อันเนื่องมาจาก Little Buddha (1994) และ Urbanized (2011)

เป็นหนังสองเรื่องจากสี่เรื่องที่ได้ดูในเดือนนี้ อันที่จริงยังมีหนังไทยอย่างรองต๊ะแล่บแปร๊บ (1992) และ Gladiator (2000) ที่เคยดูตอนเด็กและมาดูซ้ำใหม่อีกครั้งด้วย

Little Buddha (1994) ภาพจาก Wikimedia Little Buddha (1994) ภาพจาก Wikimedia

ที่เลือก Little Buddha มาเพราะประทับใจในทีมผู้ผลิตและผู้กำกับที่ยกมาจากหนังเรื่อง The Last Emperor (1987) แต่การณ์กลับไม่เป็นไปตามคาดเอาไว้ จากการวิเคราะห์อย่างตื้นเขินของผู้เขียน พบว่ามันมีความเป็นไปได้มากที่ความสำเร็จของหนัง The Last Emperor ทำให้ทีมผู้สร้างอยากสร้างกำไรอันหอมหวานจากความ Exotic ของตะวันออกอีก โดยเลือกเอาศาสดาคนสำคัญคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากประมาณว่าเป็นอันดับสามของโลกมาใช้เป็นธีมเรื่อง

ไม่แน่ใจนักว่าก่อนปี 1994 เคยมีหนังเกี่ยวกับจีซัสหรือเปล่าแต่ภายหลังนั้นมี และถ้าถามว่าทำไมไม่ทำหนังเกี่ยวกับมูฮัมหมัดที่น่าจะมีอิทธิพลสูงกว่าสิทธัตถะ โคตม (ในแง่ของปริมาณสาวก) ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เราพอคาดเดากันได้จากวัยวุฒิที่ผ่านโลกมาระดับหนึ่ง

ตัวเรื่องเกี่ยวกับสิทธัตถะนั้น ลอกแบบมาจากนิทานที่เราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เล็ก ก็แสดงว่าเนื้อเรื่องนั้นตรงกันหมด ไม่มีที่ใดแตกต่างจากที่ใด แต่จุดที่ทำให้รู้สึกแปลกๆ ไปบ้าง เพราะว่าในหนังนั้นสร้างเรื่องราวในสิ่งแวดล้อมแบบอินเดียคือออกแนวแขก ขณะที่ภาพที่ผู้เขียนจินตนาการถึงสิทธัตถะและพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีภาพที่เป็นแขกแบบนั้น (แม้จะรู้ว่าเรื่องราวเกิดที่เนปาล-อินเดียก็ตาม) เรื่องนี้อาจเป็นความลำเอียงทางวัฒนธรรม (Cultural Bias) ทั่วๆ ไป เพราะผู้เขียนไม่เคยอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบที่แสดงในหนัง แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อผู้เขียนคือการที่นักแสดงนำอย่างคีอานู รีฟ ที่รับบทสิทธัตถะนั้น ผู้เขียนนึกถึงนาธาน โอมาน เพราะเหมือนกันมาก มีความเป็นไปได้อย่างว่าคุณนาธานได้ดูหนังเรื่องนี้ แล้วเกิดภาพบางอย่างว่าตัวเองจะได้เล่นหนังฮอลิวูดเรื่อง Prince of Napal ตามที่เขาสร้างเรื่องเอาไว้หลายปีก่อน

