รีวิวหนังสือ 143บุคคลสำคัญของโลก [Book Review]

143 บุคคลสำคัญของโลก เป็นหนังสือการ์ตูนในอยู่ในชุดรู้รอบตัวแสนสนุก มีทั้งหมด 9 เล่มครอบคลุมเนื้อหาน่าสนใจไปตั้งแต่เรื่องราวในประเทศต่างๆ รถยนต์ เทคนิคการถ่ายทำทีวี ไปจนถึงประวัติบุคคลสำคัญ จัดพิมพ์ในปี 2529 โดยสำนักพิมพ์ซีเอ็ด ราคาปกตอนนั้น 60 บาทเท่านั้น คนเขียนเป็นคนญี่ปุ่นสองท่านซึ่งปัจจุบันผู้แต่งทั้งสองก็เป็นคุณปู่อายุ 70 กลางๆ เข้าไปแล้ว ชื่อคัตซึตะ ไอดะกับโตะคุโอะ โยะโกะตะ มีการวาดเพิ่มโดยคนไทยชื่อ เตรียม ชาชุมพร

หนังสือทั้งชุดนี้ พี่น้องสามคนของครอบครัวผมเคยคุยกันว่า มันเป็นหนังสือที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาก เพราะอ่านกันตั้งแต่ยังเด็กมาก มันเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญที่นำไปสู่การชอบอ่านหนังสือเพราะมันไม่ใช่การ์ตูนที่อ่านสนุกทันทีเหมือนโดราเอมอน แต่ค่อยๆ อ่านสนุกเพราะเกร็ดความรู้ที่ได้จากหนังสือชุดนี้

ในบรรดาหนังสือทั้ง 9 เล่มนี้ เล่มสุดท้ายที่ชื่อ 143 บุคคลสำคัญของโลก ถือว่ามีส่วนสำคัญในการวางรากฐานชีวิต (Foundation) มากที่สุด นอกจากได้อ่านซ้ำๆ อีกหลายครั้งในระหว่างที่โตขึ้น (จริงๆ ก็อ่านซ้ำกันหลายๆ เล่มในชุดนี้) และมาถึงปัจจุบันก็ยังอ่านซ้ำได้อีกอย่างไม่รู้เบื่อ

บุคคล 143 คนที่ยกมา มีคนไทยห้าท่านซึ่งเข้าใจว่าสำนักพิมพ์ไทยเพิ่มเข้าไปเอง มีเรื่องราวเล็กๆ ระหว่างผมกับหนังสือเล่มนี้ เพราะว่ามันเป็นหนังสือที่หนาที่สุด และน่าสนใจน้อยที่สุดในชุด ลองนึกภาพว่าเด็กๆ จะไปอยากรู้เรื่องราวของคนอื่นๆ ทำไมใช่ไหม? แต่สุดท้ายกับกลายมามีอิทธิพลต่อผู้เขียนมากในสุด และประทับใจในระดับที่ถือว่าผู้ที่ให้หนังสือชุดนี้มาถือว่ามีพระคุณแทบจะจดจำกันไปอีกนาน รวมไปถึงสำนักพิมพ์ซีเอ็ดที่ผมเองทุกวันนี้ก็ผูกพันกันอยู่ในระดับที่เขียนหนังสือส่งเป็นต้นฉบับจัดพิมพ์ในนิตยสารเครือซีเอ็ดกันเลยทีเดียว ถือเป็นสำนักพิมพ์ที่รักมาก เพราะผูกใจกันมาตั้งแต่เด็กเลยล่ะครับ

วิธีการเล่าเรื่องของหนังสือนั้น ถือว่าเป็นการรวบรัดมาก คือใช้พื้นที่สองหน้าการ์ตูนเท่านั้น ในการอธิบายชีวิตคนสำคัญหนึ่งคน ซึ่งก็จะมีไม่กี่คนที่มีเรื่องราวเยอะจริงๆ จึงจะได้พื้นที่ 4 หน้า เช่นไอแซค นิวตันและดาวินชี่ ฯลฯ

