จดหมายถึงตัวเอง ในวัย 80ปี

เขียนเมื่อวันที่ January 16, 2012 เวลา 1:42 AM ที่บ้านบางใหญ่ซิตี้ เสาธงหิน

สวัสดี Perthz จดหมายฉบับนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีข้อความแจ้งเตือนจากโปรแกรม Day One ซอฟต์แวร์สำหรับเขียนบันทึกประจำที่ฉันชอบมาก (ตัดสินจากยุคสมัย 2011) ที่นายเพิ่งได้มาเป็นของขวัญให้ตัวเองเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้เป็นข้อความเตือนสั้นๆ แต่ส่งผลกระทบต่อความนึกคิดมาก ข้อความเขียนว่า “Write a future letter to yourself” ฉันประทับใจมันมากจนต้องลงมือเขียนอะไรสักอย่างถึงนาย ส่วนตัวฉันเอง แม้จะกังวลเกี่ยวกับอนาคตอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีความคิดที่โรแมนติกมากพอจะเขียนจดหมายถึงนายแบบนี้มาก่อน ทั้งที่ตอนเช้าของวันนี้ ฉันพึ่งสนทนากับแม่ของเราเกี่ยวกับเรื่องทัศนคติในอนาคต ที่ว่าเมื่อตัวฉันแก่ตัวลงไป ฉันจะพยายามรักษาทัศนคติของตัวเองไว้ให้เหมือนตอนที่เรายังหนุ่มอยู่ได้หรือเปล่า มันเป็นความกังวลที่สนุกดี เวลาที่ฉันคิดถึงอนาคตเกี่ยวกับตัวนายและครอบครัว

อันที่จริงตัวฉันไม่ได้คาดหวังว่าจะมีอายุเท่ากับนายคือ 80 ปี เคยคิดประมาณไว้แค่เพียง 50 กลางๆ เท่ากับสตีฟ จ๊อบส์ อีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่นายนับถือ (ในแง่ของความฉลาดหลักแหลม) เหตุผลที่คิดแบบนั้นเพราะความแปรปรวนที่ฉันคาดไม่ถึง ฉันไม่รู้ว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนั้น ผ่านกระบวนการแปรรูปมาอย่างไรบ้าง เกษตรกรไปจนถึงผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยมากพอหรือไม่ อีกทางหนึ่งอาชีพและวิธีการใช้ชีวิตของฉันนั้นเสี่ยงต่อความเครียดและโรคภัยมากนัก ทำให้ไม่คาดหวังว่าจะมีอายุยืนในระดับนั้น

การเขียนจดหมายถึงนายในวัย 80 จึงถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยอย่างหนึ่ง ว่านายจะต้องมีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้น และมีพลังสมองที่ดีพอที่จะรับสารจากการแปลความจากตัวอักษรจากบทมาเป็นเรื่องราวได้ ซึ่งถึงวันนั้นนายอาจรู้สึกขันกับข้อความข้างต้น เพราะคนในวันนั้นอาจไม่สนใจ หรือไม่มีคำว่า “เอาฤกษ์เอาชัย” อยู่ในชีวิตประจำวันแล้วก็เป็นได้ และคนในยุคสมัยนายอาจไม่ใช้การอ่านข้อความจากตัวอักษร หากแต่เคลื่อนย้ายความคิดต่อความคิด (Thought Transfer) ด้วยวิธีการอื่นที่ตรงกว่า เช่นสื่อสารด้วยคลื่นสมองผ่านสื่อกลางหรือเครื่องมือที่ส่งผ่านถึงกันโดยตรง (Telepathy) ทำได้หรือไม่โปรดแจ้งกลับด้วย LoL

ตัวนายเองอาจมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นตัวเลขอายุ 80 ไม่ใช่ 60 หรือ 70 หรือ 90 หรือเลขอื่นใด? เดาความสงสัยถูกใช่ไหมล่ะ เพราะไม่มีใครรู้จักนายดีเท่าฉันอีกแล้วล่ะ ที่ไม่ใช่ 60 เพราะคิดว่ายังไม่แก่พอ พอล แมคคาร์ทนีย์ นักแต่งเพลงชื่อดังที่โด่งดังในยุคสมัยพ่อของเรายังหนุ่ม เคยแต่งเพลงเกี่ยวกับตัวเองว่าจะเป็นอย่างไรตอนอายุ 60 เอาไว้ และมันใช้เวลาไม่นานนักที่ตัวเขาจะแตะถึงอายุนี้ มันจึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยาวนานเท่าไรเท่าที่ฉันรู้สึก เผลอๆ นายอาจพบว่าช่วงเวลาที่ฉันเขียนจดหมายฉบับนี้ กับช่วงเวลาที่นายกำลังอ่านตอน 80 มันสั้นเกินกว่าที่ฉันคิดก็ได้

