บริเวณซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ความที่รู้จักกันถึงขั้นเคยร่วมหัวจมท้ายในห้วงแห่งความสุขและทุกข์ จึงทำให้ผมทำใจได้ยากกับการสูญเสียครั้งนี้ น้ำตาที่รินไหล หัวใจที่ห่อเหี่ยวหดหู่ ฯลฯ ความรู้สึกทำนองนี้จู่โจมรุมเร้าผมอยู่เรื่อยๆ
แม้ร่างของ “เฌอ” จะสูญสลายไปแล้ว แต่ภาพความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับเขายังคงอยู่ แจ่มชัด ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสักครู่นี่เอง
งานศพลูก “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” หรือ “พี่เหน่ง” ที่ผมเรียก ตั้งชื่องานศพลูกว่า “ส่งเฌอกลับดาวดวงอื่น”
งานเริ่มขึ้นตั้งแต่บ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม มีการอ่านบทกวี, เล่นดนตรี ฯลฯ ไว้อาลัย
ก่อนนั้น หลังการสวดพระอภิธรรมในแต่ละวัน ผม เพื่อนๆ และพ่อของผู้เสียชีวิต เมื่อช่วยกันเก็บข้าวของเสร็จเรียบร้อยแล้วจะพากันมานั่งกินข้าวที่ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่ง ใช้เวลานานในวงอาหารค่ำ เราคุยกันหลายเรื่อง และแน่นอน
หนึ่งในนั้นคือเรื่องการสูญเสีย “น้องเฌอ”
“พี่เหน่ง” หรือ “พ่อของน้องเฌอ” เป็นคนใจเย็น ผมเห็นความเข้มแข็งในดวงตาของเขา เห็นความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นในท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ เขาพยายามจะไม่ทำให้คนอื่นโศกเศร้า เข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เข้าใจว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือแม้แต่กระทั่งเข้าใจกับคนที่พรากลมหายใจของลูกชายเขา
ตอนหนึ่งของความรู้สึก…
เขาบรรยายไว้ในเฟสบุ๊กว่า สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี บุตรคนเดียวของสุมาพรและพันธ์ศักดิ์ (peter sri) เสียชีวิตจากเหตุปะทะที่บริเวณซอยรางน้ำ เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คำพูดสุดท้ายของเฌอคืออะไรไม่มีใครทราบ แต่ขออนุญาตพูดแทนว่า “พี่ทหารครับ ผมเข้าใจพี่ ผมอโหสิ เราต่างเป็นเหยื่อด้วยกันทุกคนครับ” หากเฌอทำการล่วงเกินหรือจาบจ้วงท่านผู้ใดมาก่อน มารดาและบิดา ขออโหสิกรรมมา ณ ที่นี้ ควรมิควรแล้วแต่กรุณา
และอีกตอนกับความเข้มแข็ง
เขาบรรยายว่า “เป็นไปได้อย่างมากว่า “เฌอ” เป็น “เด็กชายจากดาวอื่น” และหาวิธีกลับบ้านอยู่”
งานศพของ “เฌอ” จึงมีชื่อว่า “ส่งเฌอกลับดาวดวงอื่น”
เป็นงานศพที่มีพิธีการแปลกประหลาดไม่เหมือนงานศพทั่วๆ ไป เพราะมีทั้งนักดนตรี, นักเขียน, กวี, ช่างภาพ, ผู้กำกับภาพยนต์สั้น มาแสดงงานหรือมาทำอะไรต่อมิอะไรไม่รู้เต็มไปหมด
ในวงอาหารค่ำหลังการสวดพระอภิธรรมวันหนึ่ง พี่เหน่งเคยเล่าให้ผมฟังถึงการค้นหาลูกชาย หลังจากได้ทราบข่าวจากพลเมืองดีรายหนึ่งว่าลูกถูกยิง
เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี อย่างคนเข้าใจ แม้จะเจอกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่วุ่นวาย ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นอาจตวาดใส่โวยวายไปแล้ว
กับเจ้าของวินมอเตอร์ไซค์ที่โก่งราคาสูงและพูดจาขู่ขวัญขณะที่เขาไหว้วานให้ไปส่งที่ซอยวัดตะพานขณะยิงกันอยู่
กับคนที่พบศพลูกและเจ้าหน้าที่ศูนย์นเรนทรที่ทะเลาะกัน โยนความผิดใส่กันว่าอีกฝ่ายเอาโทรศัพท์ของลูกเขาไป เขาใจเย็นห้ามมวย ทั้งยังบอกว่ามาตามหาลูก ไม่ได้มาตามหาโทรศัพท์
กับความยุ่งยากต่างๆ ในการรับศพ ซึ่งวุ่นวายน่าปวดหัว เป็นคนอื่นคงสติแตก
หรือแม้แต่กับบางกลุ่มบางคนที่จะใช้ “การเสียชีวิต” ของลูกชายแกหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
บางคนบอก “อยากนำเรื่องราวของลูกไปเล่าในเวทีชุมนุม และจะเรี่ยไรเงินช่วยเหลือ”
พี่เหน่งตอบ “ถ้าเรื่องราวของลูกผมจะทำให้คนหยุดฆ่ากันได้ก็ยินดี... แต่เรื่องเรี่ยไรเงิน ผมคิดว่าตัวเองไม่สะดวก”
อีกครั้งกับมนุษย์ผู้เห็นใจมนุษย์อย่าง ตอนหนึ่งในการกล่าวไว้อาลัยก่อนที่ร่างของลูกชายตนเองจะมอดไหม้
เขาเล่าไว้…
“มีคนถามผมว่า ระหว่างอดีตนายกฯทักษิณกับนายกฯอภิสิทธิ์ ใครดีกว่ากัน?
“นานมาแล้ว เมื่อครั้งที่ทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตอนนั้นบริษัทจัดแสดงงานที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ทักษิณซึ่งขณะกำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังธรรมได้เดินทางไปร่วมงานพร้อมลูกชาย และจะเข้าชมการจัดแสดง โดยยืนยันจะขอต่อแถวเข้าชมร่วมกับประชาชนทั่วไป ทั้งที่ขอร้องให้เข้าห้องวีไอพี คุณทักษิณบอกว่า ไม่เป็นไร ผมเป็นคนธรรมดา ขอต่อแถวดีกว่า
“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคุณทักษิณน่ารักดี แต่ในฐานะนักนายกรัฐมนตรี...”
“ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี เช่นกัน ผมไปดูคอนเสิร์ตของวงโคลเพลย์ วงบริตป๊อป จากเกาะอังกฤษ ระหว่างที่ปวดฉี่เข้าห้องน้ำ คุณอภิสิทธิ์ก็ตามเข้ามา ทั้งที่ห้องน้ำโล่งมากๆ ไม่มีคน แต่คุณอภิสิทธ์ก็มาฉี่ใกล้ๆ และพยายามชวนผมพูดคุยอย่างมีอัธยาศัยไมตรี เขาถามผมว่า ดูคอนเสิร์ตแล้วเป็นไงบ้าง ผมตอบว่า สนุกดี
“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคุณอภิสิทธ์น่ารักดี แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี…”
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายแบบนี้
ผมคิดว่า ประเทศของเรา โลกของเรา ต้องการคนอย่างเขา
“มนุษย์ธรรมดาผู้หนึ่ง – “พี่เหน่ง” พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ”
หน้า 20 คอลัมน์ อาทิตย์เที่ยงวัน
โดย เชตวัน เตือประโคน
วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11761 มติชนรายวัน