ช่วงนี้อ่านอะไรที่เกี่ยวข้องและรอบตัวสตีฟ จ๊อบค่อนข้างมาก อ่านบทเปรียบเทียบความคล้ายคลึงระหว่างเขากับเบนจามิน แฟรงคลิน
นึกอะไรได้เลยนำมาเขียนบันทึกไว้ที่นี่
ช่วงต้นของยุคไมโครคอมพิวเตอร์ วิสัยทัศน์ของบิล เกตส์ คือ “คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทุกโต๊ะทำงาน”
ขณะที่สตีฟ บอกว่า “คนเราจะมีไอเดียที่ต้องการแสดงออก (Expression) และคอมพิวเตอร์คือสื่อกลาง (Medium) ที่พวกเขาจะใช้แสดงออก” (จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Wired ปี 1996)
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสตีฟ มีไอเดียนี้ตั้งแต่เริ่มแรกเลยหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งเป็นภาพฉายออกมาจาก Statement ของเขาทั้งสอง มันสะท้อนออกมาจากรูปแบบและการนำเสนอบนซอฟต์แวร์ของพวกเขา มันชัดมาก
ช่วงที่เขาทำ Macintosh เครื่องแรก มีคนเคยถามเขาว่าทำไมจึงชอบใช้เวลากับเด็กๆ ในการสอนให้เขาใช้คอมพิวเตอร์ เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ขณะที่ผู้ใหญ่ถามว่า สิ่งนี้ใช้ทำอะไรได้บ้าง เด็กๆ จะถามว่า ตัวเขาจะทำอะไรกับมันได้บ้าง” ประโยคนี่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ “Computer as an expression medium” อย่างไม่ต้องสงสัย
ช่วงปี 2000 ขณะที่สตีฟมีวิสัยทัศน์ว่า “คอมพิวเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางทางดิจิตอลที่บ้าน” ผลก็เลยเกิดซอฟต์แวร์จัดการภาพ เพลง ตัดต่อภาพยนต์ในตัวเอง และกลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตามมาเปลี่ยนโลกอย่าง iPod/iPhone/iPad อันที่จริง Apple เคยทำกล้องดิจิตอลขายก่อนที่สตีฟกลับมาเป็น CEO ที่ Apple และตัดมันทิ้งไปหมด เนื่องจากต้องการโฟกัสกับ Mac จริงๆ ตอนนั้นกล้องมีรายละเอียดเพียง VGA น้อยกว่าที่ iPhone รุ่นแรกมีเสียอีก
ขณะที่บิล เกตต์ในยุค 2000 อาจรู้สึกอิ่มตัวจากการที่ Windows กินตลาดเรียบเกิน 90% เขาไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางคอมพิวเตอร์มากนัก คืออาจมีตามงานคอนเฟอเรนช์ แต่ไม่ได้เด่นชัดเป็น Statement ที่คนทั่วไปจดจำได้ และเขยิบไปแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าโลกคอมพิวเตอร์แทน เลยไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ครับ