และที่ยังไม่ส่งให้ตอนอายุ 70 เพราะคิดว่านายคงเพิ่งเกษียณตัวเองจากการทำงานหนัก ฉันรู้นิสัยนายดีว่านายชอบทำงานและตั้งใจจะทำงานตลอดชีวิต แต่น่าเศร้าที่ธรรมชาติมันมีวิธีการของมันให้เรายอมรับกับอะไรบางอย่าง ตัวฉันเองวันนี้ก็มีอายุมากพอที่จะเข้าใจว่าร่างกายมันเปลี่ยนผ่าน มันมีพัฒนาการถึงจุดหนึ่งและเริ่มเสื่อมถอย ฉันหวังเพียงอย่างยิ่งว่าวิธีการใช้ชีวิตของฉันและการแพทย์ในยุคสมัยของนาย จะส่งผลให้นายทำงานได้ถึงอายุ 70 โดยที่สมองยังเฉียบคมอยู่ มันเป็นความกังวลใจของฉันที่รู้ว่าเรามีปู่ที่มีอาการอัลไซเมอร์ตอนช่วงอายุ 70 และทวดตอนอายุ 90 ณ เวลานี้ฉันยังไม่รู้ว่าพ่อของเราจะเดินตามรอยนี้หรือไม่ แต่ถ้าหากโรคนี้มันเกิดจากธรรมชาติและพันธุกรรม ฉันต้องขอแสดงความเสียใจกับนายด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติในหัวสมองที่ส่งผลต่อการพูดมาตั้งแต่เด็ก Stutter/Cluttering ในตอนที่เขียนอยู่นี้อาการการพูดติดขัดลดเหลือเพียง 1% โดยประมาณ ซึ่งก็น่าจะเกิดจากอายุที่มากขึ้น ความแปรปรวนในการทำงานของสมองนั้นลดลง แต่คุณอาของเราในวัย 50 ก็มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการพูดเหมือนกัน ดังนั้นฉันเลยไม่แน่ใจว่าที่ฉันดีขึ้นเพราะฉันพยายามรักษาตัวเองหรือเปล่า

กรณีที่นายโชคดี อาการหลงๆ ลืมๆ ที่อาจเกิดขึ้นตอนอายุเยอะมากไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หรือการแพทย์ค้นพบความลับของโรคภัยนี้ และการใช้งานสมองอย่างต่อเนื่องโดยตลอดจะช่วยลดความเสื่อมถอยของสมองได้ ฉันก็ขอให้ผลที่ฉันทำมาตลอดชีวิตต่อเนื่องไปจนถึงตอนที่นายอ่านจดหมายนี้อยู่จะช่วยให้สมองนายทำงานได้อย่างดี

ที่ฉันเขียนถึงนายตอนอายุ 80 ก็เพราะว่าบุคคลต้นแบบของฉันอีกคนหนึ่งคือปู่ลีกวนยิว นั้นยังทำงานได้ดีแม้จะอายุ 80 กว่าแล้วสมองก็ยังคงเฉียบคมอยู่ การมีอายุถึง 80 ปี ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคสมัยของฉันเล็กน้อย ซึ่งหมายความว่าถ้านายมีชีวิตอยู่จนถึงได้อ่านจดหมายฉบับนี้ตามเวลานัด ก็แสดงว่านายโชคดีกว่าคนส่วนใหญ่ในยุคสมัยของฉันแล้ว จะด้วยเหตุผลทางการแพทย์หรือเพราะเราพยายามประพฤติตัวส่งเสริมด้วยก็ตาม

แต่ไม่ว่านายจะยังมีชีวิตอยู่ถึงตอนที่ได้อ่านจดหมายนี้หรือไม่ สิ่งที่ฉันกังวลใจมากกว่าการมีอายุยืนยาวคือ… (นายคงจะเดาได้) “การที่เรามีชีวิตอยู่อย่างไร”

นายคงจะรู้ดีได้ว่าสิ่งที่ฉันแคร์คือ

วิธีการ มากกว่าหรือเท่ากับ ผลลัพธ์

การอยู่ร่วมกัน มากกว่าหรือเท่ากับ การมีชีวิตอยู่ของตัวเอง

การเปิดใจรับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ มากกว่าหรือเท่ากับ การบอกพวกเขาถึงทัศนคติของตัวเอง