ดูเหมือนผู้สร้างหนังเรื่องนี้จะรู้ดีว่าหากทำหนังตามนิทานพระพุทธเจ้าทั้งหมด ก็อาจทำให้คนดูเบื่อ จึงสร้างเรื่องคู่ขนานเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิดของพระธิเบตที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ภูฏาน และไปตามหาร่างที่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดที่อเมริกา (การผูกเรื่องแบบนี้ก็ชัดเจนว่าตลาดใหญ่เขาอยู่ที่ไหน) ผู้เขียนพบว่าเรื่องคู่ขนานนี้ทำหน้าที่ได้ดีมาก เพราะผู้เขียนดูส่วนที่เป็นนิทานพระพุทธเจ้าด้วยความเบื่อหน่าย โดยเฉพาะช่วงที่ออกไปค้นหาความจริงในชีวิต แต่ช่วงที่ยังเป็นเจ้าชายอยู่ทำได้น่าสนใจมาก เพราะผู้เขียนไม่เคย Visualize ภาพที่ชัดเจนของวังแบบอินเดียสมัยก่อน ว่าเป็นเช่นไร ฉากที่ Exotic มากคือฉากที่ผู้คนนอนหลับกันเกลื่อนกลาดพื้นวังทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง ซึ่งเอามาตรฐานสมัยนี้มาวัดคงเป็นอะไรที่ดิบเถื่อนเอามาก

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไฮไลท์ของเรื่องนี้สำหรับผู้เขียนคือตัวละครอย่างเด็กๆ 3 คน ที่เป็นเด็กฝรั่ง 1 แขก 2 ที่น่ารักเอามากๆ โดยเฉพาะตอนที่พวกเขาเล่นด้วยกัน และองค์ลามะที่เป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ ผู้เขียนระลึกได้ว่าเขารับบทเป็นผู้คุมคุกในหนัง The Last Emperor ซึ่งเป็นบทที่โดดเด่นมากทางหนึ่ง ด้วยการแสดงที่เป๊ะ ภาษาอังกฤษระดับเป๊ะมาก ไปค้นประวัติดูจึงพบว่าเขาเรียนด้านภาษาที่ชิงหัว ผ่านชีวิตจริงช่วงที่จีนมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นฉากสะเทือนใจเล็กๆ ในหนังเรื่องนั้นด้วย ปัจจุบันเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2003 ขอไว้อาลัยมา ณ ที่นี่ด้วยครับ

ในอีกด้านที่ประทับใจมากเช่นกันคือฉากของประเทศภูฏานและเนปาล ซึ่งแน่นอนว่าในปี 1994 ก็ยังไม่มีอะไรเจริญ 2012 ก็ยังไม่แน่ใจนัก แต่มันมีความ Exotic ที่เชื้อชวนให้ผู้เขียนอยากไปสัมผัสประเทศเหล่านั้นในชีวิต (คาดว่าคงจะเร็วๆ นี้) มีทั้งความสวยงามของบ้านเมืองและการดำรงชีพที่ไม่ถูกกลืนกินโดย Globalization แต่ในวันนี้ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่ง เพราะเนปาลมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เป็นระบอบสาธารณรัฐ

ในความเห็นผู้เขียน หนังเรื่องนี้ดูได้เรื่อยๆ มีความผิดหวังเจือปนนิดหน่อย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเพลง ที่ยังเป็น Ryoichi Sakamoto คนเดิมจาก The Last Emperor ที่ไม่ได้ช่วยให้โปรเจกต์นี้โดดเด่นขึ้นมามากนัก คืออยู่ในระดับพอฟังได้ อาจเพราะแกนหลักของหนังคือเนื้อเรื่อง ถ้ามันจบเพลงก็กร่อย

====================== Urbanized (2011)

ทีนี้มายังหนังสารคดีอีกเรื่อง Urbanized (2011) ที่เกี่ยวกับการออกแบบจัดวางผังเมือง ผู้เขียนเป็นแฟนหนังสารคดีของ Gary Hustwit ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ เพราะทั้ง 3 เรื่องที่เขาทำ มันเกี่ยวกับการออกแบบหมดเลย ตั้งแต่ Helvetica (2007) ไปจนถึง Objectified (2009) ซึ่งรูปแบบหนังสารคดี มันก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ตื่นเต้น นอกจากเป็นข้อมูล (Informative) และแรงบันดาลใจ (Inspiration) อย่างไรก็ดี Urbanized กลับมีอารมณ์ดราม่าเล็กๆ ในเหตุการณ์ต่อต้านโครงการ Stuttgart 21 ที่เยอรมันนีดังจะเล่าในย่อหน้าล่างๆ ครับ

