รองต๊ะแล่บแปร๊บ 2535 ในมุมมองของผมปี 2555

Magic Shoe

ภาพยนตร์วัยเด็กในดวงใจ สมัยนั้นผมได้มีโอกาสดูหนังในโรงน้อยมาก เรื่องนี้เป็นหนึ่งในนั้น มีความประทับใจในหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะเรื่องของเพลงและการเต้นรำ ต้องขอขอบคุณน้ากองมากๆ ที่พาผมไปดูวันนั้น ค่าดูหนังตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด 15-20 บาทเท่านั้นในโรงต่างจังหวัด และรายได้รวมของหนังเรื่องนี้คือ 15 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น เป็นหนังเรื่องแรกของคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ต่อมาโด่งดังมากกับหนังเรื่ององค์บาก

พอดีวันนี้มีโอกาสได้ดูอีกที การดูวันนี้กับดูวันนั้น มันย่อมต่างกันมาก จึงอยากจะบันทึกอะไรบางอย่างเอาไว้ ใครอยากดูอีกดูเป็นตอนๆ 8 ตอนได้ที่ YouTube

ในความเห็น

  • หนังเรื่องนี้เป็นหนังสร้างขึ้นมาเพื่อโปรโมทไอดอล เพื่อสร้างกำไรต่ออีกหลังจากนั้น ก็คือคุณทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ To be Idol วงไฮแจ๊คนั่นเอง
  • หนังเรื่องนี้ทำให้เวลาต่อมาแกรมมี่ดันเจ เจตรินให้เป็นนักร้อง นักเต้น นักแร็พ ขึ้นมาแข่ง ส่วนอีกขั้วหนึ่งคือค่ายนิธิทัศน์ ก็มีติ๊ก ชีโร่ ซึ่งก็มีฐานแฟนเพลงของตัวเองอยู่จนถึงปัจจุบัน ก็แต่งเพลงเอง ร้องเพลง เต้นเองแบบนั้น
  • อ๋อ ลืมกล่าวไปว่าหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นก่อนที่ค่าย RS จะเป็นค่าย RS เต็มตัวเสียอีก
  • เมื่อเป็นหนังเพลง เพลงในหนังเรื่องนี้จึงโดดเด่นมาก (ในยุคนั้น)
  • เพลงสู้ หนึ่งในเครดิตผู้แต่งคือคุณเสือ ธนพล อินธฤทธิ์ ตัวเพลงนั้นเป็นจังหวะสนุก เป็นบีทจาก Roland Drum Machine ที่โด่งดังมากยุคนั้น นอกจากบีทแล้วมี Lead Synth แล้วก็มีกีตาร์ดิสทอร์ทชั่น ในเรื่องของโครงสร้างเพลง ไม่มีคุณค่าอะไร เพราะเป็นเพลงแนว Unison แทบจะไม่มี Harmony ทำให้เพลงนั้นไม่อยู่ข้ามเวลา แต่ถ้าถามว่าเพลงนี้เท่ไหม ก็ต้องบอกว่ามาก เพราะมันเป็นไอเดียเพลงทันสมัยมาก มีท่อน Rap และท่อน Break ซึ่งสมัยนั้นไม่ค่อยมี ไม่นับ Beat – Subbeat ในเพลง
  • เพลงอยากค้นความจริง เป็นเพลงที่ผู้เขียนฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกว่ามันไพเราะจับใจ จวบจนถึงปัจจุบัน เพลงมีการใช้เครื่องดนตรีอย่างเชลโลมาเป็นเสียงประสาน แม้จะเป็นเพลงพ๊อพแต่ก็มีวิธีการวางเสียงประสานที่สวยงาม มีการจบเพลงด้วยคอร์ดนอกบันไดเสียงด้วยซึ่งหาได้ยากมากในสมัยนั้น
  • สรุปได้ว่ามีการตั้งใจทำเพลงให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นจริงๆ ผู้เขียนยังคงจดจำรายได้ละเอียดได้ในปัจจุบัน
  • ในเพลงประกอบอื่นๆ เช่นเพลงเต้นรำจากต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามันยังอยู่ในยุคที่ลิขสิทธิ์ไม่แข็งแรงมากๆ มีการนำเพลงฝรั่งดังๆ มาใช้ในหนัง รวมไปถึงการตัดบางตอนในหนังเจาะเวลาหาอดีตในใช้ในหนังด้วย ถ้าให้ดูบริบทของยุคสมัย ตอนนั้น RS ก็ยังหากินกับเพลงเถื่อนอยู่ การ์ตูนญี่ปุ่นก็เอามาแปลแบบเถื่อนเช่นกัน ดังนั้นมันก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมพวกเขาจึงกล้าทำอย่างนั้นในหนังที่ฉายทั่วประเทศ
  • ท่าเต้นในเพลงในจังหวะที่พยายามจะให้มันพร้อมกัน ถ้านำไปเปิดคู่กับ MV เกาหลีของวันนี้ คงเทียบกันไม่ได้ แต่ในวันนั้นมันก็เท่จริงๆ ท่าเต้นมีส่วนที่ดึงมาจาก MC Hammer, MJ และอาจมีอีก แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ติดตาม MTV ในวันนั้น
  • มีฉากที่เราเห็นสนามราชมังคลาในวันที่ยังก่อสร้างอยู่
  • มีฉากที่ความทรงจำส่วนตัวอีกนิด เป็นหอประชุมของลาดกระบัง
  • มีฉากที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของกรุงเทพ ผ่านเศรษฐกิจที่กำลังบูม ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 และสะดุดตอนช่วงต้มยำกุ้งปี 97
  • การทำหนังเรื่องนี้มีบริบททางเวลาของมันอยู่นะครับ อย่างแรกคือ RS กำลังจะเคลื่อนเข้าสู่ยุคการปั้น idol เป็นธุรกิจอย่างจริงจังแล้ว ขณะที่องค์ความรู้ด้านการทำ MV ที่สะสมมาในช่วงยุค 80 ของไทย มันมีความพร้อมมากพอที่จะทำหนังแบบนี้ได้แล้ว จึงทำ
  • หนังเรื่องนี้ยังมีประเด็นทางศีลธรรมที่หลายคนมองข้ามไป คือนางเอกนั้นมีแฟนอยู่แล้ว แต่เธอชอบพระเอก และตอนจบพระเอกก็คบกับนางเอก (มองอีกมุมคือแย่งได้สำเร็จ) คำถามคือถ้าแฟนเก่าของนางเอก ไม่ได้มีภาพชั่วร้ายทว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมเข้าวัดเข้าวา หรือนางเอกดูเป็นเด็กเสี่ย ดูแรงกว่านี้ ไม่ได้ดูเงียบอย่างในหนัง คนยังจะมองเห็นการแย่งความสัมพันธ์นี้ในแง่ศีลธรรมความถูกต้องนี้อย่างไร?
  • เรื่องสุดท้าย จากเครื่องแต่งกายในวันนั้นแล้ว แม้ว่าไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่ฮิตกันในวันนั้น (idol ไทยจะแต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านและภูมิอากาศ) แต่ผมสามารถฟันธงได้อย่างนึงว่า กางเกงขาเดฟที่ใส่กันวันนี้ จะดูเชยๆ ในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.