“(หยุด) รถไฟฟ้า (เพื่อ) มาหานะเธอ” วัฒนธรรมไทย ถ้าถูกใจล่ะก็…ยอมให้ได้

คำเตือน ข้อเขียนนี้มีเนื้อหาซึ่งทำลายอรรถรสการชมภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ

ประเดนเรื่อง Authority Abuse นั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติกับวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์และให้คุณค่าแก่ความอาวุโสของบ้านเรา

ขออนุญาติออกตัวว่าข้อเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อโจมตีหนังหรือจะสร้างกระแสแต่อย่างใดนะครับ ผู้เขียนดูหนังด้วยความสนุกและเพลิดเพลินกับมุกต่างๆ เพียงแต่มีเรื่องตะหงิดใจในตอนใกล้จบของภาพยนตร์เท่านั้น เลยขอบันทึกข้อความนี้ไว้ เผื่อว่าวันนึงโลกทรรศน์และวัฒนธรรมของบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลง จะได้มี “หลักฐานส่วนตัว” เกี่ยวกับประเดนเรื่องนี้เอาไว้ อ่านสนุกๆ ภายภาคหน้า

หลายท่านที่ดูมาแล้ว น่าจะนึกออกว่าผมกำลังพูดถึงการที่ ตัวละครในหนัง ใช้อำนาจส่วนตัวในการหยุดรถไฟฟ้า เพื่อเคลียร์ธุระส่วนตัว (รื้อฟื้นความสัมพันธ์) กับคนรัก 

รถไฟฟ้า ตามความเห็นของผู้เขียนคือระบบขนส่งที่มีความปลอดภัยและเชื่อมั่นสูง หมายความว่าเรามั่นใจมากที่จะเดินทางสู่ที่หมายอย่างปลอดภัยและทันเวลา แต่หากมีใครสักคนมาใช้อำนาจส่วนตัวทำให้การเดินทางต้องสูญเสียความเชื่อมั่นนี้ไป โดยไม่มีเหตุผลส่วนรวมที่ดีพอ ก็สามารถฟันธงได้ว่ามัน “ผิด”

ในฐานะผู้ชมภาพยนตร์ที่เราควรจะต้องยินดีเมื่อพระนางในเรื่องสามารถกลับมารักกันได้ใหม่ ผู้เขียนพยายามที่จะหาข้อแก้ตัวแทนพระเอกที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยสมมติเหตุการณ์ว่ารถไฟฟ้าไฟดับจริงๆ และพระเอกใช้อำนาจที่พอมีเหตุผล ใช้รถไฟเล็กตามมาเจอนางเอก แต่ดูจากเนื้อเรื่องแล้วมัน “เป็นไปไม่ได้” เพราะหนังแสดงให้เห็นว่าพระเอกกับนางเอกกำลังเดินทางคนละชานชาลา ซึ่งหมายถึงเดินทางคนละเส้น ไม่มีทางที่รถไฟฟ้าจะ “บังเอิญ” ดับและพระเอกจะเดินทางมาหาทัน ถ้าไม่ได้จงใจจะเซอร์ไพร์ซด้วยการดับไฟตั้งแต่แรก

หรือถ้าคิดแบบคนทั่วๆ ไป จะมีหรือไม่มีอำนาจในหน่วยงานควบคุมรถไฟฟ้าก็ได้ เหตุการณ์ที่เป็นเป็นไปได้มากที่สุดคือการโทรไปนัดคุยเดทกันตามปกติ เพราะคนรักกันชอบพอกัน การคุยโทรทั่วไป ก็มีความหมายมากเพียงพอแล้ว (เพียงแต่มันจะไม่โรแมนติก ซึ่งความโรแมนติกอย่างในหนัง ผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะอินไปด้วยเหตุผลที่ทำให้ต้องมาเขียนข้อความนี้นั่นเอง)

ผู้เขียนไม่ลืมว่าเรื่องราวในหนัง คือมายาที่สร้างขึ้นมา และเรื่องแบบนี้ไม่ (น่าจะ) มีทางที่จะเป็นไปได้ในชีวิตจริง เพียงแต่ว่าหากเรื่องเดียวกันนี้ ดันไปโผล่ในภาพยนตร์จากประเทศที่ใส่ใจการใช้อำนาจ ไม่มีระบบอุปถัมภ์และวัฒนธรรมอาวุโส มันจะเป็นการเซอร์ไพรซ์ผู้เขียนมากเลยทีเดียว 

และนี่ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่สะท้อนการใช้อำนาจในบ้านเรา ที่ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด ขอให้ถูกใจล่ะก็…ยอมรับกันได้ 😀