The Terminal (2004) ความทรงจำยังคงแจ่มชัด

ไม่มีส่วนที่สปอยเนื้อหา

ต้องขอบคุณ Netflix ที่ทำให้กลับมาดูหนังที่ปกติคงไม่คิดจะกลับไปดูอีก อย่าง The Terminal ผมดูเรื่องนี้ในโรง กับคุณย่าเล็ก มันเป็นปีสำคัญ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จึงจำเหตุการณ์ได้เป็นพิเศษ คุณผู้อ่านลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่นเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ เปลี่ยนที่ทำงานใหม่วันแรก ไปต่างประเทศครั้งแรก ฯลฯ คนความจำแย่ขนาดไหน จะจดจำวันเหล่านั้นได้ แม้เพียงลางเลือน ขณะที่วันอื่นๆ แทบจำอะไรไม่ได้เลย

ที่จำได้ชัดคือวันเดียวกับที่ดูหนัง ผมทำ Passport เล่มแรก (เข้ากับหนังมาก) แถมหลังจากนั้น แวะ Fortune เพื่อซื้อ Wifi Router ตัวแรกกลับบ้าน ณ ตอนนั้น Wifi Router ยังเป็นของใหม่มาก บ้านผมมีคนแรกอยู่หลายปี

และคงไม่ต้องบอกว่าปีนั้นผมเพิ่งเรียนจบมา ความสดใหม่ไฟแรงมีมาก ก่อนหน้าจะดูหนังรอบสอง ผมยังมีความรู้สึกอยู่เลยว่า The Terminal เป็นหนังใหม่ จนกระทั่งดูจบ

…..ถึงรู้ว่าเวลาผ่านไปแล้ว และเร็วมาก

อะไรทำให้มาเขียนถึง

ดูแล้วอดนึกขำกับอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้ เพราะผ่านเวลามา 10 ปี คือปี 2014 ผมตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายพระเอก คือระหว่างบินจากบ้านเกิดประเทศคราโคเชีย (ประเทศแต่งขึ้นมา) มาสหรัฐ (นิวยอร์ก) อยู่เกิดรัฐประหาร และทำให้พาสปอร์ทไม่มีความหมาย เลยไปไหนไม่ได้ กลับบ้านก็ไม่ได้ เพราะเที่ยวบินระงับหมด

แน่นอนว่านี่คือเรื่องแต่ง เมืองไทยเกิดรัฐประหารพาสปอร์ทผมก็ยังใช้งานได้อยู่เพราะถือว่ามีข้อผูกมัดกันมาก่อน

แล้วเรื่องนี้มีจุดรั่วทางเนื้อหาใหญ่ตามมาคือ ทำไมมีพระเอกคนเดียวที่ติด?

คือในระหว่างเรื่องจะชี้ให้เห็นว่ามีเที่ยวบินตรงไปกลับคราโคเชีย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นไปไม่ได้ที่จะติดอยู่คนเดียว แต่ในความเป็นจริง คนคงมโนเอาว่า คราโคเชียประเทศเล็กมาก น้อยคนที่จะเดินทางไปสหรัฐ ไม่มีเที่ยวบินตรง หรือในกลางเรื่องที่ประกาศเที่ยวบินตรง เพื่อให้คนเข้าใจง่ายๆ เป็นต้น

จับผิดเล็กๆ น้อยๆ พอสนุกครับ เพราะถ้าดูแล้วเราอาจจะพบจุดตะหงิดใจหลายแห่ง แต่เพราะหนังมันเน้นดูง่ายๆ สบายๆ ดราม่านิดหน่อย เลยทำให้เราดูเพลินผ่านไป ไม่ต้องคิดอะไรมาก

The Terminal มีแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ที่มีชายชาวอิหร่านติดอยู่ใน terminal สนามบินชาร์ล เดอ โกล ปารีสนานนับสิบแปดปี ด้วยเหตุว่ารัฐบาลสั่งยกเลิกสัญชาติ + ทำเอกสารการลี้ภัยที่เบลเยี่ยมออกให้หาย มันเลยกลายเป็นจุด DeadLock คือจะกลับบ้านก็ไม่ได้ ให้ไปต่อก็ไปไม่ถึง (ประเทศอังกฤษ) เลยถูกส่งกลับไปฝรั่งเศส สนามบินต้นทาง ตอนแรกทางการฝรั่งเศสจับตัวไว้ แต่เพราะเขาเข้าสนามบินถูกกฎหมาย ไม่มีกฎหมายข้อใดให้ต้องจับ และไม่มีประเทศต้นทางให้ส่งกลับ เลยกลายเป็นบุคคลที่ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในสนามบิน

