ถ้าวันนี้นายก รัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีผู้นำฝ่ายค้าน ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

จากมติชนสุดฯ ฉบับวันนี้ บอกได้สั้นๆว่า “ไม่ผิดหวัง” สำหรับสื่อกระดาษเดียวที่ผมยังเลือกเสพย์ ในเล่มเดียวกัน ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสลายในวันที่ 10 เมษาด้วยครับ แฟนๆ ขาประจำ หรือขาจร ไม่ควรพลาดฉบับนี้ 

ถึงวันนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” คงรู้แล้วว่า “อำนาจ” นั้น มีพลานุภาพเพียงใด

“อำนาจ” นั้น ไม่ใช่เพียงแค่สามารถทำลายล้างผู้อื่นได้

แต่ยังเปลี่ยนแปลงตัวเราเองได้เช่นกัน

เพราะนับตั้งแต่ “อภิสิทธิ์” ขึ้นดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และเผชิญหน้ากับ “ม็อบเสื้อแดง”

อาวุธที่ทิ่มแทงความน่าเชื่อถือของเขามากที่สุดคือ “คำพูด” และ “หลักการ” ของเขาในสมัยเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ลิ้นที่เคยปาดใส่ผู้อื่นได้ย้อนกลับมาเชือดคอตนเอง

นับตั้งแต่วันที่ “ม็อบเสื้อแดง” ชุมนุมใหญ่ด้วยปริมาณคนนับแสนคน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พร้อมกับเรียกร้องให้ “อภิสิทธิ์” ยุบสภา

คำพูดของ “อภิสิทธิ์” เมื่อครั้งเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” อภิปราย “สมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาทิ่มแทง “อภิสิทธิ์” ที่เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ครั้งนั้น “สมัคร” กำลังเผชิญกับ “ม็อบพันธมิตร” ซึ่งมีจำนวนคนน้อยกว่า “ม็อบเสื้อแดง” ในวันนี้

ในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร “อภิสิทธิ์” ลุกขึ้นเสนอให้ “สมัคร” ยุบสภาฯ

“เมื่อมีประชาชนเพียง 1 คน หรือแสนคน มาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเองนั้น ไม่ได้ขัดหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารประเทศนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิประชาชน หรือทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่รอให้กฎหมายจัดการ แต่จะมีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง”

“ในประเทศเกาหลี แค่คิดนโยบายเปิดการค้าเสรี เอาเนื้อวัวต่างประเทศเข้ามา คนลุกฮือมาเป็นแสน ก็ตัดสินใจลาออกทั้งคณะ ต้องยอมรับว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการที่ประชาชนสะสมความไม่พอใจมานาน”

“ถึงจะจัดการขั้นเด็ดขาดก็ไม่อาจทำลายแนวคิดต่อต้านที่มีได้”

“วันนี้ผมต้องพูดขัดใจลูกพรรค และสมาชิกหลายคน ที่มักไม่เสนอให้ยุบสภา แต่การยุบสภาจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบส่วนหนึ่ง ถ้านายกฯ ไม่อยากรับผิดชอบคนเดียว เราทั้งสภาจะเจ็บร่วมกัน”

แต่วันนี้ “อภิสิทธิ์” ยืนยันว่าการยุบสภาฯ ไม่ใช่การแก้ปัญหา

นอกจากนั้น “ช่อง 11” ในยุค “อภิสิทธิ์” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ยิ่งหลังเหตุการณ์สลายม็อบ 10 เมษายน “ช่อง 11” ยิ่งถูกโจมตีถึงความไม่เป็นกลางมากยิ่งขึ้น เมื่อนำเสนอข้อมูลจากฝั่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

ไม่มี “ความคิด” ที่แตกต่างจากรัฐบาลปรากฏอยู่บนจอช่อง 11 เลย

ข้อเขียนของ “อภิสิทธิ์” สมัยเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ปรากฏในหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” เรื่องการปฏิรูปช่อง 11 ให้เป็นทีวีสาธารณะ ก็ถูกหยิบยกมาเชือดคอ “นายกรัฐมนตรี” ที่ชื่อ “อภิสิทธิ์” อีกครั้งหนึ่ง

“สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นแค่กระบอกเสียงให้รัฐบาลทุกสมัย

ผมเคยเป็นผู้ดำเนินรายการมองต่างมุมที่ออกอากาศทางช่อง 11 เคยมีเสรีภาพในการที่จะผลิตรายการที่เป็นเวทีความคิดเสรี

ผมเห็นว่าโทรทัศน์ช่อง 11 ในอดีตเคยผลิตรายการที่มีสาระและคุณภาพ เป็นเวทีที่เปิดกว้าง สามารถเอาคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน หรือไม่ตรงกับรัฐบาลมานั่งโต๊ะเดียวกัน พูดให้ประชาชนฟังได้พร้อมๆ กัน

