“บุญคุณแผ่นดิน” มายาคติหรือความจำเป็น

การเติบโตมาในสังคมที่รับอิทธิพลบางส่วนจากขงจื้อมันคงหลีกเลี่ยงแนวคิดอย่างความกตัญญูตอบแทนพระคุณซึ่งผมรับมาเต็มๆ

การเข้าระบบการศึกษาไทย คุณจะเจอแนวคิดอย่าง “ตอบแทนพระคุณแผ่นดิน” ทั้งจากวาทกรรมและวรรณกรรมอยู่บ่อย ๆ จนมันซึมซับเข้าไปในสายเลือด จนกระทั่งผมค้นพบความจริงอย่างหนึ่ง ว่าการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (ตอนนั้น) รัฐจะอุดหนุนการศึกษาตกคนละแสนกว่าบาทต่อปี คือที่เราจ่ายค่าเทอมกันถูก ๆ นั่นหรือการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมในการดูแลของรัฐ รัฐล้วนส่งค่าใช้จ่ายคิดเป็นต่อหัวมาให้

ตอนนั้นทำให้ผมเกิดความคิดใหม่ว่าจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องของแผ่นดินที่ไม่มีชีวิตแต่ผมติดหนี้บุญคุณคนไทยเราทุกคนคนที่ทำงานหรือใช้จ่ายซึ่งเป็นภาษีให้รัฐอีกที

หรือพูดง่าย ๆ คือที่เรามาถึงวันนี้ นอกจากพ่อแม่ญาติพี่น้องแล้ว คนไทยในนามแห่งรัฐก็ล้วนมีส่วนผลักดันให้เรามาถึงจุดนี้ได้

แต่ก็มาฉุกคิดอีกทีสมมติคุณมีลูกหรือมีหลานเกิดขึ้นในบ้านคุณ คุณจะต้องทำทุกอย่างเพื่อผลักดันพวกเขาไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพของเราและของเขาจะช่วยกันไปได้ถึง ส่วนหนึ่งคือเรื่องความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูล อีกส่วนคือเป็นหน้าที่ของคนที่เกิดมาก่อนที่ต้องเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่

จากระดับครอบครัวเป็นระดับรัฐ การที่รัฐเตรียมการศึกษาให้คนรุ่นใหม่ นี่ก็ไม่ใช่ความดีงามเพียว ๆ แต่เป็นเรื่องที่ ต้องทำ ลองคิดถึงการที่รัฐไม่เตรียมอะไรไว้ ปล่อยให้คนโตมาอย่างตามมีตามเกิดดูสิครับ (ภาพทะเลทรายซับซาฮารันลอยมาทันที)

สิ่งที่รัฐจะได้มา คือคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นมาคนทำงานในอนาคต ทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคม และกลไกสำคัญคือการจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐทำงานได้ต่อไป มันคือ Eco-System ระบบนิเวศหรือบ้านในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

จะเกิดอะไร หากคนเหล่านั้นไม่ต้องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน หนีไปทำงานที่บ้านอื่น?

เรื่องนี้เป็นปัญหามานานแล้วล่ะครับ (หรือจริง ๆ ไม่ใช่ปัญหา) พอการเดินทางสะดวกขึ้น คนย้ายถิ่นฐานมากขึ้น พวกเขาก็ไป ตั้งแต่ความจำเป็นคือไม่มีจะกิน (แดก) แล้วต้องไป หรือไปเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า คือเรื่องนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยบรรพกาลแล้วล่ะครับ

คำถามคือพวกเขาผิดอะไร?

พวกเขาไม่ผิดเลยครับ คุณจะยอมทำงานหนักเพื่อเงินอันน้อยนิด และไม่สามารถคิดฝันถึงอนาคตไปทำไม ถ้าคุณมีทางเลือกที่ดีกว่า?

มันเป็นรัฐเอง ที่ไม่สามารถสร้างอนาคตให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมด้วยได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไม รัฐเองก็พูดไม่เต็มปากเรื่อง “สมองไหล”

แผ่นดิน แผ่นดิน แผ่นดิน

เราย้ายตัวเองจากแผ่นดินหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งอันที่จริงคุณอาจกำลังอยู่ในแผ่นดินขนาดใหญ่ผืนเดียวกันที่เรียกว่ายูเรเซีย แต่มันถูกแบ่งโดยเส้นสมมติซึ่งภาคการเมืองระดับประเทศเป็นผู้แบ่งมัน

การย้ายถิ่นฐาน ถาวรหรือชั่วคราว มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเพาะปลูกเสียอีก คนหรือสัตว์ อาจเพียงแค่หนีหนาว หนีความอดอยาก ภัยธรรมชาติ จนไปถึงภัยการเมืองที่เรียกว่าสงคราม มันเป็นสิทธิ์ระดับบุคคลที่เราพึงมีก่อนที่รัฐจะมีระบบวีซ่า

สำนึกเรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของผมค่อย ๆ จางหายไป สำนึกในการเห็นคุณค่าในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เข้ามาแทนที่ ในฐานะบ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่ร่วมกัน

และทุกครั้งที่ได้ยินใครพยายามจะยกวาทกรรมนี้มาใช้โจมตีผู้อื่น โดยเฉพาะในประเด็นทางการเมือง ร่างกายผมจะส่ง Antibody ออกมาทันที ด้วยคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “Bullshit!”

เดรดิตภาพ: nasa.org

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.