บอกเล่าประสบการณ์ลุยน้ำท่วมกลับบ้านและออกมาใหม่ #บางใหญ่

เป็นเวลากว่า 20 กว่าวันแล้วที่ต้องใช้ชีวิตนอกบ้านโดยไม่ได้ต้องการ ปกติผู้เขียนเดินทางบ่อยแต่พยายามจะกำหนดให้ไม่มากไปกว่าเดือนละครั้ง แต่ละครั้งไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไม่ให้สมดุลย์ในชีวิตเสียไป สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ชอบอยู่นอกบ้านนานๆ คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เนื่องจากผู้เขียนเป็น Connected Worker ที่แม้ไม่ต้องการเชื่อมต่อตลอดเวลา แต่เวลาที่ต้องการแล้วไม่ได้ดั่งใจมันชวนให้คิดถึงบ้านทุกที่ ตั้งแต่เดินทางมายังไม่เคยมีครั้งใดที่การเดินทางจะราบรื่น เพราะการเชื่อมต่อที่ไหลลื่นมันต้องมีจุดสะดุดบ้าง โดยเฉพาะ Wifi โรงแรมที่แชร์กันหลายๆ กันในชั่วโมงเร่งด่วน

แม้ว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่านำไปคิดต่ออีกมาก มันอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกหลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างระดับ Macro ของประเทศ จนถึงโครงสร้างระดับครอบครัว เช่นการที่หลายครอบครัวเริ่มมองหาที่อยู่ใหม่นอกกรุงเทพบ้างแล้ว

ทั้งที่ผู้เขียนเชื่อลึกๆ ว่าน้ำจะท่วมบ้านแน่ๆ เลยออกมาทำธุระที่ต่างจังหวัด คือใจนึงก็กะว่าถ้าท่วมก็อยู่ยาว เพราะตอนที่ออกมานั้นมันจ่ออำเภอข้างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากออกจากบ้านเช้าวันที่ 19 ตุลาคม สองวันต่อมาน้ำก็เริ่มขึ้นหน้าบ้านทันที ก็เป็นอันว่าผู้เขียนพยากรณ์ว่าอาจไม่ได้กลับบ้านอย่างน้อยสามสัปดาห์หรือขั้นหนักคือ 2 เดือน ก็เลยพยายามหาทางแก้ปัญหาระยะยาว พอค้นพบทางแก้แล้วก็มีอันต้องเปลี่ยนแผนเพราะเรื่องงาน และได้มีโอกาสกลับบ้าน 1 วันหลังจากบ้านน้ำท่วม 1 สัปดาห์พอดี เลยนำมาบอกเล่ากัน ณ ที่นี้ครับ เผื่อว่าจะมีชาวกรุงเทพที่อพยพออกไปแล้ว อยากเข้าบ้านอีกจะพบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด (กรณีที่บ้านอยู่ในโซนที่มีคนอยู่เยอะ ติดถนนใหญ่ และน้ำไม่ท่วมเกินเอว) แม้จะใช้ความพยายามในการเดินทางมากกว่าปกติก็ตาม

