ผมอยู่ NZ ไปที่ไหน ก็มักจะเห็น Monument หรือหลักศิลาที่จารึกชื่อของทหารที่ส่งไปร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ NZ เป็นส่วนหนึ่งของ British Empire จึงส่งทหารไปร่วมรบแต่แรก แต่เสียชีวิตเยอะพอสมควร ทุกเมืองที่ส่งทหารไป มีชื่อคนไปและเสียชีวิตจารึกไว้หมด เลยมาคิดถึงของไทยบ้าง ในฐานะที่ผมได้หนังสือ Siam and World War I: An International History ตั้งแต่อยู่ไทย
ผมมีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสยามเวลานั้นเล่าสู่กันฟัง บางอันคุณอาจตกใจเล็ก ๆ
- สยามไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใครในยุโรป อันที่จริงคือเป็นมิตรทั้งอังกฤษและเยอรมัน ยอดการค้าขายระหว่างสยามกับเยอรมันต่อปีในตอนนั้นอยู่ที่ 22 ล้านมาร์ค สยามมีคนเยอรมันทำงานอยู่ในรัฐบาลถึง 48 คน มีหนึ่งคนช่วยเซตระบบหอสมุดแห่งชาติ อีกคนดูแลและกำกับ SCB (แบงก์สยามกัมมาจล) ในขณะที่สยามมีเพื่อนบ้านประชิดซ้ายขวาอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เยอรมันไม่ได้มีภัยต่อสยามในแง่นี้เลย แต่ยังไงอังกฤษมีส่วนสำคัญในการค้าขายข้าวกับไทย กรณีแบบนี้การวางตัวเป็นกลางจึงดีที่สุด เพราะไม่มีเหตุผลที่จะลงสงครามไปเพื่อใคร
- ส่วนในบรรดา Prince (เจ้าฟ้า) มีเสียงที่แตกกัน บางคนชอบอังกฤษ (Devawongse Varoprakar เจ้ากระทรวงต่างประเทศ), กษัตริย์วชิราวุธ (เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ), บางคนเรียนอยู่เยอรมัน (Mahidol Adulyadej) บางคนชอบรัสเซีย ฝรั่งเศส แต่ไม่ชอบอังกฤษ (Chakrabongse Bhuvanath) รายหลังนี้อยากทำสงครามด้วย ซึ่งในตอนท้ายแล้วเป็นคนสร้างกองกำลังรบในสงครามนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ผมไม่ได้ยกมา แต่ล้วนแล้วมีความคิดเห็นของตัวเองหมดครับ ว่าชอบใครไม่ชอบใคร
- แต่ถึงไม่ได้รบ ผลจากสงครามก็ส่งผลถึงสยามอยู่ดี เศรษฐกิจซบตัวรุนแรง เรือที่เข้ามาเทียบท่าหายไป เรือของเยอรมันที่เทียบท่าที่ฮ่องกงกับสิงคโปร์ต้องมาขอจอดที่สยามแทน ราคาสินค้านำเข้าขึ้น 30-40% การสร้างทางรถไฟหยุดชะงัก เพราะหาโลหะหนักกับซีเมนต์ไม่ได้ แม้ต่อมาราคาสินค้ากลับเข้าสู่ปกติช่วงเดือนสิงหา เพราะเรืออังกฤษและนอร์เวย์กลับมาทำการขายได้ใหม่ แต่ธุรกิจเยอรมันในไทยประสบปัญหาหนัก ในปีถัดมาบริษัทการค้าเยอรมัน-สยาม (Deutsch-Siamesische Handelsgesellschaft) ต้องเซ้งกิจการต่อ
- Prince Mahidol ยังเรียนอยู่ที่เยอรมันตอนสงครามเริ่ม และมีการขอให้ไปอยู่ในรัฐที่เป็นกลางในตอนนั้น แต่ Prince ยังไม่ไปทันทีจนถึงปีถัดไป ส่วน Prince Prajadhipok (ต่อมาคือ ร.7) นี่ตอนนั้นทำงานในกองทัพเยอรมัน ก็ถูกขอให้ออกจากตำแหน่งเพื่อให้ตรงกับการที่สยามประกาศตัวเป็นกลาง
- ระหว่างที่สยามวางตัวเป็นกลางอยู่นั้น ทางเยอรมันก็มีแผนปฏิบัติการ โดยใช้สยามเป็นตัวเชื่อมระหว่างอเมริกาเหนือกับชายแดนพม่า โดยจะปั้นกองกำลัง 10,000 คน เพื่อล้ม British Empire ในอินเดีย เงินทุนส่งจากอเมริกา และกงสุลเยอรมันในไทยมีส่วนช่วย ปฏิบัติการนี้สำเร็จบางส่วน
- มาดูฝั่งบริติช ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามนั้นอยู่ข้างสัมพันธมิตร (Entente) แต่แรกแล้ว ส่วนเยอรมันก็ตอบโต้ด้วยหนังสือพิมพ์ของตัวเอง Umschau ตอนนั้นแผนการของเยอรมันในอินเดียแตก โดยคนสยามทำงานร่วมกับบริติช ทำให้ทางบริติชพอใจมาก กษัติรย์วชิราวุธนอกจากจะแสดงตัวในปีถัดมาว่าอยู่ข้างไหน ยังบริจาคเงินช่วยเหลือแม่ม่ายและลูกกำพร้าของกองกำลัง Durham Light Infantry ซึ่งเป็นที่ที่ตัวกษัตริย์เองเคยรับใช้