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่เราสรุปได้ว่าแทบจะไม่มีการจัดวางผังเมือง หรือออกแบบเมืองให้คนอยู่ได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลย ด้วยภาพที่ประจักษ์ชัดขนาดนั้น แต่โลกทัศน์ของผู้เขียนก็พอรู้ว่าในอีกหลายๆ ที่นั้นไม่เหมือนกรุงเทพ Urbanized เป็นหนังที่เดินเรื่องผ่านเมืองต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่มุมไบ จนถึงเซี่ยงไฮ้ จนถึงริโอ เดอจานีโร หนังไม่ได้ฉายภาพเมืองสวยๆ ที่วางผังมาอย่างดีอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับไปสัมภาษณ์กลุ่มคนที่มีส่วนในการสร้าง Impact บางอย่างจากสิ่งที่ต้องการการแก้ปัญหาก่อนหน้า เช่นการแก้ปัญหาบ้านแพงคนจนอยู่สลัมในชิลี ด้วยโครงการบ้านเอื้ออาทร (เรียกแบบไทยเพื่อความเข้าใจง่าย) พวกเขามีปัญหาอะไร และวิธีคิดในการแก้ปัญหานั้นด้วยอะไร เช่นแม้จะเป็นบ้านเอื้ออาทร แต่พวกเขาก็อยากให้ทุกบ้านมีอ่างอาบน้ำ และยอมไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น เพราะพวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่าแก๊ซ (ตรงนี้ผมไม่แน่ใจนักระหว่างค่าน้ำสำหรับเติมอ่างให้เต็ม กับค่าแก๊ซสำหรับทำน้ำอุ่นอย่างไหนแพงกว่ากัน หรืออาจเป็นเรื่องความอยากมีอ่างอาบน้ำในบ้าน เพื่อให้ชีวิตเติมเต็ม) ไปจนถึงการสร้างเลนจักรยานในโคเปนเฮเก้น การวางระบบเลนสำหรับรถบัสอย่างเดียวในชิลี (บ้านเรามีโครงการที่คล้ายกันคือ BRT) การสร้างเมืองของหน่วยงานรัฐโดยแยกออกมาจากเมืองหลวงเดิมอย่างบราซิเลีย (วิธีการนี้มาเลย์นำมาใช้สร้างเมืองพุทราจายาที่มีความสวยงามเหมาะสำหรับรองรับแขกบ้านแขกเมืองมากไม่แพ้กัน) ฯลฯ ตัวอย่างมีมากกว่านี้ยกมาเพียงส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าหนังเรื่องนี้มีเรื่องราวแบบไหน

หนังแบบนี้ ถ้าไม่ได้ชอบสารคดีจริงๆ คงดูยาก เพราะไม่ค่อยสนุกดังที่กล่าวมา ผู้เขียนใช้เวลาดูวันละเมือง ไปเรื่อยๆ ก็กินเวลากว่า 2 สัปดาห์ได้ แต่ Urbanized ก็มีจุดดราม่าเล็กๆ คือเหตุการณ์ต่อต้านโครงการ Stuttgart 21 ซึ่งเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงที่จะตัดผ่านใต้เมืองสตุทการ์ท แต่การจะทำแบบนั้น จะต้องรื้ออาคารสถานที่เดิม ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่เช่นสถานีรถไฟของเมือง ไปจนถึงสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก เพราะมีคนรุ่นเก่ามาเล่าว่าตอนหลังสงคราม แม้บ้านเมืองจะพังพินาจ แต่ชาวเมืองตัดสินใจไม่ล้มต้นไม้นี้เพื่อทำเป็นฟืนเอาไว้ใช้คลายหนาว และวันนี้มันก็ใหญ่มากจริงๆ ชาวเมืองมีการนำผ้าแพรมาผูกเพื่อต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างด้วย (วิธีคิดแตกต่างจากบ้านเราในแง่ของการผูกต้นไม้)

