ฮิโรชิม่ากับนางาซากิ เป็นชื่อเมืองที่เข้ามาในระบบการรับรู้ของผมครั้งแรก ตอน ป.3 โดยครูประจำชั้นที่รับหน้าที่สอนวิชาหลักคือคณิตศาสตร์ สปช ภาษาไทยในคนเดียว ตอนนั้นครูกล่าวแต่เพียงสั้น ๆ ว่าสองเมืองนี้ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์มีคนตายจำนวนมากจึงแพ้สงคราม ด้วยความที่ยังเด็กและรู้สึกว่ามันทั้งนานและไกล (ระยะเวลา 50 ปีของเด็กอายุ 9 ขวบที่ไม่เคยออกเดินทางไปไหนไกลกว่า 2 จังหวัด) ทำให้ผมรู้สึกว่ามันไม่สำคัญหรือใกล้เคียงอะไรกับเรา เพียงแค่เรื่องเล่าเก่า ๆ ของคนรุ่นคุณทวดเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสมายืนในจุดศูนย์กลางที่ระเบิดอะตอมนี้ลง และเมื่อคิดได้ว่าเหตุการณ์นี้ ยังมีผู้รอดชีวิตถึงปัจจุบัน มันยังไม่ผ่านชั่วอายุคนไปด้วยซ้ำ จึงค้นพบว่ามัน… ใกล้ตัวเราแค่นี้เอง…
ในช่วงสายของวันที่ 9 สิงหาคม 1985 เพียง 3 วันหลังจากเมืองฮิโรชิม่าถูกทิ้งระเบิด มีเครื่องบินวนเวียนอยู่เหนือเขตเมืองนางาซากิอยู่ 3-4 รอบแล้ว เขตเมืองไม่ใช่เป้าหมายแรก แต่ในขณะที่เป้าหมายอื่นมีเมฆหมอกปกคลุมทั่วไปหมด ฟ้าเจ้ากรรมดันเปิด ณ จุดนั้นพอดี เมื่อนักบินได้รับสัญญาณจึงตัดสินใจหย่อนระเบิดทันที ระเบิดลูกอ้วน ๆ ที่ชื่อ Fat Man ที่แกนกลางภายในเป็นธาตุพลูโตเนี่ยม ได้ระเบิดตัวกลางอากาศเหนือพื้นดินประมาณ 500 เมตร ณ จุดที่ผมยืนอยู่ในวันนี้ ชั่วพริบตาเกิดแสงและรังสีความร้อนมหาศาล ปฎิกริยาฟิซชั่นก่อให้เกิดการแตกตัวออกต่อ ๆ กันของธาตุพลูโตเนี่ยม ได้ปล่อยพลังงานมหาศาลระดับที่ผู้คนต่างเมืองนึกว่ามีพระอาทิตย์ดวงที่สอง เซนเซอร์วัดกัมมันตภาพที่เครื่องบินลำนั้นหย่อนตามลูกระเบิดส่งสัญญาณวิทยุกลับไปศูนย์บัญชาการว่าระเบิดทำงานเป็นผลสำเร็จ
ชั่วพริบตาหลังจากการระเบิด ผู้คนที่อาศัยในรัศมี 1 กิโลเมตรจากศูนย์กลางระเบิด (Hypocenter) ถูกรังสีความร้อนที่ร้อนระดับ 1800 องศาเซลเซียส (มีการวัดทีหลังโดยนำกระเบื้องและเซรามิกมาวิเคราะห์) ความร้อนขนาดนี้ เผาเนื้อคนเป็นเถ้าถ่าน ของเหลวในร่างกายระเหยกลายเป็นไอชั่วพริบตา พลังงานแสงที่เกิดขึ้นภายในเวลาเสี้ยววินาทีต่อมา แผดเผาอาคารในรัศมี 3 กิโลเมตร จนเห็นเงาบันไดที่พาดอยู่กับอาคารนั้น ใครตากผ้าไว้ในรัศมีไกลออกไปยังปรากฎเป็นเงาที่พาดตึกเป็นหลักฐานถึงความเข้มของพลังงานแสงที่ปล่อยจากการระเบิด ผู้คนที่อยู่ระแวก 2-3 กิโลเมตรจากศูนย์กลาง ถ้าอยู่กลางแจ้งก็ถูกแผดเผาไปไม่แพ้กัน ที่อยู่ในอาคารก็ไม่เว้น ถ้าใครโชคดีหน่อย มีกำแพงที่แข็งแรงกั้นแนวไฟ ก็อาจรอดได้ แต่ความแรงของลมพายุอันเกิดจากแรงระเบิดสามารถผลักคนเหล่านั้นให้กระเด็นไปถึง 14 เมตร ที่โรงงานแห่งหนึ่งในรัศมี 3 กิโลเมตร มีอัตราการรอดชีวิตเพียง 2 จาก 34 คน
ผู้คนในกิโลเมตรที่ 4 ที่ได้ยินเสียงระเบิดและโชคดีที่ไม่ถูกระเบิดแผดเผา จะสังเกตเห็นฝนสีดำ ตกลงมาตามหลังแสง เสียง ความร้อน และลมพายุ ฟ้ามืดเหมือนเป็นตอนกลางคืน บ้างก็อุทานออกมาว่า “นี่เป็นวันสิ้นโลกแล้วหรือไร!?”