บ้านอยู่บางใหญ่ จอดรถแถวงามวงศ์วาน

ตอนที่เข้าไปน้ำยังไม่เข้ามาสู่ถนนงามวงศ์วานเลยจอดรถแถวนั้น และหารถเมล์เข้าไป สารภาพว่าไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงปลายทางได้อย่างไร ต้องรอเรือแบบไหนมองไม่เห็นภาพเลย และแม้จะไม่ได้กลัวน้ำแต่ก็อดที่จะกังวลเล็กๆ เกี่ยวกับวิธีการเดินทางไม่ได้ สุดท้ายมีรถเมล์สายปอ. 134 ที่ปกติผ่านหน้าบ้าน และไปสิ้นสุดที่อำเภอบางบัวทองที่ตอนนั้นกลายเป็นเวนิซ ท่วมระดับ 2 เมตรไปแล้ว แต่เนื่องจากน้ำท่วมหนัก รถปรับอากาศสายนี้เลยจอดปลายทางที่สะพานพระนั่งเกล้า และต่อรถเมล์สายเดิมแบบธรรมดาเข้าไปที่จะสิ้นสุดตรงแยกบางพลู (รถปรับอากาศลุยน้ำไม่ได้เลย) ซึ่งเป็นแยกที่ยังท่วมถึงประมาณเข่า และเป็นแยกที่จะไปบางบัวทองได้ ช่วงที่ต่อรถครั้งที่สองเป็นการเดินทางที่ดูยากมาก รถจอดเสียเป็นระยะ จอดขวางเลนทำให้เหลือเลนเดินรถเลนเดียว และการที่มีน้ำท่วมเป็นระยะ ทำให้รถเดินช้าๆ แต่สองข้างทางยังมีคนขายของคนเดินไปมา และคนยังเต็มคันรถให้เราไม่ได้สึกว่าเราโดดเดี่ยวเท่าไร

ต่อรถเมล์ 3 ต่อถึงบ้าน

รถจอดที่แยกบางพลู ต้องต่อรถเมล์อีกสายที่จำไม่ได้ว่าสายอะไร แต่สามัญสำนึกบอกกับเราว่ามันต้องไปจอดหน้าหมู่บ้านเราแน่ๆ เป็นครั้งแรกที่ขาแตะน้ำเพื่อก้าวไปขึ้นรถอีกคัน ตอนนั้นให้ความรู้สึกแปลกประหลาดดีครับ ทุกคนลุยน้ำเดินไปพร้อมๆ กัน บรรยากาศโดยรวมมันบอกชัดว่ามันไม่ใช่วันปกติแล้ว มันชวนให้คิดถึงตอนที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ทุกคนอยู่บนเรือด้วยความกังวลมากน้อยต่างกัน และพอรถหยุด คนที่อยู่หน้าประตูก็รีบลงไปลุยน้ำเพื่อเดินไปสู่จุดหมายคือรถอีกครั้ง ไม่มีใครตายเหมือนในสงคราม แต่ความกังวลทำให้ความคิดผู้เขียนเตลิด ทั้งๆ ที่หลายคนพยายามใช้ชีิวิตให้เป็นปกติที่สุด คือเดินทางไปทำงาน ทำธุระตามปกติด้วยซ้ำ

รถสายสุดท้ายที่เราไม่รู้ว่ามันคือสายอะไร พาเราเดินทางอย่างช้าๆ ไปสู่จุดหมายอีกที่คือบางใหญ่ไนซ์บาร์ซ่า ที่นั่นมีเรือรับจ้าง มีรถทหารรออยู่ 2-3 คัน และมีหนึ่งในนั้นประกาศผ่านโทรโข่งว่ารถคันไหน จะพาเราไปไหน บางใหญ่ไนซ์บาซ่านั้นมีการยกสูงหลายชั้น ทำให้พื้นที่ด้านในน้ำยังท่วมไม่ถึง และกลายเป็นโรงอาหารสำหรับผู้ประสบภัย ตอนนี้จุดนั้นกลายเป็นแหล่งต่อรถไปเรียบร้อย จากที่เป็นเพียงทางผ่านปกติที่แทบไม่มีใครลง

สัมผัสการทำงานของทหาร

บ้านผู้เขียนอยู่ลึกเข้าไปอีกหน่อย ไม่เกิน 800-1000 เมตร ปกติใช้การเดินเท้าก็สบายมาก แต่กรณีนี้ผู้เขียนขึ้นรถทหารพาเข้าไปในบ้าน เนื่องจากจุดขึ้รถน้ำท่วมประมาณต้นขา รถทหารค่อนข้างสูง ของกินที่ซื้อมาเต็มสองมือ ทำให้ผู้เขียนพบอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ในการขึ้น พอก้าวขาจะขึ้นไปเหยียบรถ รองเท้าแตะที่ใช้ลุยน้ำหลุดจากขา (ไม่ได้คิดจะซื้อบูทเพราะลุยน้ำครั้งเดียว และนึกไม่ถึงว่ารองเท้าแตะที่ใส่มาลุยจะลอยน้ำ) แต่ทหารทำงานง่ายๆ เป็นทีมเวิร์กดีมาก คนนึงช่วยผู้เขียนหยิบมือถือ อีกคนช่วยถือของ และอีกคนลงมาหยิบรองเท้าแตะให้ ผู้เขียนประทับใจมาก