- ผลคือ King George V มอบตำแหน่งนายพลกิตติมศักดิ์ (honorary generalship) ให้กับกษัตริย์วชิราวุธ ทางสยามเลยมอบกลับให้ทางอังกฤษบ้าง (มิงั้นมันจะดูเหมือนว่าใครเป็นนายใคร) ต่อมาทางเยอรมันจมเรือบริติช RMS Lusitania ด้วยเรือดำน้ำยิงตอปิโดใส่ เหตุการณ์นี้ ร.6 ถึงกับต้องเขียนบทความยาวประนามการกระทำลงในวารสารทหารเรือชื่อ ‘สมุทสาร’ โดยใช้นามแฝง เพื่อให้ไม่สาธารณชนรู้ว่าตัวเองมีความคิดเห็นแบบใด
- แต่ในที่สุดสยามก็ประกาศร่วมสงครามอยู่ดี ในปี 1917 หรือ 3 ปีหลังจากจุดเริ่มสงคราม โดยอาศัยใช้เหตุการณ์นี้เป็นตัวโปรโมทความเป็นชาติสยามในระดับนานาชาติ มีการออกแบบธงไตรรงค์ใหม่ (จากธงช้างเผือก) เรือเยอรมันที่จอดอยู่ในท่าเรือสยาม 12 ลำถูกยึด คนเยอรมันในสยามโดนจับและส่งไปอินเดีย เพื่อรวมกับคนเยอรมันอื่นในแคมป์ควบคุมตัว
- กองกำลังเข้าร่วมรบ เป็น ‘กองกำลังอาสา’ จำนวน 1284 นาย นำมาฝึกในปี 1917 และส่งไปยุโรปนำโดย Major General Phraya Pichai Charnyari (เดาว่าพระยาพิชัย ชาญฤทธิ์-พระยาพิชัยคือตำแหน่ง) เรือจอดที่เมืองมาร์เซย์ Marseille วันที่ 30 July 1918 จุดน่าสนใจของกรณีนี้คือ สยามส่งทหารไปโดยไม่มีเสื้อหนาวใส่!! เดือดร้อนทางโน้นให้ช่วยหาเสื้อหนาวให้ (ผมอยากให้ผู้อ่านลองทบทวนมุมมองและความเห็นของคนที่ส่งทหารไปโดยไม่มีเสื้อหนาว)
- แต่ไปถึงแล้ว มีเสื้อหนาวแล้วก็ยังไม่ได้รบทันที 5 วันถัดมา นักบินและกองกำลังพื้นดินถูกส่งไปยัง 4 เมืองในฝรั่งเศสเพื่อฝึก เพราะอย่างนักบิน ยังไม่สามารถทนต่อการสู้รบในที่สูงได้ บางส่วนถูกแบ่งออกไปเป็นแรงงานอาสาในแนวหน้าของการต่อสู้ครั้งที่สองที่มาร์น Marne รอบนั้นนี่ตัวแม่ทัพพระยาพิชัย ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ในหลุมเพาะ ต่อมากำลังภาคพื้นดินได้เข้าสู้รบในแนวหน้าถึงกลางเดือนกันยายน
- ในช่วงเวลาเดียวกัน ทีมแพทย์และทีมยานยนต์ส่งไปแนวหน้าในการบุกที่ Meuse River–Argonne Forest (Meuse–Argonne offensive) ส่วนทีมนักบินยังฝึกไม่เสร็จในตอนที่มีการเซ็นสัญญาหยุดยิงในเดือนพฤศจิกายน (Armistice of 11 November 1918) แต่กองกำลังภาคพื้นดินมีประสบการณ์รบมาแล้ว แล้วได้รางวัล Croix de Guerre, Order of Rama และยังมีส่วนในการเข้ายึดเมือง Neustadt an der Haardt และจบสวย ๆ ในการเดินพาเหรดที่ปารีส
- จบสงคราม สยามได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาแวร์ซาย และเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nations) ผลคือสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสเลิกเคลมสิทธิเหนือสยาม เรือเยอรมันที่สยามยึดไว้ ก็ได้ไปเลย (ผมนี่สงสารผู้ประกอบการเยอรมันมาก)
- ยอดผู้เสียชีวิต 19 คน (2 คนตายก่อนออกไปฝรั่งเศส-อันนี้น่าสงสัยมาก ว่าตายยังไง) อีก 17 คนตายด้วยอุบัติเหตุหรือโรคภัย มีอนุสรณ์สถานที่สนามหลวง และคนสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ คือคุณยอด แสงรุ่งเรือง (Yod Sangrungruang) เสียชีวิตในปี 2003 อายุ 106 ปี
Source:
- Siam and World War I: An International History
- https://en.wikipedia.org/wiki/Siam_in_World_War_I
- https://en.wikipedia.org/wiki/Siamese_Expeditionary_Forces
#ประวัติศาสตร์นอกหนังสือเรียน
Trackbacks for this post