ผมมีโอกาสได้ฟังเพลง Made in Thailand อีกครั้ง เพลงนี้เป็นเพลงระดับปรากฏการณ์ขายได้เกิน 2 ล้านชุด และเป็นเพลงการเมืองโดยไม่ต้องสงสัย เพราะต้องการสร้างค่านิยมใหม่มาลบล้าง “ความนิยมของนอก” ที่มาฟังใหม่อีกครั้งคือต้องการกลับมาฟังแบบ ‘ผู้ใหญ่’ เพราะตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ
จำได้ว่าอิทธิพลของเพลงนี้ทำให้ผมสนใจภาษาอังกฤษที่เขียนไว้ตามผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ว่าผลิตจากที่ไหน อาทิเช่น ปืนฉีดน้ำราคา 5 บาทที่ใช้ มีอักษรนูนต่ำเขียนว่า Made in Japan (ซึ่งไม่น่าจะใช่) หรือดินสอกดที่แม่ซื้อให้ ราคาญี่ปุ่น 100 เยน ราคาไทย 22 บาท ก็เขียนว่า Made in Japan
พวกเกมคอนโซล ตอนนั้นมันก็มีประเด็นเรื่องการที่เป็น Made in Japan แล้วก็มา Made in Taiwan และต่อมาก็ Made in China
ผ่านเวลามาถึงปัจจุบัน เรื่อง Made in China ไม่น่าจะใช่ประเด็นที่น่ากลัวเหมือนสมัยก่อน ส่วน Made in Thailand นี่ถ้าคุณเจอ มักจะเป็นของดีเลย แม้แต่กล้องถ่ายรูปไปจนถึงรถยนต์ ส่วนพวกเสื้อผ้าไปจนถึงรองเท้ากีฬานี่ เราอาจเห็น Made in Thailand บ้าง ไม่เห็นกันง่าย ๆ เท่าไร เพราะเพื่อนบ้านเราที่ค่าแรงถูกกว่าจะผลิตโดยส่วนใหญ่
ผ่านเวลามา 36 ปี อิทธิพลของเพลงนี้น่าจะมีความหมายลดลงไปมาก เพราะ Made in Thailand เดินทางมาไกลจนปัจจุบันต่างชาติทยอยย้ายโรงงานหนีค่าแรงที่สูงกว่าไปแล้ว
ส่วนที่นำมาเขียนตอนนี้ผมต้องการจะมาวิเคราะห์ตรรกะของเนื้อเพลงล้วน ๆ เพราะตราบใดที่เพลงนี้ผลิตซ้ำอยู่ ผมคิดว่าเขียนดักไว้เผื่อมีใครมาอ่าน ช่วยกันคิดครับ
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟัง สามารถฟังได้ที่นี่
ประโยคเปิด
เมดอินไทยแลนด์ แดนดินไทยเรา
เก็บกันจนเก่า เรามีแต่ของดีดีมาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย มาลพบุรี อยุธยา ธนบุรี
ยุคสมัยนี้ เป็น กทม.
ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจในหมู่คนสนใจประวัติศาสตร์แล้วว่า ชื่อประเทศไทย หรือ Thailand มันเริ่มต้นตั้งแต่ช่วง 2475 ที่เราเริ่มมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ส่วนชื่อ Thailand นั้นมาทีหลังอีกนิดหน่อย ทีนี้ถ้าเราจะนับย้อนกลับไปสุโขทัย ละโว้ (ลพบุรี) … เราควรต้องนับอาณาจักรอย่างล้านนา ล้านช้าง และอีก 3-4 รัฐตอนใต้ของไทยในปัจจุบันซึ่งถือเป็นคนละรัฐไปด้วย แนวคิดเรื่องรัฐชาตินั้นมีมาไม่นานนัก แต่การที่มีคนอยู่ในดินแดนแถบนี้ เป็นเรื่องที่ยาวนานกว่ามาก และนานกว่าสมัยสุโขทัยนับย้อนออกไปอีกเป็นพันปีทีเดียวครับ
ก็เท่ากับเนื้อเพลงที่ว่า “เก็บกันจนเก่า” นี่อาจไม่ได้เป็นการเก็บ แต่มันอยู่ไปจนเก่าแต่แรกแล้ว
เมดอินเมืองไทย แล้วใครจะรับประกันฮะ (ฉันว่ามันน่าจะมีคนรับผิดชอบบ้าง)
อันนี้นี่คือปัญหาการเมือง ยุคสมัยปัจจุบันเรารู้กันดีว่าผู้ผลิตต้องรับประกันให้ และทั้งหมดนี้มาจากกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือ Consumer Acts ของประเทศไหนแข็งแรง ประชาชนก็จะสบายใจหน่อยครับ การที่เนื้อเพลงที่ออกมาปี 1984 มาถามว่าใครจะมารับประกัน ส่วนผมค้นว่า พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเมื่อปี 2522 (หรือปี 1979) แสดงว่าคนแต่งเนื้อหาไม่ได้รับรู้ว่ามีกฏหมายคุ้มครองนี้อยู่ หรือในทางปฏิบัติมันไม่มีอยู่จริงจนต้องมาถามหาด้วยเนื้อเพลง
ผลิตผลคนไทยใช้เองทําเอง
ตัดเย็บเสื้อผ้ากางโกงกางเกง
กางเกงยีนส์ (ชะหนอยแน่)
แล้วขึ้นเครื่องบินไปส่งเข้ามา
คนไทยได้หน้า (ฝรั่งมังค่าได้เงิน)
คนไทยก็ได้เงินครับ ไม่ใช่ว่าจะได้แค่หน้า ข้อความข้างต้นทำให้คนเข้าใจผิดเลย
เมดอินไทยแลนด์ พอแขวนตามร้านค้า
มาติดป้ายติดตราว่าเมดอินเจแปน
ก็ขายดิบขายดีมีราคา
คุยกันได้ว่ามันมาต่างแดน
ทั้งทันสมัย มาจากแม็กกาซีน
เขาไม่ได้หลอกเรากิน
หลอกเรานั่นหลอกตัวเอง…เอย
อันนี้ก็ยังเป็นเรื่องการเมือง แก้ไขด้วยการเมือง การที่มีผู้ผลิตหลอกลวงด้วยการปิดฉลากว่าทำจากญี่ปุ่น แต่จริง ๆ ทำจากเมืองไทย คือปัญหาที่ฝ่ายผู้บังคับกฏหมายไทยต้องจัดการ แต่ไม่ได้มาโบ้ยที่ผู้บริโภคว่าเราหลอกตัวเองอยู่ครับ
ปัจจุบัน Made in Thailand นั้นสำคัญน้อย ผู้บริโภคแทบไม่สนใจแล้ว และถ้ามันผลิตในไทยจริง ๆ มันกลายเป็นมาเป็นสินค้าที่ถือว่าเกรดดี เท่ากับว่าเพลงนี้ได้ทำหน้าที่สร้างการรับรู้ หรือ Perception ของคนไทยมาตลอดสามสิบกว่าปี ถือว่าได้รับใช้ความคิดได้คุ้มค่า เพลง Made in Thailand มีการบันทึกเสียงใหม่เรื่อย ๆ ตลอด 30 กว่าปีโดยสอดแทรกเนื้อหาให้ทันสมัยขึ้น แต่จุดที่ขาดหายไปในมุมมองผม คือ ‘เมด อิน ไทยแลนด์ แบรนด์ไทยทำกิน’ ที่จะช่วยสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ สร้างแบรนด์ไทยในแข็งแรงในตลาดโลก เพราะสินค้าในไทยที่ส่งออกถ้าไม่ใช่สินค้าเกษตรแล้วเป็นพวกมีแบรนด์ของต่างประเทศกันหมดเลย
และถ้าคุณยังฟังนี้อย่างรู้สึกบันเทิงอยู่ ถือเป็นของแถม ส่วนตัวผมเองตั้งแต่เด็กฟังแบบไหน พอเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่อิน (เหมือนเดิม) เขาไม่ได้หลอกเรากิน แต่เราก็ไม่หลอกตัวเองด้วยครับ