ในตอนนั้น ไม่มีใครคาดคิดหรือเตรียมตัวว่าจะมีอะไรแบบนี้ ไม่มีใครรู้เรื่องฮิโรชิม่าว่าเสียหายหนักขนาดไหน ก่อนนั้นเครื่องบินรบอเมริกันโปรยใบปลิวมาแจ้งเตือนว่าให้อพยพหนีจากเขตเมืองและอย่าต่อต้าน แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ ตอนนั้นยังไม่มีใครเชื่อว่าระเบิดลูกเดียวจะมีอานุภาพทำลายล้างสูงขนาดนี้
ค่ำคืนวันนั้น ผู้ได้รับบาดเจ็บจะถูกลำเลียงไปทำการปฐมพยาบาลในโรงเรียนประถมใกล้ ๆ ที่อาคารแม้จะโดนแรงระเบิดแต่ยังยืนหยัดอยู่ เป็นอาคารเดียวที่เหลืออยู่ในระแวกนั้นที่ล้วนแล้วแต่โล่งเตียนจากการทำลายของระเบิด เมื่อไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่มีเครื่องมือเพียงพอ ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก คนก็ทยอยล้มตาย เสียงร้องโอดโอยตลอดทั้งคืน ควบคู่กับไฟที่ยังไม่มอดดับจนกระทั่งเช้าของอีกวัน บางที การอยู่ในรัศมี 1 กิโลที่ร่างกายถูกเผาในเสี้ยววินาที อาจโชคดีกว่าคนที่ถูกเผาบางส่วน และต้องทนทุกข์ทรมานอีกเป็นวัน ซึ่งสุดท้ายก็ตายอยู่ดีเสียอีก
ไม่กี่วันต่อมา จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้สงคราม โดยมีการติดเงื่อนไขไว้กับรัฐบาลอเมริกันผู้จะเข้าไปปลดอาวุธว่า จะไม่มีการเอาความผิดกับจักรพรรดิ ผู้คนที่บาดเจ็บจากลูกระเบิดค่อย ๆ ล้มตายต่อในช่วง 10 วันแรก และในสิ้นปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตรวมกันประมาณ 70,000 คน (บ้างก็ว่าอาจถึง 80,000) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 70,000 จากประชาชนที่ประมาณกันว่ามีอยู่ราว 240,000 คน ไม่นับคนที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี ซึ่งมีผลต่อพืช สัตว์ เด็กในครรภ์มารดา และผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย กินเวลาอีกหลายสิบปีต่อมา
ระเบิดอะตอม 2 เมือง ใน 3 วัน นี่เป็นการทดลองระเบิดอะตอมครั้งใหญ่ที่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องทดลอง หลายท่านอาจจะอยากเถียงโดยใช้ข้อเท็จจริงจากในหนังสือเรียนที่อเมริกามาช่วยเขียนว่า ถ้าไม่ทิ้งระเบิด ก็ไม่ยอมแพ้และทหารอเมริกันก็อาจเสียชีวิตอีกมาก
ผมอยากให้พิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ครับ อันที่เป็นหมัดตรงที่สุด ในวันที่ทิ้งระเบิด เครื่องบินวนเหนือน่านฟ้า 4 รอบ โดยไม่มีการต่อต้าน? ครับ ไม่มีทั้งปืนต้านอากาศยานและเครื่องบินรบของฝั่งญี่ปุ่นไปต่อต้าน เพราะไม่มีอะไรจะสู้แล้ว
