ข้อคิดจาก #Outliers

Outliers เป็นหนังสือขายดีของ Malcolm Gladwell ที่ผมได้ยินเรื่องราวมาจากรายการช่างคุย 

ต้องบอกว่าเรื่องราวในหนังสือนั้นเปลี่ยนมุมมองในบางเรื่องของผมใหม่เลยทีเดียว 

และเนื่องในโอกาสที่ผมจะส่งต่อหนังสือนี้ให้กับ adct2luv แล้ว

เลยขออนุญาติเขียนโน้ตจากส่วนที่ประทับใจจากความทรงจำครับ

  • ความได้เปรียบเล็กน้อยตอนเด็ก เช่นการเกิดก่อนกันในระดับเดือน (เช่นเกิดต้นปี กลางปี ปลายปี) อาจก่อให้เกิดช่องว่างเล็กๆ และช่องว่างนี้จะเป็น “โอกาส” สำคัญในการพัฒนาตัวเองของเด็กคนนั้นในอนาคต (หนังสือได้ยกตัวอย่างการคัดตัวกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งในแคนาดา ที่เริ่มคัดตัวกันตั้งแต่เด็กๆ และเด็กกลุ่มที่โตที่สุดในรอบปีนั้น มักจะ ได้รับโอกาสที่ดี ต่อๆไปในสายอาชีพนี้ เพราะกีฬาฮ๊อกกี้นั้นมีสนามเป็นทรัพยากรจำกัด ที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสฝึกฝนอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่แพทเทิร์นของการค้นพบนี้ มีผลต่อกีฬาชนิดอื่นๆ อย่างฟุตบอลอีกด้วย)
  • กฏแห่งการฝึกฝน 10000 ชั่วโมง ถ้าอยากเก่งเรื่องใด ให้ฝึกฝนในเรื่องนั้น 10000 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มต้นเก็บเกี่ยวความสำเร็จ ฟังดูเหมือนแค่อึดอย่างเดียว ในความเป็นจริง การที่เราจะทำอะไรอย่างเดียวถึง 10000 ชั่วโมงนั้น ถ้าไม่ใช่ความชอบ ความหลงใหล มาบรรจบกับ “โอกาส” ก็ยากที่จะทำได้ในระดับ 10000 ชั่วโมง (ตัวอย่างจากหนังสือ บิล เกตต์ โมสาร์ท วงดนตรีเดอะบีทเทิ้ล ฯลฯ)
  • กลุ่มคนยิวรุ่นแรกที่อพยพไปอเมริกา ชาวนาเอเชียที่ปลูกข้าวด้วยความวิริยะ (หนังสืออธิบายได้เห็นภาพความลำบากของชาวนามากๆ) ต่างก็มีแพทเทิร์นแห่งความอึดนี้ปรากฏอยู่ ทำให้ลูกหลานที่โตมาด้วยวัฒนธรรมนี้มีโอกาสที่จะไขวคว้าความสำเร็จได้ หากมี “โอกาส” ที่เหมาะสมหยิบยื่นให้ (ตัวอย่างจากหนังสือ คนรุ่นที่ 3 นับจากยิวอพยพรุ่นแรกในอเมริกา ส่วนใหญ่จะทำงานด้วยความรู้และทักษะในระดับสูงเช่นแพทย์ ทนาย ฯลฯ ขณะที่บรรพบุรุษรุ่นแรกทำงานเกียวกับการทอผ้า ธุรกิจเสื้อผ้า ซึ่งใช้ความวิริยะอย่างมาก)
  • การนับเลขของจีน (ของไทยเราอาจมีส่วนคล้าย) นั้นตรงไปตรงมา เรียบง่าย เมื่อเทียบกับการนับเลขด้วยภาษาอังกฤษ (รวมไปถึงการคิดเรื่องเศษส่วน) ทำให้เกิดความได้เปรียบในการเรียนรู่้คณิตศาสตร์ในวัยเด็ก เมื่อรวมกับความวิริยะอุตสาหของชาวเอเชียจากบรรพบุรุษชาวนา อธิบายว่าทำไม โดยเฉลี่ยเด็กเอเชียจึงเก่งคณิตศาสตร์มากกว่าเด็กฝรั่ง
  • เบื้องหลังของความสำเร็จแทบทุกรูปแบบนั้น มี “ความวิริยะอย่างยิ่งยวด” ผนวกกับ “โอกาส” เสมอ

ที่เน้นคำว่า “โอกาส” บ่อยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องโชคมากไปกว่าการใช้ “ความพร้อม” ในการแสวงหาโอกาสนะครับ

รัฐบาลชุดนี้ (อภิสิทธิ์) ได้รับโอกาสจาก “วาสนา” หาใช่ “ความพร้อม” ในการแสวงหาโอกาส เรื่องจึงเป็นไปในอย่างนี้เห็น 😀

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.