ผมเคยสงสัยว่าทำไมคนจีน ถึงชอบอะไรที่มันเป็นคำคมมาก สังเกตจากการดูหนังจีนหรืองิ้ว (ก่อนหนังกลางแปลงจะมีการฉายงิ้ว หรือละครจีนที่ชอบพูดเรื่องเทพเจ้า)
คำคมในที่นี้คือ คำพูดหรือข้อความสั้น แต่มีความหมายที่กินใจหรือลึกซึ้ง (ในมุมของผู้รับสาร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับอะไรแบบนั้น)
ในภาษาไทยมีคำเรียกอีกอย่างว่าสุภาษิต (ผมไม่แน่ใจว่าใช้แทนกันได้หรือไม่) สุภาษิตคือคำคมที่พูดต่อๆ กันมานาน จนผู้คนในสังคมจำกันได้ ขณะที่คำคมประดิษฐ์ใหม่ได้ทุกวันที่ต้องการ
และถ้าพูดถึงสุภาษิต เราอาจพบว่าคนทุกชาติพันธุ์ต่างมีสุภาษิต ในฐานะคำสอนที่พูดต่อกันมาทั้งสิ้น แต่พอมาดูของไทย-จีน ซึ่งเราจะพบว่ามันใกล้กันมาก ระดับสุภาษิตไทยที่เราคุ้นเคยกันหลายคำ ถ้าเราค้นดีๆ จะพบว่ามันถูกแปลมาจากภาษาจีนระดับคำต่อคำ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, เหยียบเรือสองแคม ฯลฯ
การที่มันสามารถถอดความได้แบบคำต่อคำ เพราะภาษาไทยกับจีน มีรูปแบบโครงสร้างภาษา การวางตำแหน่งคำ (syntax) ที่ตรงกันมากนั่นเอง
*ทีนี้พอคำมันสั้น กระชับ แต่เราสามารถนำไปสร้างความหมายที่กว้าง ลึก จากการใช้อุปมาโวหาร ทำให้คนนิยมข้อความแบบนี้ ทั้งในรูปแบบสุภาษิตสมัยเก่า กับคำคมที่นิยมกันในสมัยใหม่*
ในขณะที่ภาษาอย่างตะวันตกที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย คือมี Verb to be, Verb to do, Tenses กล่าวคือมีความซับซ้อนมากกว่า ทำให้คำคมมันไม่ทำงานแบบภาษาไทย-จีน
จุดที่ผมค้นพบอีกอย่างหนึ่ง คือในภาษาไทยแบบราชการ ที่มักจะนิยมคำยาวๆ ที่ผสมมาจากภาษาจากฝั่งอินเดีย หรือใช้โครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนชวนงง กลับไม่มีคำเหล่านั้นอยู่ในพวกคำคม หรือสุภาษิต เพราะคำคม มันต้องการคำง่ายๆ ตรงๆ ไม่ต้องชวนคิดเยอะ เพราะคำคมที่จะทำหน้าที่ให้ลึกจากตัวมันเอง ไม่ได้จากคำที่ชวนเข้าใจยากแต่แรก
ซึ่งกรณีนี้ ให้ดูจากคำคมที่มาจากอินเดีย เช่น นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ : ความสุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี” คำคมต้องการคำง่ายๆ เพื่อให้คนตีความจากจุดนั้น
ในขณะที่ภาษาอังกฤษที่มีคำขยายได้เยอะ (Descriptive Language) สามารถใช้คำคุณศัพท์ต่อกันได้ยาว หรือถ้าจะผสมคำใหม่ๆ ก็ทำได้ (จะเห็นได้เยอะจากภาษาเยอรมันและยุโรปเหนือ) อาจไม่เหมาะกับการประดิษฐ์คำคม แต่เหมาะกับการเขียนอธิบายความ เช่นบทความทางวิทยาศาสตร์ นิยาย ฯลฯ ส่วนภาษาจีน-ไทย เวลาประดิษฐ์คำใหม่จากการรวมคำเดิม จะทำได้ไม่เยอะนัก ได้ 2-3 คำ เช่นเครื่องบิน ถ้าต้องการเยอะจากนี้ ภาษาไทยจะใช้ส่วนที่เป็นคำจากอินเดีย ทำให้ความหมายมันไม่ชัดในความรับรู้ของคนไทย (ดูจากชื่อคนไทยที่ตั้งกันแปลกๆ ยาวๆ เป็นต้น)
สรุป: มันคงเป็นเพียงสมมติฐานนะครับ สมัยหนึ่งเราจะพบข้อความที่เป็นคำคม แพร่หลายใน Social เยอะมาก หรือถ้าคุณดูรายการจากจีน เราจะพบคนจีนดังๆ พยายามพูดสั้นๆ เป็นคำคมก็เยอะ ตัวอย่างเช่น แจ๊ค หม่า
ส่วนทางฝั่งตะวันตก พวกเขามีประโยคเด็ดๆ ที่เรียกว่า Quote เหมือนกัน แต่มันจะไม่อ่านแบบกระชับ อย่างที่เราเห็นในภาษาจีน-ไทย