แด่ Steve Jobs: Apple นั้นดั่งเมล็ดพันธุ์

โดยปกติแล้ว ผู้เขียนมองเห็นความตายเป็นเหมือนดังทางผ่าน “Passage” ที่ทุกคนต้องเจอ โดยทำใจไว้แล้วว่าวันนึงมันอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว คนที่เราใส่ใจ หรือแม้แต่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง แต่ถึงกระนั้นแล้ว ความตาย มันเป็นทางสุดท้ายของชีวิตคน เราอาจเกิดอาการเศร้ากับคนที่เราแคร์ในระดับที่แตกต่างกัน แม้บางคนที่เราไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่เคยเจอแม้แต่ตัวจริงก็ตาม

ผู้เขียนลังเลใจอยู่นาน ว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ นั่นเพราะผู้เขียนกับสตีฟ ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวจนทำให้เกิดการลงมือเขียนอะไรบางอย่างเพื่ออุทิศแด่ใครสักคน ยังมีเหตุผลที่สตีฟเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกให้ความสนใจ การตายของเขาก่อให้เกิดการทวีตถึงนับสิบล้านทวีตในวันเดียว แม้แต่ใน Instagram ภาพของสตีฟยังติดอยู่ใน Popular Page ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนังสือพิมพ์ไทยลงหน้าหนึ่งในทุกฉบับ ข้อเขียน หรือคำอาลัยจากคนใกล้ตัวจึงมักจะถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาก่อน

แต่ความเสียใจต่อการจากไปของเขาเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนอาจไม่มีน้ำตาซักหยด เช่นเดียวกับตอนที่ญาติผู้ใหญ่คนแล้วคนเล่าจากไป แต่เรื่องราวของสตีฟและผลผลิตของเขาวนเวียนอยู่ในหัว ไม่อาจหยุดความคิดได้เลย และไม่นับว่าเครื่องมือที่กำลังใช้เขียนข้อความนี้อยู่ ก็คือหนึ่งในผลผลิตของเขาอีกด้วย

ข้อเขียนนี้ตั้งใจเขียนเป็นข้อเขียนสั้นๆ เพื่อให้กระชับตามแนวทางของสตีฟ แต่มีภาคผนวกถึง 2 หัวข้อ เผื่อว่าจะชอบอ่านอะไรที่มันเป็นเวิ่นเว้อ (เรียกให้ดูดีว่าโวหาร) ตามแนวทางของผู้เขียนครับ

Steve Jobs

Apple ดั่งเมล็ดพันธุ์

สตีฟและแอพเปิ้ล ไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทที่เปลี่ยนโลกคอมพิวเตอร์และมือถือแต่เพียงเท่านั้น (จริงๆ มีผลไปยังวงการเพลงและภาพยนตร์อีกด้วย) แต่ยัง “สร้างไร่ และหว่านเมล็ดพันธุ์” ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ ทั้งที่อยู่ภายใต้ร่มเงาและนอกร่มเงา Apple ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ เว็บ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ (Tangible/Intangible) เช่น

  • markdown เขียน plaintext ให้ส่งออกเป็น html ง่ายๆ
  • ruby on rails Web Application Platform ที่ช่วยให้เราสร้าง Web App ได้เร็วมากๆ
  • WordPress ในบรรดา Blogging Platform ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นระบบจัดทำเนื้อหาทำรายไหนที่ทำ User Experience ได้ดีเหมือน WordPress เลย

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือสิ่งที่โดดเด่นที่ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้ในทุกวัน ขณะที่ยังมี App หรือ Web App อีกจำนวนมากที่ปรับปรุงตามแนวทางที่ให้ User Experience ดีๆ แบบแนวทางของ Apple มันคือเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่พอเมื่อแตกลูกหลานออกไปแล้ว คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือผู้ใช้ เมื่อเขาเรียนรู้ว่าแบบไหนคือประสบการณ์ใช้ที่ดีแล้ว มันคงยากที่จะกลับไปใช้อะไรที่ยุ่งยาก วุ่นวายเหมือนเดิมอีก

ในฐานะที่ชอบแนวคิดการปรับปรุงประสบการณ์ใช้งานให้ดีและไม่ต้องการให้ Apple ผูกขาดตลาดแต่เพียงรายเดียว ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าบรรดาคู่แข่งขันของ Apple จะทำงานหนักในการทำความเข้าใจ เพื่อพัฒนาให้ดีกว่าหรืออย่างน้อยคือทัดเทียมกัน และที่สุดแล้วผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือพวกเราทุกคนนั่นเอง

ภาคผนวก 1 เมื่อได้รู้จัก Apple

ด้วยการผู้เขียนเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาโดยตรง และการที่ตอนนั้นระบบปฏิบัติการ Macintosh ยังไม่ Dominate ตลาด อาจเพราะราคาที่มันแพงเกินเอื้อม ไปจนถึงการที่สภาพแวดล้อมที่ยังไม่มีใครใช้สักคน ไม่รู้จะได้สัมผัสได้อย่างไร ผู้เขียนรู้สึกว่าการใช้หรือการทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows นั่นก็ให้คำตอบที่เพียงพอแล้ว มองไม่เห็น หรือไม่เคยคิดว่าเราจะปรับปรุงการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ดีกว่านี้ได้อย่างไรและไม่เคยคิดว่าเราจำเป็นต้องจ่ายเงินที่มากกว่าเพื่อใช้งาน Mac OSX ในตอนนั้นฮาร์ดแวร์ของ Apple มีราคาแพงกว่าคู่แข่งประมาณ 2 เท่า และยังเทียบกันไม่ได้ตรงๆ เพราะใช้ CPU คนละสถาปัตยกรรม

ขณะที่เริ่มรู้จักลูกค้าที่ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Apple ทาง Apple เองก็แอบดึงความสนใจของผู้เขียนนับตั้งแต่ซอฟต์แวร์ Quicktime Player (ใช้สำหรับชมตัวอย่างภาพชม) ไปจนถึง iTunes (ใช้สำหรับฟังและจัดการเพลงทั้งหมดที่เรามีในเครื่อง) ผู้่เขียนตกหลุมพลางการตลาดด้วยการซื้อเครื่อง iPod Shuffle ที่ไม่มีหน้าจอใดๆ เน้นการฟังเพลงและควบคุมผ่านปุ่ม ในราคา 5300 บาท (ราคาต่างประเทศ $99 แต่ตอนนั้นดอลล่ายังสูงถึง 40 บาท) ปีต่อมา ซื้อ iPod Nano รุ่นแรก และไม่นานหลังจากนั้นจึงซื้อคอมพิวเตอร์แลปท๊อปที่เป็นระบบปฏิบัติการ Mac OSX เป็นเครื่องแรก นอกจากราคาที่ถูกลงกว่าแต่ก่อนมากแล้ว ผู้เขียนเพียงอยากเห็นต้นตอของอิทธิพลทางกราฟฟิก ที่ซอฟต์แวร์ดนตรีหลายๆ ตัวกล่าวถึงบ่อยๆ ว่าเป็น User Interface แบบ Mac OS

การใช้งานแรกๆ ก็แยกไม่ออกหรอกครับ การใช้งานยังเหมือน Windows คือเน้นการเปิด Application เพื่อขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว ก็ถูกวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง Mac OSX สอนอะไรบางอย่างกับเรา ถึงกระนั้น ผู้เขียนยังรู้สึกอคติว่านี่เป็นการดึงให้เรา “ยึดติด” เป็นการล่อลวงให้เรากลับไปใช้คอมพิวเตอร์ในระบบอื่นๆ ไม่ได้อีกต่อไป วิธีคิดที่อยู่เบื้องเลี้ยง Mac OS คือการโฟกัสที่ผู้ใช้งาน “ปรับปรุงการใช้งานให้ไหลลื่นที่สุด เชื่อมโยงกันที่สุด และใช้งานง่ายระดับที่คุณยายก็ใช้ได้”

ยิ่งใช้ก็ยิ่งค้นพบ ยิ่งรู้ก็ยิ่งชอบ เกี่ยวกับการทำงานดนตรีแล้ว ไม่มีระบบไหนที่ทำงานได้เมื่อแรกซื้อมาเลยนอกจาก Mac ด้วยเพราะมีซอฟต์แวร์ GarageBand ที่สามารถอัดเพลงหรือทำเพลงในเบื้องต้นได้แล้ว ตัวระบบปฏิบัติการยังมี Low Level Audio Driver/API อย่าง CoreAudio จนถึงตอนนี้หากมีใครมาขอให้แนะนำคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานดนตรี ผู้เขียนจะแนะนำระบบเดียวคือ Mac ด้วยเหตุผลเริ่มต้นสองข้อ ยังมีเหตุผลตามมาอีกนานานับประการที่เราจะค้นพบมันในระหว่างการใช้งานด้วยตัวเอง

ภาคผนวก 2 อิทธิพลของสตีฟต่อผู้เขียน

ในบรรดาศิลปิน นักดนตรี นักการเมือง นักวิทย์ นักประดิษฐ์ Steve Jobs คือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดผู้เขียนมากที่สุด

เขาไม่เพียงแต่พูดน้อยและตรงประเดน แต่วิธีการสร้างประโยคของเขามันกระชับและกระแทกใจความสำคัญมาก แม้ว่าหลายครั้งเราอาจต้องแปลคำพูดออกมาอีกชั้น เนื่องจากมีการซ่อนนัยยะภายในรูปประโยคอีกทีหนึ่งก่อน

