ด้านมืดของ Conformity

ผมโตมากับย่านสะพานเหล็ก ที่ที่ขายเกม-ของเล่น -เครื่องเสียง สินค้าในนั้นอาจดูมีหลากหลายก็จริง แต่หลักๆ ก็จะซ้ำๆ กันเยอะมาก ย่านแบบสะพานเหล็ก บ้านหม้อ พาหุรัด สำเพ็ง เสือป่า พันทิพย์ ไปจนถึงมาบุญครองยุคหลัง 2000 ที่กลายมาเป็นที่ขายมือถือเกือบทั้งห้าง

ปัจจุบันผมเข้าใจว่าย่านเหล่านี้ละลายหรือหายไปเยอะแล้ว แต่หลายที่ก็ยังมีอยู่ หลายคนคิดว่าที่ไหนก็มีแบบนี้ แต่ยุคสมัยใหม่ ผมต้องถามอย่างจริงจังว่า ถ้าคุณเห็นร้าน A ขายของชนิด a ดีมากๆ คุณเป็นร้าน B อยู่ข้างๆ แล้วอยากจะขายสินค้า a แข่งกับเขา หรืออยากขายสินค้า b, c, d หรือตัวอื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ๆ ไม่ซ้ำคนคนอื่น?

อันนี้คือด้านมืดของ Conformity คำนี้ไม่มีแปลไทยตรงๆ แต่หมายถึงการที่ผู้คนในสังคมปรับมุมมอง ความเชื่อ ความคิดเห็น ทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน

คงไม่ต้องอธิบายเยอะว่าที่มาของชุดความคิดมันมาจากไหนบ้าง แต่คุณจะรู้ว่าพฤติกรรมที่เลียนแบบกัน มันคือผลทางตรงของ conformity หลายคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรเยอะ เพราะกลัวไปขัดกับ conformity

บางคนเห็นนาย C ทำอะไรที่มันน่าสนใจก็รีบทำตาม ผมเห็นปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยมาก เช่นยุคโควิดใหม่ๆ มีคนเอารูปเด็กมาชูป้ายให้กำลังใจหมอ ส่วนแม่ยอมประสาทแดกแทนเพื่อให้ทุกคนอยู่บ้าน มีคนทำตามแบบนี้เยอะจัดจนผมรู้สึกตลกและสงสารเด็ก

ไปจนถึงการพยายามใส่จุดระหว่างเว้นบรรทัดตามนักเขีนนดัง

ล่าสุด พวกเพจที่จ้างคนมาดูแลการตลาดให้ ก็เล่นมุขซ้ำๆ บริษัท D เล่นก่อน แล้ว E F G H I J ก็เล่นตาม คนอาจรู้สึกว่ามันสนุก ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทำอะไรที่มันแย่หรอกครับ แค่ผมชี้ให้เห็นถึงลักษณะการทำอะไรตามๆ กัน

พอมันมาเป็นเรื่องการเมือง หรือการทำธุรกิจแล้วมันดูตลกและน่าเศร้าไปพร้อมๆ กัน

เพราะครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ใครแสดงความไม่เห็นด้วยกับความเชื่อหลักที่อยู่ในสังคมจะโดนล่าแม่มด หรือใครทำงานอะไรออกมาดีๆ ก็โดนลอกเลียนแบบ ตั้งแต่งานออกแบบไปจนถึงวิธีการทำธุรกิจ ซึ่งลักษณะแบบนี้มันเกิดซ้ำๆ จนเศรษฐกิจเราดูไม่เบ่งบานน่าสนใจ มองไปเจอแต่พวกผูกขาดจนรวย และพวกผูกขาดนี่ก็ตัวดี เพราะเวลาเลียนแบบใครก็โหดเหี้ยมเล่นกันจนเขาอยู่ไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่ดีในการทำธุรกิจเลย

ตอนที่ผมจดทะเบียนบริษัทที่นิวซีแลนด์ เว็บของรัฐเขาบอกเลยว่าพยายามนำเสนออะไรที่ใหม่ให้เศรษฐกิจของที่นั่น ใครที่เคยมาจะพบว่าเราจะไม่เห็นร้านอาหารที่ขายแบบเดียวกันอยู่ติดกัน หรือบริษัทที่ขายของแบบเดียวกันอยู่ติดกันจนกลายเป็นย่านเหมือนอย่างของไทย หรือของจีน (ที่สังคมเขาก็จัดหนักเรื่อง conformity เช่นกัน)

คำว่าใหม่หรือความคิดริเริ่ม originality อาจไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายเราต่างก็ส่งผลถึงกันและกัน และการเลียนแบบไม่ได้ผิดเสียทีเดียว การทดลองเริ่มทำอะไรด้วยการเลียนแบบคนที่ทำได้ดีก่อนคือเรื่องจำเป็น

แต่ถ้ามาถึงเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ปากท้อง ไปจนถึงมุขตลกบน socials พยามคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่กันดีกว่าครับ

อ้อ แต่ทำตามผมจะไม่ค่อยมี engagement ในสังคมที่นิยม conformity ผมก็ต้องบอกว่า I don’t give a damn. 😆

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.