และก็ทำให้สังเกตได้ว่าทหารทุกคนที่มาช่วย ไม่ได้ชำนาญพื้นที่ กระทั่งว่าทางเข้าหมู่บ้านด้านหน้าปิดพวกเขายังไม่ทราบ มันทำให้ทึ่งและอดคิดต่อไปไม่ได้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตในแต่ละวันยังไงหลังจากหมดภารกิจช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติแล้ว โชคดีที่ผู้โดยสารบางท่านรู้ว่าจะเข้าหมู่บ้านอย่างไรก็ใช้การถอยรถนิดหน่อย การเดินทางในช่วงเวลาแบบนี้ แม้ระยะทางสั้นๆ แต่มันใช้เวลามาก ผู้เขียนต้องแจ้งทิศทางนิดหน่อยก่อนที่จะได้ลงก่อนใคร พราะบ้านอยู่ทางสายหลักของหมู่บ้าน ก็เป็นอันว่าผู้เขียนลุยน้ำระดับเกือบเอวเดินเข้าบ้านในระยะ 10-15 เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก็พบว่ามันลำบากพอประมาณ ปกติเราเดินตัวปลิวเลย

ในที่สุดก็ถึงบ้าน

สภาพบ้าน ก็ไม่ต่างจากในจินตนาการนัก ขณะที่น้ำในส่วนของบ้านจะดำกว่าหน้าบ้านเสียอีก ผู้เขียนเดินขึ้นบ้านก็พบว่าบันไดขึ้นชั้นสองเปรียบเหมือนกับโป๊ะริมน้ำได้เลย

น้องชายถ่ายภาพส่งมาให้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่น้ำท่วม แต่ของจริงมันต่างกันมาก เพราะมันมีทั้งเสียงคลื่นน้ำกระทบฝั่งและมีกลิ่นของน้ำ (อย่าพึ่งจินตนาการถึงกลิ่นไม่ดีนะครับ คือกลิ่นยังไม่ได้เหม็นเน่า แต่มันมีกลิ่นของน้ำที่ภาพถ่ายอย่างเดียวไม่สามารถ Express ได้) เก็บเสื้อผ้าเพิ่มเพราะตอนออกจากบ้านหยิบมาเพียง 3 ชุดเท่านั้น และเก็บของสำคัญ เช่นเครื่องดนตรี Monome และของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีพระยะยาวโดยไม่กลับบ้าน พูดคุยกับพ่อแม่และน้องชายที่ทั้งสามปฏิเสธที่จะไม่ออกมาด้วย ไม่เกินชั่วโมงต้องเตรียมตัวออกมาอีกครั้ง

อพยพจริง

มีเรือหางยาววิ่งภายในหมู่บ้าน เรือที่ผู้เขียนนั่งออกมา มีทีมงานสองคนหัวเรือท้ายเรือ เป็นคนนครสวรรค์ เก็บเงินคนละ 30 บาท แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ ก็ตาม ซึ่งก็อาจ Make Somesense เมื่อพบว่าคนรู้จักโดนชาร์จถึง 100 บาทเพราะเป็นเรือพาย ความยากลำบากเริ่มต้นขึ้นจริงๆ จากนี้ เพราะผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะเดินทางออกไปยังไง เลยเดินขึ้นสะพานลอยเพื่อจะข้ามไปขึ้นรถฝั่งตรงข้ามตามปกติ แบกของที่ค่อนข้างหนักมากเต็มสองมือติดตัวตลอดเวลาเพื่อที่จะพบว่าทางเดินรถเปลี่ยนไปแล้ว ทางที่ใช้สัญจรตามปกติไม่ได้ใช้งานแล้ว จะเข้าหรือออกให้ใช้ทางเดินรถทางเดียวกับที่เราเดินทางออกมา ต้องขอบคุณอาสาคนนั้นที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเขานั่งตรงป้ายรถเมล์ตรงนั้นทำไม เพื่อที่คอยบอกผู้คนว่าต้องขึ้นรถที่ฝั่งเดิม แต่ก็มีคนรออะไรซักอย่างตรงนั้นอีกนับ 10 ทำให้สับสนเล็กน้อย