รายชื่อคนสำคัญอย่างกูเตนเบิร์ก เอดิสัน ไปจนถึงมาร์โคโปโล โคลัมบัส พระพุทธเจ้า ไนติงเกล ฯลฯ ถูกยกมาให้ผมได้รู้จักตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งถ้าไม่มีหนังสือชุดนี้ ก็อาจต้องรอถึงระดับม.6 ที่หนังสือในหลักสูตรกระทรวงศึกษาพูดถึง เช่นกูเตนเบิร์กและนักเดินทางที่กล่าวมา หรือนักคิดในยุครู้แจ้ง ฯลฯ แน่นอนว่านักอ่านที่แท้จริง ย่อมรอจนถึงอายุขนาดนั้นไม่ได้ ยังไงต้องอ่านเจอจากที่ใดก่อนอยู่แล้ว

แต่ที่มันติดอยู่ในใจผมมาตลอดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวของนักคิดนักต่อสู้ฝ่ายซ้าย ตั้งแต่มาร์กซ ไปจนถึงเลนิน ไปจนถึงเหมาเจ๋อตุง ที่เข้ามาอยู่ในมณฑลทางความคิดของผู้เขียนพร้อมๆ กับแนวคิดการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อ่อนๆ จากหลักสูตรการศึกษาของรัฐไทย เพราะมันเกิดการปะทะกันในพื้นที่ทางความคิดของผม เนื่องจากในบรรดา 143 คนในหนังสือนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่สำคัญในระดับ Ground Breaking จริงๆ ตั้งแต่ศาสดา นักต่อสู้ นักคิด นักวิทย์ ฯลฯ ดังนั้นแล้วนักคิดฝ่ายซ้ายเหล่านั้นก็ควรจะมีความสำคัญ แต่ทำไมจึงมีความคิดว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็นของไม่ดี (สังเกตว่า การใช้คำว่าลัทธิมันเป็นคำในแง่ลบในตัวเองอยู่แล้ว) การปะทะกันทางความคิดเหล่านี้ ติดตัวผมมาจนตั้งแต่เด็กไปจนถึงช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงช่วงเรียนจบปริญญาตรีที่เริ่มแยกออกว่ามันเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่งเท่านั้น ส่วนเรื่องการรวมศูนย์อำนาจรัฐ ไปจนถึงการปกครองเป็นเผด็จการก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พิจารณาแยกกันได้

คนไทยทั้งห้าท่านที่ถูกรวมไว้ใน 143 คนนี้ ประกอบไปด้วย พุทธทาสภิกขุ, ประยูร จันยาวงษ์, สุนทรภู่, ปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ้งภากรณ์ ในตอนแรกที่ได้อ่าน ผู้เขียนแทบไม่คุ้นเคยกับชื่อเหล่านี้เลยยกเว้นสุนทรภู่ ซึ่งอยู่ในแบบเรียนอยู่แล้ว ขณะที่ชื่ออื่นๆ กลับค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นระหว่างการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศไทยโดยเฉพาะสองคนหลัง นั้นหมายความว่าหากไม่มีหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอาจไม่รู้จักสองท่านหลังเลย หากไม่ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์หรืออ่านหนังสือเพิ่ม

และที่น่าแปลกใจอีกอย่างคือหนังสือเล่มนี้กลับไม่ใส่รายชื่อกษัตริย์ไทยระดับที่ว่าสำคัญมากที่เราพบเจอในแบบเรียนอย่างพระนเรศวร พระเจ้าตากสิน พระพุทธยอดฟ้าฯ พระจุลจอมเกล้า หรือแม้แต่รัชกาลปัจจุบันที่ว่ากันว่าทรงงานหนักมากอีกด้วย มีเพียงพ่อขุนรามคำแหงองค์เดียวเท่านั้น

