ต่อยอดประเดน “ค้นหาตัวเอง” กับคุณ @adct2luv

ได้มีโอกาสสนทนาสั้นๆ กับคุณมาช (@adct2luv) ทางทวิตเตอร์ในประเดนเกี่ยวกับ “การค้นหาตัวเอง” แล้วยังมีความคิด คำถามบางอย่างวนเวียนอยู่ในหัว ผมเลยลองถ่ายทอดมันออกมาด้วยการเขียนดูครับ เพื่อให้ความคิดตัวเองว่างเปล่า จะได้ทำงานอื่นต่อได้ (สักที) 😀

—-

“ค้นหาตัวเอง” วาทกรรมที่คาดหวังกับคนชั้นกลางในเมืองใหญ่่

“ค้นหาตัวเอง” เป็นวาทกรรมของสังคมสมัยใหม่ที่เรียกร้องให้คนเราต้องหาสิ่งที่ตัวเองถนัด ชอบ และรักที่จะทำมัน เกือบทั้งหมดโยงอยู่กับเรื่องปากท้อง คือการทำมาหากินนั่นเอง

พิจารณาดูดีๆ แล้วการค้นหาความชอบ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะของชนชั้นกลางในสังคมเมืองที่มีความหลากหลายสูงมาก คนชั้นสูงไม่เคยถูกคาดหวังให้ “ค้นพบตัวเอง” เพราะจะมีธุรกิจครอบครัวหรืองานที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือแม้แต่มรดกดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่มากพอที่จะไม่ต้องดิ้นรนหาความชอบพิเศษในการทำงาน คนชั้นล่างยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้ว่าจะทำงานหนักเพียงไหน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมักไม่มากพอให้พวกเขาดำรงชีพได้อย่างสบายๆ จนสามารถค้นหาความเชี่ยวชาญหรือความชอบในงานที่อยากทำ ที่สามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำได้ (คงตลกมาก หากคุณได้พูดคุยกับคนงานก่อสร้างแล้วพวกเขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่พวกเขาค้นหาตัวเองจนเจอ :P)

คนชั้นกลางโดยธรรมชาติคือกลุ่มที่ห่างไกลจากการดิ้นรนเรื่องปากท้องไปแล้ว และพยายามจะยกระดับตัวเองในแง่ของเศรษฐกิจให้สูงขึ้นเรื่อยๆ การทำมาหากินด้วยความรักในงานและความเชี่ยวชาญเฉพาะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ โดยเฉพาะหากต้องการที่จะยกระดับ แม้ว่าเวลาพูดถึงความชอบในงาน เรามักจะไม่พูดถึงหรือเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องเศรษฐกิจเลยก็ตาม 

และต้องเป็นคนชั้นกลางในเมืองที่มีความหลากหลายสูงเท่านั้น ที่จะถูกคาดหวังเรื่องการค้นหาตัวเองเป็นพิเศษ เพราะหากเป็นคนชั้นกลางต่างจังหวัด จะมีความหลากหลายในอาชีพตามความหลากหลายทางธุรกิจของท้องถิ่นนั้น  ถ้าท้องถิ่นนั้นไม่มีความซับซ้อนสูง ไม่มีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้โอกาสการค้นหางานที่ตัวเองชอบมีโอกาสที่จะลดลง ความคาดหวังในการค้นหาตัวเองในสังคมที่มีความซับซ้อนน้อย ย่อมมีไม่มากเท่าสังคมที่ซับซ้อนมากกว่า ลองคิดถึงชนชั้นกลางต่างจังหวัดที่ประกอบอาชีพ ครู ทนายความ แพทย์ พ่อค้า พนักงานรัฐ ฯลฯ ถ้าเรารักในงานที่ไม่มีอยู่ในสังคมนั้น ก็จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน เช่นนักวาดภาพประกอบสิ่งพิมพ์ หากท้องที่นั้นไม่มี หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ไม่เน้นภาพประกอบ นักวาดภาพประกอบจะต้องย้ายถิ่นไปอยู่ในที่มีงานรองรับ

