บังเอิญไปอ่านหนังสือเฉินหลงเล่มล่าสุด และในนั้นมีอธิบายรายละเอียดที่น่าสนใจของหนังแต่ละเรื่องที่เขาเล่น
คือหนังสือเฉินหลงเป็นแนวอ่านง่าย ๆ แบบหนังของเขาเลย ผมคิดว่าน่าจะเป็นจากที่เขาเล่า และให้นักเขียนผู้ช่วยของเขาเรียบเรียงเป็นตอน ๆ คือถ้าเป็นแฟนคลับอยู่แล้ว ยิ่งอ่านง่ายมาก เพราะเวลาเขาเล่าเรื่องไหน จากหนังเรื่องอะไรก็น่าจะนึกออกกันหมด แต่ผมดูน้อยมาก น่าจะ 10% ของทั้งหมด แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่เคยลืมเลยคือวิ่งสู้ฟัด เพราะมันฉายหนังกลางแปลง และดูสนุกมากในวัยเด็ก
เสน่ห์ของหนังเฉินหลงคือเล่นจริง เจ็บจริง เพราะเขารู้สึกเสมอว่าการใช้ Stuntman หรือคนอื่น ๆ มาช่วยมันจะทำให้ดูไม่จริง เพราะคนดูรู้ และที่เขาเล่นเพราะอาชีพเขาก่อนจะมาเป็นนักแสดงนำก็คือ Stuntman ให้กับคนอื่น ๆ นี่เอง มีการสร้างทีมงานส่วนตัวจนกลายเป็นทีมดังที่แม้แต่นักแสดงผาดโผนจากฮอลลิวูดยังต้องศึกษา (อ้างมาจากหนังสือ)
คือเฉินหลงก็เล่าเรื่องค่อนข้าง Honest คือไม่ได้โอ้อวดตัวเกินไป ที่ว่านักแสดงจากฮอลลิวูดยังต้องศึกษา เพราะซิลเวสเตอร์ สตอลโลนเชิญเขาไปพบที่ USA แต่พอไปถึงแล้วพบม้วนวิดีโอ VHS ของเขาเต็มคันรถของสตอลโลน โดยสตอลโลนบอกเองว่าเขาให้ทีมของเขาศึกษามันเหมือนเป็น Instruction ซ้ำในหนังสือยังเผยด้านมืดของเขาหลายเรื่อง อาจเพราะอายุก็ 60 กว่าแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพคนดีอะไรมากมาย
หนังเรื่องวิ่งสู้ฟัด หรือ Police Story ประสบความสำเร็จจนมีหลายภาคตามมา แถมฉากที่ผู้คนจดจำคือตอนรูดเสาลงมากลางห้าง ก็เป็นชอตลายเซ็นที่ใครที่เคยดูต้องจำได้
จะไม่ขอสปอยสำหรับคนที่ยังไม่ดูและอยากดูนะครับ คือฉากหนังในฮ่องกงของปี 1985 บางทีคุณอาจคิดถึงเมืองไทยตอนนี้ เพราะมีส่วนคล้ายกันอยู่ แต่ถ้าคุณไปฮ่องกงตอนนี้ ก็แทบจะไม่เห็นเท่าไรแล้ว เพราะเขาพัฒนาไปไกลกว่าจุดนั้นอีกมาก แต่ดูแล้วคิดถึงวัยเด็กจริง ๆ
ถัดมาอีกเรื่อง Die Hard (1988) iTunes ลดราคาเหลือ 199 อันนี้คือหนังสุดมันวัยเด็กเช่นเดียวกัน แถมมี Theme Chrismast อีก ผมจำได้ว่าดูครั้งแรกตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าอเมริกามันดูเจริญมาก ๆ รถลิโม่คันใหญ่ วิ่งวนเข้าไปจอดในลาน มีตึกสูง มีงานปาร์ตี้ เพลงคริสมาส ฯลฯ คือดูแล้วน่าจะมีความสุขดี
วันนี้ดูอีกรอบ ก็พบว่าหลายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ที่น่าทึ่งเล็ก ๆ คือจอทัชสกรีนสำหรับค้นหาชื่อคนในตึก หนังเดินเรื่องเนี๊ยบมาก กระชับแต่เท่กว่าหนังจากฝั่งเอเชีย (ก็ทุนเขาไม่เท่ากัน อันนี้เฉินหลงเองก็พูดถึงในหนังสือ เกี่ยวกับทุนสร้างหนังอเมริกัน)
แต่ทั้งสองเรื่องมีจุดบอดที่การดูหนังวันนี้แล้วไม่ค่อยมันเท่าที่ควร คือเรื่อง “เสียง” ครับ คือเสียงอาวุธ ระเบิด นี่ทำสู้หนังยุคใหม่ไม่ได้ อันที่คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางเสียงของหนังยุคใหม่คือเรื่อง Black Hawk Down (2001) ที่ให้เสียงสมจริงมาก และเกมที่เกิดร่วมสมัยเดียวกัน เสียงก็ดีมากจริง ๆ เพราะบันทึกจากของจริง แต่หนังยุค 80 มีปัญหาเรื่องเสียงจริง ยิ่งเอเชียยิ่งด้อยกว่าอีกระดับ ส่วนฉากบู้ หนังเฉินหลงแม้จะเล่นจริงแสดงจริง แต่หลายฉากก็เห็นอยู่ว่ามีการยั้ง ๆ เป็น Die Hard ที่เราจับผิดได้น้อยกว่า เพราะดูสมจริงกว่า แค่ actions ไม่เยอะเท่าเฉินหลงและความน่าสนใจของเอเชียทำได้ดีกว่า เพราะเขาตั้งใจขายส่วนนี้ ส่วน Die Hard จะขายภาพรวมของหนังทุกอย่าง
และทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะจุดประกายไอเดียใหม่ของหนัง เช่นหนังเฉินหลงจะเป็นตลกแอคชั่น ส่วน Die Hard นั้นเป็นการเริ่มต้นแนวลุยเดียวแบบเหนื่อย ๆ หน่อย พระเอกตอนจบนี่แทบตาย
วันหยุดนี้ ใครรำลึกอดีต ก็แนะนำให้ขุดหนังเก่า ๆ มาดูกันครับ ไม่จำเป็นต้องเรื่องนี้ก็ได้ ยุคนี้ดีอย่างที่อยากดูเรื่องอะไร มักจะมีขาย เช่า หรือหาดูได้ฟรีครับ