ขณะที่หนังสือเล่มนี้เนื้อหาต้นฉบับมาจากคนญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีคนญี่ปุ่นแนะนำเลยเช่นกัน และมีนักคิด นักเขียน กษัตริย์จีน ตั้งแต่จิ๋นซี ขงจื๊อ ไปจนถึงหลู่ซิ่น ซุนยัดเซ็น

ต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดทำและสำนักพิมพ์ ตลอดจนถึงผู้ยกหนังสือชุดนี้ให้ครอบครัวผมมา ณ ที่นี้ด้วยครับ มีเรื่องขำเล็กๆ คือหนังสือชุดนี้ถูกยกให้แล้วครั้งแรก แต่ครอบครัวผู้ให้มีความขัดแย้งกันระหว่างพี่ชายกับน้องชายท่ี่จะตัดสินใจจะให้หรือไม่ให้ แต่สุดท้ายพี่ชายก็ยกให้จนได้ในที่สุด

การให้หนังสือดีๆ ต่อคนที่เรารัก ที่เราเห็นความสำคัญนั้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะกระทำอย่างไม่ลังเลเลย เพราะมันอาจไปวางรากฐานชีวิตให้กับพวกเขา ณ จุดใดจุดหนึ่งก็เป็นได้

5 Comments

  1. โอ๊ะ หนังสือวัยเด็กผมเหมือนกัน (ได้รับโละต่อมาจากครอบครัวญาติ) จำไม่ได้แล้วว่า เล่มอื่นมีอะไรบ้าง (มีอีกชุดที่คล้ายๆ กันด้วย) แต่พอจะจำได้ว่า ก็ชอบเล่มนี้พอสมควร (ถึงจะไม่ได้จำเนื้อหามันได้เท่าไหร่ก็ตาม)

  2. หนังสือชุดนี้ และอีกชุดที่ออกมาก่อน จำได้ลางๆ ว่าชื่อ วิทยาศาสตร์แสนสนุก ผมชอบมากตั้งแต่ยังเด็กครับ (หลังจากนั้นก็มีชุดอื่นๆ ตามมาเช่น คณิตศาสตร์ การทดลอง ฯลฯ แต่ไม่ดีเท่าสองชุดแรก ที่เหมือนการย่อสารานุกรมมาเป็นฉบับการ์ตูน) จำได้ว่าเป็นของราคาแพงชิ้นแรกๆ ที่ขอร้องให้แม่ซื้อให้ เพราะผมซื้อแบบปกแข็ง มีกล่องเก็บเป็นเซตครับ ชุดที่สองนี้เป็นชุดที่ผมชอบมากที่สุดเหมือนกัน แต่เล่มที่ชอบที่สุดในตอนนั้นคือ "ผี วิญญาณ สัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่?"

  3. narin1975

    หนังสือในดวงใจครับ ชอบทั้งเก้าเล่มเลย

  4. Werawat Wera

    ดีใจมากครับ ในนี้ มีแต่เพืิ่อนฝูงที่นับถือมา

  5. เป็นหนังสือที่ยังอยู่ในความทรงจำตลอด อ่านตั้งแต่ประถม ถึงมหาลัย จำได้ว่าอาจารย์มหาลัยให้ทำรายงานการปฏิวัติจีน เรายังถ่ายเอกสารหน้าเหมาเจ่อตุง แจกให้เพื่อนๆในห้องด้วยประกอบการบรรยาย และตอบคำถามอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ เป็นคำถามว่าบุคคลคนนี้คือใคร คำใบ้แค่ว่าหนวด เราตอบทันทีว่า ลินคอน อาจารย์งงว่าเราตอบได้ไง ทำไมถึงคิดว่าลินคอน อยากบอกว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก ตอนนี้พยายามหาซื้อไว้ให้ลูกอ่าน แต่ยังหาไม่ได้ เสียดายของเราหายไปตั้งแต่ช่วงมหาลัย ขนไปขนมา หาไม่เจอเลย TT

Leave a Reply to chayanin Cancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.