ที่บอกว่าญี่ปุ่นจะสู้ในแผ่นดินจนคนสุดท้าย ก็เป็นเพียงวาทกรรม การที่เครื่องบินศัตรูบินวนอยู่หลายรอบโดยไม่มีอะไรไปสู้คือสิ่งที่บอกชัดในตัวเองแล้ว
รายงานที่มีการสำรวจย้อนหลัง ที่พูดคุยกับนายทหารระดับสูงในกองทัพญี่ปุ่น ก็สรุปว่าญี่ปุ่นกำลังจะเตรียมการยอมแพ้ในวันสิ้นปีของปีนั้น หรืออาจะมีโอกาสยอมแพ้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ตรงกับจอมพลระดับ 5 ดาว (ต่อมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ) ไอน์เซนฮาวที่เชื่อว่าญี่ปุ่นกำลังเตรียมการยอมแพ้ให้เสียหน้าน้อยที่สุด ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นครอบครองเกาหลี-จีนบางส่วน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด ทหารญีปุ่นกระจายออกทั่ว การยอมแพ้จึงต้องมีแบบแผนเช่นกันเหมือนตอนที่ทำการบุก
และทำไมจึงต้องทิ้งระเบิด?
สหรัฐมีการตกลงกับอังกฤษล่วงหน้าก่อนเป็นปี ว่าจะใช้ระเบิดอะตอมกับญี่ปุ่น โครงการแมนฮัตตันที่ตั้งมาเพื่อผลิตระเบิดอะตอมใช้เงินไปมหาศาล ตอนแรกตั้งใจจะใช้กับเยอรมัน แต่กองทัพพันธมิตรและรัสเซียเข้าไปปลดอาวุธได้ก่อน เยอรมันจึงรอดพ้นหวุดหวิด
คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเกี่ยวกับแผนการใช้ระเบิดอะตอม มีการลิสต์รายชื่อเมืองต่าง ๆ ที่จะบอมบ์ เกียวโตเป็นหนึ่งในนั้น แต่ภายหลังถูกถอดออกด้วยเหตุผลที่เราเข้าใจได้
เมื่อมีการลงทุนเงินมหาศาล มีการวางแผนจะใช้งาน มันจึงต้องถูกใช้ครับ อันนี้เป็นเหตุผลทางการเมือง ส่วนเหตุผลทางการทดลอง คงจะคล้าย ๆ กับการที่นาซีทำการทดลองต่าง ๆ อย่างอำมหิตในค่ายกักกันชาวยิว และญี่ปุ่นก็มีการทดลองกับชาวจีน ในขณะที่มะกันก็ไม่ได้เป็นพระเอกอย่างในหนัง พวกเขาทดลองอาวุธทำลายล้างมวลชนทีเป็นแสนคนในการบอมบ์เพียงสองครั้ง
โดยครั้งแรกที่ฮิโรชิม่าใช้ธาตุยูเรเนี่ยม ส่วนนางาซากิใช้พลูโตเนี่ยม
ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์สงครามแต่ไม่เคยสนับสนุนสงคราม
ผมซึมซับความเจ็บปวดที่มนุษย์กระทำต่อกันโดยมุ่งหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับใครอีก
ที่สุดแล้ว ผมมีจุดยืนว่าคนเราควรเท่ากัน เพราะที่ฆ่ากันมากมายขนาดนั้น มาจากการเห็นคนไม่เท่ากันของคนไม่กี่คน เท่านั้นเอง
หมายเหตุ: ขัอมูลที่นำมาเขียนมาจากการอ่าน ฟังบทสัมภาษณ์และซึมซับจาก Atomic Bomb Museum Nagasaki
และเพื่อเป็นการให้เกียรติกับเหยื่อระเบิดวันนั้น จึงไม่ลงภาพเอาไว้ สามารถหาดูได้จากพิพิธภัณฑ์หรือ Google