เดินข้ามฝั่งกลับมา ลุยน้ำอีก 200 เมตร เพื่อกลับมายังจุดที่รอรถ แต่ขากลับมันลำบากกว่าขาไป เพราะต้องเดินลุยน้ำกับของที่หนัก (ไม่ได้ชั่งกิโลแต่พบว่าหนักในระดับที่แขนไม่มีแรงวันต่อมาเต็มๆ) รอรถเมล์ที่จะกลับไปประมาณครึ่งชั่วโมง งานนี้นอกจากกองทัพในฐานะแขนขาของรัฐบาลแล้ว ต้องขอบคุณขสมก. ที่จัดรถเดินในจุดสำคัญอยู่ แม้ว่าน้ำจะสูงระดับขึ้นถึงบันไดรถแล้วก็ตาม

นั่งรถออกไปยังท่าอิฐใช้เวลาประมาณ 30-50 นาที จำระยะเวลาไม่ได้ แต่รู้ว่ามันนานแสนนาน เพราะต้องขับอย่างช้าๆ และรับคนตลอดทาง ขณะที่ช่วงเวลาปกติผู้เขียนขับรถในเวลา 10-15 นาทีเท่านั้น งานนี้ป้ายรถเมล์ไม่เกี่ยวแล้ว แม้จะต้องจอดรับบนสะพานก็มีคนรอขึ้น ถึงท่าอิฐ รถจอดในบริเวณที่แห้ง ผู้เขียนก็มึนๆ ต่อ ไม่รู้ว่าจะเดินทางต่อไปยังไง ก็แบกของเดินออกมาจากจุดเดิมอีกระยะใหญ่ ก่อนจะเห็น Taxi วิ่งมาให้โบก โชคดีที่น้ำแค่ฟุตบาทและ Taxi ก็รับผู้โดยสารตามปกติโดยไม่ชาร์จเงินเพิ่ม ผู้เขียนนั่ง Taxi ออกมายังรถโดยเปียกนิดหน่อย พักกินข้าวก่อนกลับโรงแรมนอนแช่น้ำอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลาย และหลับยาวๆ อีกรอบ ก่อนตื่นขึ้นมาทำงานต่อกลางดึก

พักผ่อน

กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งออกจากโรงแรมตอน 8 โมง และกลับถึงโรงแรมอีกที ประมาณบ่าย 4 โมง เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง โดยใช้เวลาอยู่ที่บ้านจริงประมาณ 1 ชั่วโมงตอนเที่ยงเท่านั้น

ใครที่บ้านน้ำท่วมประมาณเข่าและไม่ถึงเอว ก็ยังเป็นที่ที่หลายคนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติอยู่ครับ อาจต้องเผื่อเวลาเดินทางไว้หน่อยเท่านั้นเอง

ที่เล่ามานี้ คนบ้านอยู่ริมน้ำอาจจะหัวเราะหึๆ เนื่องจากมันไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าไร แต่นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่รู้สึกว่าการเดินทางกลับบ้านมันลำบากขนาดนั้น ก็เลยขอบันทึกเอาไว้เป็นเรื่องราวส่วนตัว ที่จะย้อนกลับมาอ่านขำๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเผื่อใครที่อาจต้องเจอประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันครับ

เราจะผ่านช่วงเวลายากลำบากเหล่านี้ไปด้วยกัน

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.