การกินอยู่หลับนอน มากกว่าหรือเท่ากับ การสะสมเงินทอง

การเดินทาง มากกว่าหรือเท่ากับ การทำบ้านให้น่าอยู่

การสร้างสรรค์ มากกว่าหรือเท่ากับ การใช้ชีวิตเพื่อเสพย์ความสบาย

การเรียนรู้สิ่งใหม่ มากกว่าหรือเท่ากับ การต่อยอดหรือเสริมสร้างความรู้เดิม

การฟัง มากกว่าหรือเท่ากับ การพูด

การอ่าน มากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะฉันชอบอ่านทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น บท (Text) บริบท (Context) ความนึกคิด (Mind) ภาพ (Visual) เสียง (Audio) หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่มากระทบประสาทการรับรู้ของฉัน

แต่กว่าจะถึงวันนั้น นายอาจเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหลายอย่าง นายอาจเห็นแก่ตัวมากขึ้น (จากที่เดิมฉันก็เป็นคนที่เห็นแก่ตัวสุดๆ อยู่แล้ว) นายอาจมีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่ายขึ้นจากวัยและฮอร์โมน หรือด้วยเหตุผลใด ฉันก็จะไม่โกรธนายและพยายามจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ

สิ่งใดที่ฉันเคยเห็นว่าเป็นนิสัยในแนวทางของเผด็จการของคนแก่ในยุคสมัยของฉัน สิ่งนั้นฉันจะพยายามหลีกเลี่ยง และไม่อยากเห็นนายมีพฤติกรรมเหล่านั้น โดยเฉพาะพฤติกรรมบังคับลูกหลานให้ทำหรือเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่ชอบที่สุด และเป็นสิ่งที่ฉันคิดว่าฉันโชคดี ที่พ่อของเราแม้จะมีบางส่วนถอดแบบมาจากบรรพบุรุษ แต่ไม่เคยทำแบบนั้น ทว่าให้อิสระเรามากกว่าญาติพี่น้องอื่นๆ ในวัยเดียวกับเราจะได้ ฉันจึงหวังว่าเรื่องหลังสุดนี้ จะไม่เป็นเรื่องที่ทำให้นายต่างกับฉันราวกับเป็นคนละคน

นี่คงเป็นเรื่องเดียวที่ฉันคาดหวังกับนาย โดยที่รู้ดีว่าความคาดหวังเป็นจุดเริ่มของความเจ็บปวด ปกติแล้วฉันจึงไม่คาดหวังอะไร แต่การคาดหวังกับตัวเองในอนาคตนั้นคงเป็นเรื่องที่ยกเว้นกันได้

แม้ว่าจะชอบคิดถึงอนาคตในแง่มุมต่างๆ แต่ก่อนนั้นฉันไม่มีภาพของนายในหัว มันเบลอ เพราะฉันก็คิดไม่ออกว่าจะเห็นตัวนายตอนอายุ 80 ได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อฉันเขียนจดหมายถึงนาย ฉันมีภาพนายที่ชัดเจนขึ้นมาเยอะมาก นั่นทำให้ฉันสัญญากับตัวเองว่าจะทำงานหนักและทำงานอย่างฉลาดเพื่อสะสมส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่มากพอ เพื่อให้นายใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ไม่ลำบากนัก แม้ฉันจะหวังลึกๆ อีกว่าในวัย 80 นายยังสามารถทำงานได้ไม่แพ้วัยหนุ่มของนายก็ตาม

ในวันเกิดครบรอบ 80 ปี ขอให้นายสุขภาพแข็งแรง ฉลองวันเกิด 80 ปีอย่างระมัดระวัง ขอบคุณที่อ่านจนจบ ฉันจะพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้นายมีชีวิตอยู่จนได้อ่านจดหมายฉบับนี้

ปล. ถ้าหากคุณแม่เรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็น่าจะมีอายุประมาณ 100 กว่าปีแล้ว ก็ฝากสวัสดี และส่งความรักความคิดถึงไปยังคุณแม่ของเราด้วย

ปล2. ถ้านายยังสงสัยว่าทำไมไม่เขียนถึงตัวเองตอนอายุ 90 แล้วล่ะก็ ฉันฝากนายเขียนถึงเขาด้วยละกัน ;D

หมายเหตุ จดหมายฉบับนี้ถูกตั้งปฏิทินเตือนให้อ่านในวันที่ 17 กรกฏาคม 2061 ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรโตคอล CalDAV จะยังคงถูกใช้อยู่ในวันนั้น

3 Comments

  1. ok ถ้าใกล้ถึงปี 2061 แล้ว โปรโตคอล CalDAV เลิกใช้กันไปแล้ว งั้นเราคงต้องมาช่วยกันเขียน CalDAV Application Layer Gateway กันแล้วหละ 5555

  2. very impressive 🙂

Trackbacks for this post

  1. Making 2015 to be the Creative Year | In PHz Opinion

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.