ติดอ่าง, Stuttering, Cluttering 3 อาการผิดปกติที่เคยมาอยู่กับคนคนเดียว

ตั้งใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ก็มีอาการอายๆ ที่จะมาวิจารณ์ (ประจาน) ตัวเอง ได้แต่พยายามหาทางปรับปรุงตัวเองอย่างเงียบ จะรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง โดยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีการบันทึกเสียงการพูดของตัวเองในรายการช่างคุยแล้วนำมาฟังย้อนหลัง จึงตัดสินใจที่จะเขียน blog เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยจุดประสงค์สองอย่างครับ อย่างแรกคือการประกาศจุดบกพร่องที่ออกจะน่าอายของตัวเองไว้เตือนสติเพราะผู้มีอาการอย่าง Cluttering นั้นไม่รู้ตัวเองว่าบกพร่อง อย่างที่สองเพื่อผู้สนใจ กรณีที่มีคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าว จะได้เข้าใจธรรมชาติของพวกเขาและหาทางแก้ไขต่อไป เริ่มกันเลยนะครับ

ขออภัยแทนคนที่รีบคลิกเข้ามาอ่านเพราะคีย์เวิร์ดว่า “ติดอ่าง” ด้วยนะครับ (ผมว่าเฮียมาช @adct2luv เนี้ยหนึ่งคนแน่ๆ ;P) ติดอ่าง, Stuttering, Cluttering ทั้งสามอย่างนี้คือการบกพร่องทางการพูด ที่เชื่อมโยงกับระบบประสาทของสมองและจิตวิทยา โดยหลักๆ แล้วคือการพูดซ้ำๆ รัวๆ และ (อาจจะ) เร็วมาก ในภาษาไทยเราใช้คำว่า “ติดอ่าง” แทนความหมายทั้งหมด แต่ในภาษาอังกฤษเนื่องจากมีการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงมีการแยกอาการออกไปอีกสองแบบคือ “Stuttering” กับ “Cluttering”

ตั้งแต่จำความได้ ความบกพร่องนี้ น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเรียนชั้นอนุบาล และมีอาการเป็นๆ หายๆ ที่จำได้เพราะเป็นหนักมาก คือเป็นทุกครั้งที่พูด พอหายดี ก็จำได้ว่าหายจากอาการนี้แล้ว กลับมาเป็นใหม่คือช่วงเข้าสู่วัยรุ่น คือตอน ม.1 ที่ทำให้เข้าใจว่า “ติดอ่าง” แท้ๆ เป็นเช่นไร 

การติดอ่างในภาษาไทยอธิบายไว้ตรงมากๆ คือติดตัว อ อ่าง ไม่สามารถออกเสียงนี้คำแรกได้ เช่น อย่า อยู่ อย่าง อยาก ถ้ามาขึ้นประโยคแรกจะพูดไม่ออก ต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นต้นด้วยคำอื่นๆ ที่ไม่ใช่ อ อ่าง เพื่อให้เริ่มต้นประโยคได้ (อย่าเพิ่งหัวเราะนะครับ ใครไม่เคยมีอาการเหล่านี้ คงไม่รู้ว่าทรมานและน่าอับอายแค่ไหน)

ขณะที่การติดอ่างอย่างที่หลายคนเข้าใจ ฝรั่งใช้คำว่า “Stuttering” คือการพูดรัว คือติดทุกคำไม่จำเป็นต้องเป็น อ อ่าง การเป็น Stuttering นี้ทรมานมากๆ นะครับ เพราะผู้พูดรู้แน่ชัด ว่าอยากจะพูดอะไรออกไป แต่พูดไม่ออก เพราะปากไม่สามารถส่งเสียงออกมาเป็นคำที่คนนั้นต้องการได้ แถมยังมี Awareness เกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดด้วย ทำให้ทุกครั้งที่ต้องพูด จะรู้สึกไม่มั่นใจ

