มีคำในภาษาไทยอยู่คำหนึ่ง ที่ผู้เขียนสับสนในความหมายในหลายๆโอกาสที่เห็นมัน…
หากเรียนหนังสือในระบบไทย ประโยคคลาสสิคที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย
ไทยเราไม่เคยเสียเอกราชให้ใคร
ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกันเอง กับบทเรียนที่ว่าด้วย “การเสียกรุง” ให้พม่่า 2 ครั้ง (อาจเพราะนักประวัติศาสตร์บางท่านไม่นับกษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยาร่วมกับราชวงศ์จักรี และไม่นับว่าสมัยนั้น ยังไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐชาติมาก่อน เลยไม่อาจนับว่าเป็นไทยเดียวกัน แต่ถ้าไม่ใช่คนไทยด้วยกัน และจะให้เราเรียนทำไม? เพราะเราเองก็ไม่ได้เรียนว่าพม่าเสีย “เอกราช” ให้อังกฤษได้ยังไงเช่นกัน)
(ผู้เขียนขอข้ามประวัติศาสตร์ไทยไปก่อน เพราะนับเหตุการณ์ “เสียเอกราช” ได้อีกหลายครั้ง เช่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ฯลฯ เล่ากันได้สนุกไม่จบสิ้น)
มาดูเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างลาวบ้าง
22 ตุลาคม พ.ศ. 2496 : ประเทศลาวได้รับเอกราชคืนจากประเทศฝรั่งเศส
ฟังดูเข้าใจได้ เพราะในตอนนั้น ลาวเป็นราชอาณาจักรปกครองโดย เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
เอก หมายถึง หนึ่ง
ราช หมายถึง ราชา หรือผู้ครองแผ่นดิน
การที่ลาวได้รับเอกราชคืนจากฝรั่งเศส หมายความว่าจากเดิม
ปกครองผ่านจักรวรรดิฝรั่งเศส -> เจ้าชีวิตศรีสว่างวงศ์ -> ประชาชนลาว
กลายเป็นการปกครองจากราชาพระองค์เดียวคือ
เจ้าชีวิตศรีสว่างวงศ์ -> ประชาชนลาว
การใช้คำว่าเอกราชจึงถือว่าเหมาะสม
ขณะที่หากเราพูดถึงสงครามปฏิวัติของอเมริกาหรือสงครามประกาศอิสรภาพ เรามักจะเห็นการใช้คำว่า
“สงครามประกาศเอกราช“ (ผลลัพธ์จาก Google)
ซึ่งความเห็นของผู้เขียนคือการใช้คำที่ไม่เหมาะสมเพราะผิดความหมาย “เอกราช“ เหมาะที่จะใช้กับเหตุการณ์การแยกประเทศราช ออกมาจากเจ้าอาณานิคม
ขณะที่เราควรใช้คำว่า “อิสรภาพ” กับประเทศที่แยกออกมาเป็นสาธารณรัฐ (และจะว่าไปคำว่าสาธารณรัฐ ถูกจงใจทำให้สับสนหรือไม่เข้าใจในความหมาย เราจะเห็นได้จากละครไทยหลายเรื่อง มีเนื้อเรื่องว่าประเทศสาธารณรัฐแห่งหนึ่ง ปกครองด้วยเจ้าคนหนึ่ง ?!!)
หากท่านผู้อ่าน ยังคงยืนยันว่าคำว่าเอกราชคือการแยกประเทศเป็นอิสระได้ ผู้เขียนก็ยังพอจะเข้าใจได้ครับ เพราะเราถูกปลูกฝังความคิดด้วยการ “เล่นคำ“ มาตั้งแต่ที่เราเริ่มเรียนรู้ภาษาไทย
แม้แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตเอง ก็ให้ความหมายของ “เอกราช” ไว้ดังนี้
เอกราช
ความหมาย
[เอกกะราด] ว. เป็นอิสระแก่ตน, ไม่ขึ้นแก่ใคร
ผู้เขียนอยากให้เราลองพิจารณาคำศัพท์นี้ดี ๆ อีกครั้ง แล้วจะพบว่า “ใคร” กำลังสับขาหลอกใครอยู่…
และควรกล่าวด้วยว่า “หากมนุษย์คิดเป็นภาษา การควบคุมภาษานั้น ก็เหมือนควบคุมความคิดนั่นเอง”