The Terminal เอาเรื่องนี้มาดัดนิดหน่อย เพื่อเอามาทำหนังนั่นเอง

จุดที่น่าสนใจมาก คือเรื่อง Production ครับ คือเพราะไม่มีสนามบินไหนยอมให้ใช้สถานที่ถ่ายทำ สปีลเบิร์กเลยลงทุนสร้าง Terminal ขึ้นมาจริงๆ ที่สมจริงมากจนคิดว่ามันคือของจริง ตอนที่ดูผมตื่นตาตื่นใจมาก แม้ก็แอบรู้สึกว่ามันเล็ก


ร้านค้าต่างๆ ในนั้น ใช้การสร้างจริง โดยขอสปอนเซอร์จากร้านเหล่านั้นจริง ก็ถือว่าได้โฆษณาไป พวกลิฟต์ บันไดเลื่อนใช้การซื้อต่อจากห้างที่เลิกกิจการ ดูเนียนมาก แต่ที่สะดุดใจคือจอทีวีในนั้นครับ

เปล่าเลยไม่มีอะไรผิดปกติ แต่มันย้ำเตือนเราว่าปี 2004 จออ้วน CRT ยังคงเป็นมาตราฐาน พวก Flat Panel จอแบนนี่มีแล้ว แต่ยังแพง (จริง ๆ จำได้ว่าราคาเริ่มลงมา ผลจากสิทธิบัตรหมดอายุ) ผมแนะนำให้ใช้ทีวีเป็นดัชนีเวลาหาเส้นเวลาในหนังครับ เช่น Back to the future สร้างยุค 80 แต่พอเซตฉากปี 2015 มาตายเอาตรงจอทีวีนี่แหละ เพราะมันไม่มีจอแบนสมัยนั้น

Terminal Interior Design ในหนังกับปัจจุบัน แทบไม่เปลี่ยน แต่จอทีวีนี่เปลี่ยน ในหนัง ตัวเอกยังใช้เพจเจอร์ แต่ปัจจุบันแม้จะมีใช้อยู่ ก็คงหายากเต็มทีครับ สองอย่างนี่แหละครับ ที่ย้ำเตือนผมว่าหนังมันนานแค่ไหน จากที่เคยรู้สึกว่าหนังมันใหม่ ก็มาสะอึก ต้องย้อนถามตัวเองว่าสิบกว่าปีทีผ่านมา เราทำอะไรมาบ้าง

จุดน่าสนใจอื่นๆ ในหนัง

  • ขายวัฒนธรรมอเมริกันไว้เยอะครับ เช่นการทิป ดนตรีแจ๊ส เบอร์เกอร์คิง สตาร์บัค ไทม์สแควร์ ที่ผมชอบหน่อยคือบรรยากาศในร้านหนังสือที่คุ้นเคย ในหนังแสดงความ Nice ของคนอเมริกัน (ส่วนใหญ่) ไว้ด้วย
  • นางเอก อายุจริง 35 ในหนังบอก 39 ด้านพระเอกไม่รู้อายุ แต่บอกว่าตัวเองเคย 39 แหม ผมอยากให้หนังไทยเลิกหากินกับวัยรุ่นเสียจริง แทบจะไม่มีหนังให้ดูแล้วครับ 55+
  • ตัวละครตัวหนึ่งพยายามหยุดเครื่องบินให้ดีเลย์ ตำรวจสนามบินจริงจังมาก ทรีตเขาเหมือนผู้ก่อการร้าย ขณะที่เรื่องจริงในประเทศไทย ปิดสนามบินเป็นสัปดาห์ จนป่านนี้คดีความยังไม่เดินหน้า

ดูเรื่องนี้ ต่อมการเดินทางทำงานครับ

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.