สะท้อนว่าแม้จะเป็นสถานีภายใต้สังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่ก็สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพได้

หาก “ผู้มีอำนาจรัฐ” มีเจตนารมณ์แท้จริงและเคารพในการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ผมคิดว่าในเมื่อช่อง 11 ขึ้นอยู่กับรัฐ เป็นของรัฐ เพราะฉะนั้น มันก็อยู่ที่นโยบายของรัฐ

ประการสำคัญ คือ รัฐบาลจะต้องตระหนักว่า “รัฐ” ไม่ใช่ “รัฐบาล” แล้วก็ต้องทำให้ชัดว่า “ช่อง 11 เป็นของรัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล”

ใครจะไปนึกว่า “ช่อง 11” ในวันที่ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

จะกลายเป็นทีวีของ “รัฐบาล” ไม่ใช่ของ “รัฐ”

ยิ่งกว่าวันที่ “อภิสิทธิ์” เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” เสียอีก

และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ “อภิสิทธิ์” สั่งสลายการชุมนุม “ม็อบเสื้อแดง” ที่สะพานผ่านฟ้า จนมีคนเสียชีวิต 25 คน และบาดเจ็บ 800 กว่าคน

เงาของวาทศิลป์สมัยที่เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ก็กลับมาหลอกหลอน “อภิสิทธิ์” อีกครั้ง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุม “ม็อบพันธมิตร” ที่หน้ารัฐสภา

มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 400 กว่าคน

หลังจากนั้น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ชื่อ “อภิสิทธิ์” เปิดแถลงข่าวภายหลังการประชุมพรรคประชาธิปัตย์

“เหตุการณ์ทั้งหมด นายกฯ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบ ว่าเป็นผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ก็จงใจให้เหตุการณ์เกิดขึ้น”

“แต่ที่เลวร้ายกว่าการโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ คือ การใส่ร้ายประชาชน”

“ผมไม่นึกไม่ฝันว่าเราจะมีรัฐที่ได้ทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสแล้ว ยังมีรัฐที่ยัดเยียดความผิดให้ประชาชนอีก ถือเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้”

“ผมเคยได้ยินฝ่ายรัฐบาลชอบถามคนนั้นคนนี้ ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า แต่พฤติกรรมที่ท่านทำอยู่ ไม่ใช่เป็นคนไทยหรือเปล่า”

“แต่เป็นคนหรือเปล่า”

“วันนี้ในทางการเมืองหมดความชอบธรรมไปแล้ว เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากนายกฯ จะลาออกหรือถ้ากลัวว่าลาออกแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะมีอำนาจ ท่านจะยุบสภาก็ได้ แต่ท่านไม่ควรเพิกเฉย เพราะถ้าไม่ทำอะไร ก็เท่ากับทำร้ายบ้านเมือง และกำลังทำร้ายระบบการเมือง”

“ระบบการเมืองในวิถีระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนในโลก ที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐ แต่รัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ”

“สิ่งที่พูดในวันนี้ รัฐบาลไม่ต้องมากล่าวหายัดเยียดว่าเพราะเราเห็นด้วยกับทุกเรื่องของพัน ธมิตรฯ”

“เพราะถึงพันธมิตรฯ จะทำผิด แต่รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำร้ายประชาชน”

และเมื่อนักข่าวถามว่าทำไมสถานการณ์ในขณะนี้ที่ถือว่าวิกฤตสูงสุดแล้ว นายกรัฐมนตรียังอยู่ได้

คำตอบจาก “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สั้นๆ แต่ชัดเจน

“ผมตอบไม่ได้ ผมก็ไม่เคยเห็นคนแบบนี้ ถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ผมรู้จักก็คงไม่เป็นแบบนี้”

นั่นคือ ความคิดและการเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้าน

ในวันที่มีคนเสียชีวิตจากการสลายม็อบ 2 คน

ช่างแตกต่างจากความคิดและความรับผิดชอบของ “อภิสิทธิ์” ที่ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

ในวันที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายม็อบถึง 25 คน

มีคนเคยพูดถึงนักการเมืองว่า “เมื่อท่านพูดเราจะฟัง แต่เมื่อท่านลงมือทำเราจะเชื่อ”

“อภิสิทธิ์” ในวันที่เป็น “ผู้วิจารณ์” ในตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน”

หลักการของเขาแหลมคมและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ

แต่เมื่อเขาเปลี่ยนไปสวมบท “นายกรัฐมนตรี”

พลานุภาพแห่ง “อำนาจ” ก็แสดงอิทธิฤทธิ์

“คำพูด” ในอดีต กับ “การกระทำ” ในปัจจุบัน กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเขาไม่เคยเชื่อในสิ่งที่เขาเคยพูดเลย

หรือว่าพูดในสิ่งที่เขาไม่เคยเชื่อมาตลอดชีวิต              

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.