ข้อสังเกตระหว่างอักษรเขมร-ไทย จากคนเพิ่งมาได้ 1 วัน

ณ​ เวลาที่เขียนอยู่ ผมอยู่ที่นี่ใกล้ครบ 24 ชั่วโมงพอดี หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เจอ สร้างความประหลาดใจอยู่บ้าง แม้จะอ่านและรู้มาก่อนถึงความใกล้ชิดของระหว่างไทยกับเขมร ในลักษณะที่ชนชั้นนำเองก็ไม่อยากให้เปิดเผยเท่าไร

อย่างแรกคือตัวอักษร หรือ Khmer Script สิ่งที่ผมพอจะรู้มาก่อน คือคำไทยที่มาจากเขมร ที่มาไล่เอาดูแล้ว มันก็เยอะมาก แม้บางส่วนจะมาจากอินเดีย แต่เป็นเขมรที่รับมาก่อน เพราะปกครองดินแดนแถวนี้ก่อนที่คนไตจะลงมาจากทางเหนือ เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ในสมัยสุโขทัย-ละโว้

ก่อนมานั่งดูการเทียบตัวอักษร สระ-พยัญชนะ ที่หลายอย่างมีความคล้ายกันมาก ตัวอักษรบางตัว ถอดรูป ถอดเสียงมา บางตัวเอามาแต่เสียง คำที่เหมือนกันระหว่างสองภาษาจึงมีเสียงที่ต่างกันในลักษณะที่เดาได้

ในเบื้องต้นผมจะไม่ลงรายละเอียดมาก แค่อยากแชร์ทิปเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นข้อสังเกต เช่น

  • คำควบกล้ำ โดยเฉพาะที่มี ร เรือ ในนั้น ให้สัญนิษฐานกันก่อนว่าคำเขมร เช่นคำอย่าง พระ เปรียญ เจริญ
  • หรือจริง ๆ คำที่มี ร เรือ ในนั้น มีโอกาสเป็นคำเขมรสูงมาก เช่น การ เรียน ประชุม
  • คำที่มี ศ ศาลา นี่ เขมรเต็ม ๆ Update: ตรงส่วนนี้คุณธงเอกแย้งมาว่ามาจากสันสกฤต เช่น ศาลา ศาล ศาสนา (โรงเรียน -> ศาลาเรียน, ศาล -> ตุลาการ) ที่สนใจคือรูปเหมือนมากครับ เช่น សាសនា ศาสนา
  • สระ เอ อา โอ เอีย โอง อิ อี อึ อือ นี่มีจัดในตัวเขียนเขมร ซึ่งแน่นอนว่าไทยยืมมา ไม่ใช่ว่าคำไทยแท้ ๆ จะเป็นคำเขมรทุกคำ แต่คำไทยโบราณคำไหนมีเสียง สระเอ สระโอง สระเอียน สระเอิน อะไรแบบนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมาจากเขมร
  • ตัวเลข อันนี้หลายคนทราบมาก่อนแล้ว ตัวเลขไทย คือตัวเลขเขมร  ๑ ๒​ ๓ ๔ ๕ ๖​ ๗ ๘ ๙
  • ข้อสังเกตอีกอย่างคือตัวอักษรไทย ที่มีตัวหยักเยอะ ๆ นี่ยืมมาจากเขมรชัว เช่น ซ ฆ ฐ ฒ ฬ เคยสงสัยว่าตัวอักษรเหล่านี้จะเยอะไปไหน มาเจอตัวเขมรแท้ ๆ ภาษาไทยนี่อ่านง่ายไปเลย

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อสังเกตที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการมาอธิบายนะครับ ใครที่เรียนมาโดยตรงน่าจะอธิบายรายละเอียดได้ดีกว่า หรือหากผมเข้าใจผิดตรงส่วนไหน ก็ทักมาได้

คำอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มาถึงที่นี่ ป้ายแรกที่อ่านออกเลย คือคำว่า ถนน (វិថី) หรือวิถี ที่คนไทยคุ้นเคยดี ถนนใหญ่จะใช้คำว่า មហាវិថី หรือมหาวิถี ซึ่งตามป้ายอาจย่อเหลือ ម.វិថី 

อีกคำคือ ธนาคาร ធនាគារ สังเกตว่าวิธีการเขียนยังใกล้กัน โดยเฉพาะตัวหลัง “คาร” คำ ธนาคาร ผมเดาว่าเป็นคำสมาธิ “ธนา + อาคาร” 

คำในภาษาเขมร ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน กลับอยู่ในราชาศัพท์ คงไม่ต้องอธิบายเหตุผลมากว่าทำไม คำว่าศัพท์ (សព្ទ) เป็นคำเขมร แปลว่าเสียง ส่วนราชานั้นมาจาก Raj ในอินเดีย เขมรออกเสียงประมาณ Reachea

เขียน ๆ อยู่นี่ในร้านกาแฟเกาหลี (Cafe Bene) คนเขมรนั่งอยู่ห่าง ๆ เปิดเพลงเสียงดัง คล้ายกับเพลงไทยเดิม ที่มีระนาดเป็นตัวนำ แต่เสียงร้องนี่ภาษาเขมร ในใจผมคิดทันทีว่า เหมือนเพลงไทยเดิมเลยนี่หว่า คนเขมรอาจตอบกลับทันควันว่า “พวกมึงนั่นแหละ ที่เหมือนกู”

ภาพประกอบ: The Throne Hall of Royal Palace, Cambodia (via Wikimedia)

3 Comments

  1. เขียนได้ด้วยเหรอ เก่งมากอ่ะ

  2. ultimateohm

    ส่วน ม ม้า กับ ย ยักษ์ คล้ายๆ อักษรเทวนาครีล่ะครับ (य = ย, म = ม)

    • PHz (Author)

      เหมือนซะ 55+ สมัยนึงผมก็บ้าแกะรอยสันสกฤตครับ สนุกดี

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.