แต่โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ดูหอมหวานนี้ ไม่ใช่ทุกคนต้องการมัน อาจเพราะเมืองสตุทการ์ทเป็นเพียงเมืองผ่าน ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ฤาเป็นเพราะพวกเขาอยากเก็บตึกเก่าๆ และต้นไม้ใหญ่มากกว่า ชาวเมืองสตุทการ์ทกว่า 5 หมื่นคนมาชุมนุมประท้วงทั้งที่โครงการนี้อนุมัติให้ผ่านโดยรัฐบาลไปแล้ว (ผู้เขียนไม่เข้าใจระบบการเมืองของเยอรมันเลย หนังพยายามจะอธิบายสั้นๆ ว่ามันมีการแบ่งการปกครองอย่างไร ซึ่งมีแต่คำเฉพาะที่ไม่คุ้นเคยเท่าไร จึงขอเรียกผู้มีอำนาจว่ารัฐบาลเพื่อความง่าย) วันสุดท้ายที่รถจะมาโค่นต้นไม้ใหญ่ ผู้คนเรือนหมื่น มานั่งกองรวมๆ กันในสวนสาธารณะแห่งนั้นเพื่อปกป้องต้นไม้ มีวิธีการประท้วงที่น่ารักมาก (เหมือนเชียร์บอล) เช่นตะโกนโดยพร้อมเพรียงกันอย่างเป็นจังหวะสนุกสนานว่า “พวกเรามาอย่างสงบ แล้วพวกคุณมาทำอะไร?” พวกเขาตะโกนถามตำรวจที่มากันแทบจะหมดโรงพักพร้อมด้วยโล่ กระบอง สเปรย์พริกไทย จัดเต็มยศ อารมณ์นี้บอกตามตรงว่าผู้เขียนนึกถึงเหตุการณ์ที่ราชดำเนินอย่างช่วยไม่ได้ ต่างกันที่เป็นทหารไทยไม่ใช่ตำรวจและขนอาวุธสงครามไม่ใช่กระบองและโล่

งานนี้ใครชนะ คงพอเดากันได้ เพราะอีกฝ่ายมาด้วยใจและมือเปล่า แต่ฉากที่ผู้เขียนมีอารมณ์ร่วมไปด้วยคือฉากที่ต้นไม้ใหญ่ถูกล้ม และเด็กผู้หญิงที่อายุจะไม่ทันไร้เดียงสาใดๆ ร้องไห้หลั่งน้ำตาให้มันราวกับว่าต้นไม้ใหญ่นั้นคือชีวิตคนสำคัญของครอบครัว

เรื่องนี้คงอธิบายง่ายๆ ว่าเป็นวิธีทางของประชาธิปไตย เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งไม่อยากได้รถไฟความเร็วสูง หากแต่เป็นต้นไม้ต้นเดิมให้มันอยู่ที่เดิมตรงนั้น ขณะที่รัฐบาลที่คนส่วนใหญ่เลือกมาอนุมัติโครงการนี้ผ่าน และการณ์กลับกลายเป็นว่าหลังจากปราบม็อบสำเร็จแล้ว พรรคที่ใช้อำนาจนี้ กลับพ่ายแพ้ให้กับพรรคเขียว (Green) ในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว

ประชาธิปไตยยังพอมีที่ทางของมัน อย่างน้อยมันก็ยังช่วยให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจได้ทุกอย่างนัก (อย่างน้อยก็ไม่ตลอดเวลา) การที่เมืองจะมีทิศทางเป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องของเมือง หากแต่มันส่งผลต่อวิธีการใช้ชีวิตของเราเลยทีเดียว อย่างเช่นเราอยากจะขี่จักรยานในเลนเฉพาะแล้วมีรถยนต์มาจอดเพื่อกันเลนให้เราขี่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เราอยากเดินเล่นอย่างสบายอารมร์บนฟุตบาทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีคนมาทำกิจกรรมอื่นๆ ในนั้น ไม่ใช่ร้านค้าเต็มฟุตบาทหรือไม่ ว่าแต่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือยังน่ะ? คำตอบนั้นลอยในสายลม…

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.