อาการ Stuttering ที่เป็น เหมือนจะหายไปในช่วงเข้าสู่ ม ปลาย ซึ่งอันที่จริง มันก็ไม่ได้หายไป แต่พัฒนามาเป็น “Cluttering” แทน อาการใหม่นี้แนบเนียนมาก เพราะผู้พูดไม่มีทางรู้ตัวเองว่าเป็น ลักษณะเฉพาะคือการพูดเร็ว เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้มีการติดขัดบ้าง โดยเฉพาะเวลาที่เกิดเป็นความคิดใหม่ผุดขึ้นมา ดูเหมือนความคิดนั้นจะไม่ได้มาทีละชิ้น และกลับมาพร้อมๆ กัน จนผู้พูดไม่รู้ว่าจะอธิบายความคิดเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร สิ่งสุดท้ายคือเราจะเห็นการพูดเร็วๆ และอาจจับใจความไม่ได้ หรือเป็นคำพูดเลี่ยงๆ อย่าง “อะไรอย่างเงี้ย” “นึกออกมะ” แทน ที่ตลกมากคือ ระหว่างกำลังพูดอยู่ แล้วเกิดความคิดใหม่บางอย่าง พวกเขาอาจสับสน อาจหยุดพูดแล้วเริ่มเรื่องใหม่เลย แบบนี้ผู้ฟังคงปวดเศียรเวียนเกล้าและอาจถึงขั้นหงุดหงิดได้ 

Cluttering นั้นช่วยให้เราเข้าใจกลไกของ Relativtity (สัมพัทธภาพ) ได้อย่างชัดเจนมาก เพราะเวลาของความคิดในหัว กับเวลาของโลกแห่งความจริงที่เราทำการขยับปาก นั้นมันไม่ใช่เวลาเดียวกัน หรือทำงานไม่สอดคล้องในจังหวะเดียวกัน (unsynchronize) 

แม้ว่าปัจจุบันจะดีขึ้นมาเยอะ (เอ๊ะ ดีจริงหรือเปล่านะ ;P เพราะคนเป็น Cluttering จะไม่รู้ตัว) เพราะส่วนตัวยังสามารถคุยงาน ขายงานกับลูกค้า ไปจนถึงคุยกับเพื่อนๆ ได้อย่างปกติสุขดี (ต้องขอบคุณในน้ำอดน้ำทนของพวกเขา) แต่ถ้ามีโอกาสที่จะบันทึกเสียงพูด และมีเวลาล่วงหน้านิดหน่อย ผู้เขียนจะตั้งให้เสียงพูดของตัวเอง ถูกหน่วงเวลา และค่อยส่งมายังหูฟังของตัวเอง ทำให้เราได้ยินเสียงตัวเองที่พูดออกไปช้า เพื่อหน่วงจังหวะการพูดให้ช้าลงได้บ้าง ที่น่ายินดีคือ วิธีการนี้ มาค้นเจอทีหลังว่าทางการแพทย์ใช้มาหลายสิบปีแล้ว ผู้เขียนกำลังจะทำโปรแกรมบนมือถือสำหรับใช้แก้ปัญหานี้ให้กับตัวเอง คือการใช้ไมค์และหูฟังกับมือถือเป็นเครื่องมือในการหน่วงเวลาเสียงพูดตัวเองอีกด้วยครับ

อย่างไรก็ตามครับ เท่าที่สังเกตตัวเองมาตลอดหลายปีที่ใช้ชีวิตด้วยกัน (ความคิดกับร่างกายที่อาศัยอยู่) การพูดมีทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะเกิดจากระบบประสาท ระบบความคิดทำงานช้าลงนั่นเอง แต่หลายคนที่ได้ฟังช่างคุยตอนล่าสุด คงจะเห็นแย้งว่า “ดีขึ้นแล้วหรือเนี้ย?”

“ดีขึ้นแล้วนะครับ” ;D (จริงจริงนะ)

5 Comments

  1. โดนหลอกเข้ามาจริงๆ –" ผมฟัง 5 ชอบ / ไม่ชอบ ของตัวเอง ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพูดแบบ Cluttering มากๆเลย –"

  2. Werawat Wera

    RT @lurnover: @phz oh poor me, m just realise that myself is kind of cluttering! thx for ur article! / oh im glad i’ve got a friend ;D

  3. Werawat Wera

    ฟังของเฮียมาช @adct2luv แล้ว อาการเบากว่าผมเยอะ ผมไม่รู้สึกเลยนะ ;P

  4. Werawat Wera

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ผมจะไม่มีปัญหากับการร้องเพลงเลยนะ นั่นเป็นเพราะมี external clock จากดนตรี มาคุมจังหวะการออกเสียงนั่นเอง ;D

  5. อ่า..ขอบคุณครับ หลังจากฟังช่างคุย รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนวิธีการพูดของตัวเองอีกเยอะเลย รู้สึกว่า ตะกุกตะกัก และ แต๋วมาก อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน -"-

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.