น่าแปลกอีกอย่างที่แม้โครงสร้างและความหลากหลายของสังคมและธุรกิจ จะไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ แต่หลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐไทยเรานั้น แคบ (ไม่หลากหลาย) และคล้ายกันมากในทุกพื้นที่ของรัฐ จะด้วยเหตุผลด้านการควบคุมหรือความมักง่ายในการออกแบบหลักสูตรก็ตามแต่ หากเรานำความหลากหลายของหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละประเทศมาเทียบกัน น่าจะเห็นความเกี่ยวพันธ์ (Correlation) กันระหว่างความหลากหลายของหลักสูตร ของสังคมเมือง ของรูปแบบธุรกิจ และ GDP ได้เป็นอย่างดี (เป็นการนำข้อมูลระดับปฐมภูมิมาคิด ไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสจะลองค้นคว้าและวิจัยเรื่องนี้โดยส่วนตัว)

ก่อนหน้าที่ระบบการศึกษา จะเข้ามามีบทบาทในการยกระดับทางชนชั้น ก่อนหน้าที่สังคมเมืองจะซับซ้อนอย่างในระดับปัจจุบัน เราไม่เคยเปิดโอกาสให้คนเราค้นหาตัวเองได้เท่าไร ลูกชาวนาคือชาวนา ลูกพระยาคือพระยา ค่ำเช้าเฝ้าสีสอ เย็นเข้าหอล่อกามาไปวันๆ นี่น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าถ้าเราหลุดพ้นจากเรื่องปากท้องและอยู่ในโครงสร้างชั้นบนสุดของสังคม ที่ไม่ต้องดิ้นรนยกระดับกัน ก็ชอบการตอบสนองหรืองานที่ให้ความสนุก สบาย สะดวก กันทั้งนั้น 

ในโลกแห่งความจริง ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าจะมีประชากรในทุกระดับชั้นเป็นสัดส่วนเท่าไรที่ค้นหาตัวเองจนเจอ มีความชอบความสุขความพอใจในงานที่ทำ แต่ถ้าสมมติว่าคนชั้นกลางคนหนึ่งค้นหาตัวเองไม่เจอ เราจะโทษหลักสูตรการศึกษา หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือรูปแบบความหลากหลายทางธุรกิจของสังคมนั้นๆ หรือโทษตัวของพวกเขาดี?

ว่าแต่คุณค้นหาตัวเองเจอหรือยังครับ? อยู่ในซอกหลืบไหน? 😛

11 Comments

  1. เขียนได้ดีและตรงใจมากครับ เดี๋ยวคืนนี้ถ้าไม่ติดอะไร จะลองต่อยอดในมุมของผมบ้าง ^^

  2. Werawat Wera

    จัดมาเลยครับ 😛

  3. คิดว่าหาตัวเองเจอมาเรื่อยๆ เพราะเลือกทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบหรือรักมาโดยตลอด แต่เพิ่งมามั่นใจอย่างเต็ม 100% ว่านี้คือตัวตน เมื่อสัก 2 ปี เพราะสิ่งที่ทำที่ต้องการมันเด่นชัดทุกๆด้าน บางทีการค้นหาตัวเองมันก็ต้องการการบ่มเพาะประสบกาณ์ในตัวมันเองเหมือนกัน เพื่อพิสูตน์ว่านี้และใช่ หลังจากค้นหาตัวเองเจอที่เหลือก็คือใช้ชีวิตและโตพร้อมกับมันไปเรื่อยๆ ลองเขียนค้นหาความรักดูมั้ยคงปวดหัวเกินกว่าจะเขียน 555

  4. Werawat Wera

    พัท ทั้งนายและเราต้องค้นหาตัวเอง และต้องพิสูจน์มัน เพราะรูปแบบงานของเรากับนายมัน "ใหม่" และ "เมือง" มากๆ สมมติเราสองคนไปอยู่หุบเขาทางเหนือ เราคงไม่มีทางเลือกมากนอกจาก "เกษตรกร" แต่งเพลง ทำ motion graphic เอาไว้ตอนเวลาเหลือเฟือ อินเตอร์เน็ตอาจจะยังไม่มีเลยก็ได้ 555+

