่อเรียกที่เลียนเสียงโยเดียของทางพม่า

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.