สตีฟบอกว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเฉกเช่นการลากเส้นต่อจุด ซึ่งก็จริง หลายครั้งที่ผู้เขียนพยายามหาแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพื่อที่จะพบว่ามันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งที่เราทำอยู่ล้วนมีคนทำมาก่อนในทางหนึ่งทางใดอยู่แล้ว

จากนั้นมา ผู้เขียนก็เพียงสร้างสรรค์งานด้วยการเชื่อมโยงจุดเข้าด้วยกัน เพียงเท่านั้นเราก็ได้งานใหม่ๆ ได้อย่างไม่ยากนัก ตั้งแต่การถ่ายภาพ เขียนบทความ แต่งเพลง ไปจนถึงการพัฒนาเว็บ แม้ว่ามันอาจจะยังไม่ใช่ผลงานระดับปรากฏการณ์ แต่มันคือการเดินไปข้างหน้าเพื่อหวังว่าจะไปสู่จุดนั้น มากกว่าการมองหาแนวคิดที่ไม่เคยลากเส้นมาจากจุดไหน แล้วไม่เคยวาดรูปอะไรเสร็จเสียที ก็ไม่ใช่ว่าสตีฟและแอพเปิ้ล จะทำอะไรที่สมบูรณ์แบบหรือไม่เคยล้มเหลว หรือเป็นอะไรที่ใหม่จริงๆ โดยไม่มีพื้นฐานที่ใหม่สดจริงๆ เหมือนกัน พวกเขาสร้างนวัตกรรมจากการลากเส้นต่อจุดที่มีอยู่ ตั้งเป้าหมาย โฟกัสและลดทอนให้เหลือแต่สิ่งจำเป็นที่สุด ส่วนใหญ่จึงออกมาดีภายใต้กรอบที่พวกเขาวางไว้ก่อนแล้ว

สตีฟ เน้นการปรับตัวมาก เขาบอกว่าองค์กรใหญ่ ถ้าไม่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย ก็จะล่มสลายไปในไม่ช้า ลองเทียบกรณีศึกษาขององค์กรต่างๆ ที่แพ้พ่ายไปโดยไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในระดับมหภาค (ล่มสลายด้วยการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน) แม้ว่าผู้เขียนไม่เคยคิดฝันว่าจะสร้างองค์กรขนาดใหญ่ มีสาขาอยู่ทุกมุมโลก แต่ก็จะพยายามนำพาตัวเองและองค์กรก้าวไปให้อยู่ในขอบของการเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยให้ทัน และไม่ตกขอบอย่างที่องค์กรใหญ่ๆ หลายที่เป็นกัน

สตีฟ เน้นการจ้างบุคลากรที่เก่งกว่าเขา บุคคลระดับ A ต้องจ้างคน A+ สตีฟ เป็นคนเก่งมากโดยไม่ต้องสงสัย แต่ในประวัติเขา เขาไม่ได้ลงมือทำงานในรายละเอียด เพราะสิ่งเหล่านั้นมีคนที่เก่งกว่าในรายละเอียดเหล่านั้นทำให้ เขาเพียงมองเห็นอะไรบางอย่าง วางแนวทาง และคอยตรวจทานสิ่งที่ทีมงานของเขาทำ ถ้าคุณอ่านบทสัมภาษณ์หรือดูการสาธิตผลิตภัณฑ์ของเขา จะเห็นว่าเขาเข้าใจผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาดีมาก และมีวิสัยทัศน์ก้าวล้ำไปข้างหน้า สิ่งที่เขาทำนายแม้ไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ถูกต้องสูงมาก และมันเป็นการวางกรอบแนวทางของ Apple และผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างชัดเจน

ขณะที่หากเราจ้างทีมงานที่เก่งน้อยกว่า ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ มันจะเป็นการสะสมคนอ่อนแอด้อยประสิทธิภาพ (Bozo) ในองค์กร ยิ่งองค์กรมีโครงสร้าง Top-Down แบบลำดับชั้นมากๆ แล้ว ยิ่งเป็นการสะสมจะทำให้องค์กรมีแต่คนด้อยประสิทธิภาพ (Bozo Explosion) กลายเป็นองค์กรที่หน่วงเป็นระบบอำมาตยา (Bureucratic) แบบระบบราชการบ้านเรา

เป้าหมายของสตีฟคือการวางกระดิ่งไว้ในจักรวาล ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ากระดิ่งเล็กๆ ของเขาจะส่งเสียงดังขนาดไหนที่สุดขอบเอกภพ (เสียงไม่สามารถเดินทางได้ในสูญญากาศเนื่องจากไม่มีตัวกลาง) แต่มันดังเต็มสองรูหูที่ชานเมืองกรุงเทพ ประเทศไทย บางใหญ่ นนทบุรี

เขียนที่ บางใหญ่ นนทบุรี

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.