  5. Werawat Wera

    อีกหนึ่งประเดนที่น่าคิดมากๆ คือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยนะครับ ผมเห็นตัวอย่างมากมาย ที่พ่อหรือแม่ชี้นำทุกอย่าง แม้แต่การเลือก career ถ้าชอบก็ดีไป แต่ถ้าไม่ชอบ ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตที่ทั้งหมด – –

  6. แต่เรื่องฐานะมีผลกับคนประเภทรักสบาย ชอบได้มาง่ายๆ ชนะคนอื่นแบบง่ายๆมากกว่านะ หรือนายคิดว่างัย?? ในสังคมคนที่เพียบพร้อมเท่าๆกันที่เห็น(คนที่อยากได้อะไรก็ขอพ่อ แม่ซื้อได้ แสน-ล้าน) ก็มาแข่งเรื่องความสามารถ ความภูิมิใจ หน้าตาทางสังคม ความมีระดับ รสนิยม แทน แต่ปัจจุบันธุรกิจกับเทคโนโลยีคงเป็นตัวแปรให้คนค้นหาตัวเองหรือเปล่า อย่างทำเว็บเคยคิดว่าน่าสนใจ น่าทำเล่นๆ แต่พอทำได้แล้วรู้สึกเลยว่านี้มันก็เป็นสิ่งที่รักเหมือนกันชอบในรูปแบบการทำงานในเว็บ การค้นหาตัวเองคงเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจตัวเองและมีความสุขในการที่จะใช้ชีวิตต่อไป แล้วในมุมมองของนายเป็นแบบไหนเหรอเพิส????

  7. Werawat Wera

    นั่นไง ด้านบนเขียนเอาไว้แล้วว่าฐานะอยู่ระดับบน ไม่จำเป็นต้องค้นหาตัวเอง เพราะสามารถแนบเนียนไปกับ "จริต" ของชนชั้นนั้นได้ ไม่ว่าจะเรื่องความมีระดับ รสนิยม หรือแม้แต่การศึกษา ลองคิดดูว่าหากไทเกอร์ วู้ดอยู่ในชนชั้นสูงแต่แรก ก็อาจไม่ใช่ไทเกอร์คนนี้น่ะ อาจเล่นกอล์ฟเพียงเพื่อเข้าสังคม แต่ไม่ได้เล่นจริงจัง ผ่านการซ้อมหนักจนมาเป็นไทเกอร์ 😀

  8. Jakkrit Hochoey

    โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรในสังคมมีปัญหาแต่รัฐไม่เคยใส่ใจดูแล

  9. Werawat Wera

    @jakkrith ใช่ครับ เต็มๆ เลย มองเห็นหลักสูตรเหมือนการปั้มขึ้นรูปของโรงงาน เราได้ผลผลิตที่เหมือนๆ กัน ขาดความหลากหลายจนน่ากลัว

  10. Jakkrit Hochoey

    ทำไมเด็กสมัยนี้ต้องเรียนกวดวิชา ไม่เคารพครูบาอาจารย์ ยึดติดกระแสความร่ำรวยตามเพื่อนๆ กท.ศึกษาฯ เคยเหลียวมองตรงจุดนี้บ้างหรือไม่? เมื่อปัญหาสะสมถับถมมานานปี จึงถึงเวลาแล้วที่ควรจะปลุกกระแสให้ ประชากรในสังคมทุกระดับชั้น หันมา "ค้นหาตัวเอง"

  11. Werawat Wera

    อยากเห็นการปลุกกระแสการ "ค้นหาตัวเอง" จริงๆ ครับ ไม่มากก็น้อย อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผลลัพธ์ก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ลองคิดว่าคน 100 คน เปิด startup 30% เราจะมีหน่วยธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จะช่วยผลักดันสังคมไปมากขนาดไหน

Leave a Reply to Werawat Wera Cancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.