วานนี้โดนลากไปดู “ลัดดาแลนด์” มา ก็เท่ากับว่าผมได้ดูหนังผีไทยที่ว่าเด็ดๆ ต่อเนื่องมาโดยตลอดใน 2-3 ปีหลัง อย่าง “สี่แพร่ง” “ห้าแพร่ง” ครบ ยอมรับว่าทำได้ดีครับ แม้ว่าผมจะไม่ใช่แฟนเรื่องแต่ง (Fiction) เพราะรู้สึกว่าเรื่องจริง (Non-Fiction) ทั้งหลายในโลกนี้นั่นน่าสนใจพอแล้ว ถ้าให้ผมสร้างหนังผีได้ดีระดับนี้นั้น คงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของหนังผีนั้น น่าสนใจสำหรับผมมากพอ ที่จะขอ “ลอง” วิเคราะห์ดูครับว่ามันทำงานยังไง
ภาพ เสียง จังหวะ
อันนี้คงเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนเข้าใจดี ภาพที่มืดสลัว หลอน น่ากลัว ชวนอ้วก เสียงที่ทำงานตรงกับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกให้ไขสันหลังเย็นเฉียบ และจังหวะที่ลงตัวหรือไม่ลงตัว เตรียมล่วงหน้าและเฉียบพลัน
การดูหนังผีนั้น ไม่เหมาะกับการดูบนทีวีเซ็ตปกติอย่างรุนแรง ควรเป็นระบบเสียงที่ผลิตย่านความถี่ต่ำมาก (Subwoofer) และสูงมาก (Tweeter) ในระบบ นอกเหนือจากจอที่ใหญ่พอแล้ว การดูในโรงหนังนั้นสะดวกมาก เพราะมีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไว้แล้ว หรือลงทุนซื้อทีวีจอใหญ่ เครื่องเสียง และปรับแต่งบ้านให้ได้บรรยากาศแบบในโรงหนังครับ
การสร้างชุดความจริงและตรรกะซ้อนขึ้นมาใหม่
จะเห็นว่าหนังผีส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยวิถีชีวิตปกติ จนกระทั่งเกิดจุดขัดแย้ง (Conflict) และนำมันเข้าสู่ชุดตรรกะใหม่ (Set of Logics) ซึ่งเป็นอตรรกะในชีวิตจริง หรือบิดเบือนไปเล็กน้อย (Distorted Reality) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชม เชื่อในสิ่ิงที่กำลังจะเกิดในหนัง เสมือนว่ามันเป็นเรื่องจริง หรือกึ่งจริงกึ่งฝัน ยิ่งคนดูเชื่อมันเท่าไร ก็ยิ่งส่งให้หนังมีความน่ากลัวเท่านั้น เพราะคนดูกำลังโดนคนทำหนังล๊อคเป้ายิงเรียบร้อย
อย่างไรก็ตามครับ ข้อเสียของการสร้างชุดตรรกะใหม่ คือเมื่อถึงจุดจบของหนังแล้วคนทำหนังต้องการจะกลับสู่ตรรกะในชีวิตจริง แล้วทำได้ไม่ดีพอ คนดูจะไม่เชื่อได้เหมือนกัน จากอตรรกะ แล้วจะมาซึ้งด้วยตรรกะปกติในชีวิตจริง มันก็อาจไม่ซึ้งแล้ว
เล่นกับขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ (Human Perception)
เพราะเรารู้ว่ามนุษย์มีขีดจำกัดการมองเห็น การฟังเสียง ฯลฯ หนังจึงเล่นกับการใช้เครื่องมือ หรือสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์อื่น มาช่วยให้มนุษย์ “เห็นผี” จากสิ่งเหล่านั้น เช่นการใช้กล้อง ไมค์ หรือหมา
เรื่องนี้สอดคล้องกับความเชื่อเก่าของคนไทย ที่ว่าหมาหอนเพราะเห็นผีด้วย
แนวคิดทางศาสนา ไสยศาสตร์ ความเชื่อที่เคยมีก่อน
ศาสนาคือความศรัทธาที่คนนอกศาสนาจะมองว่าคือความมืดบอด ขณะที่คนในศาสนาจะมองว่านั่นคือตรรกะ เป็นเหตุ เป็นผล มากพอที่เขาจะศรัทธา และนี่คือจุดที่คนทำหนังเอามาเล่นประจำครับ เมื่อเป็นสามัญสำนึกว่าผีจะอยู่ฝั่งตรงข้ามนักบวช และนักบวชจะต้องกำหราบได้เสมอ แต่ถ้าผีเฮี้ยนมาก นักบวชจะเอาไม่อยู่ นี่คือตัวอย่างการเพิ่มระดับดีกรีความน่ากลัวของผีได้อย่างดี
ปมทางจิต
อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนกลัวมากในหนังผี การที่ตัวละครแสดงออกทางจิต ว่ามีปมอะไรแล้วมีเหตุที่เขาทำพฤติกรรมแปลกๆ ไปจนถึงการเกรี้ยวกราด หรือประสาทหลอน เพราะพวกนี้มันจริงมาก มีตัวอย่างจริงในมนุษย์ ยิ่งการที่พฤติกรรมทางจิตของตัวละคร นำไปสู่การฆาตกรรม หรือแม้แต่จะมีการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้คือการตายจริง ซึ่งผู้เขียนเองกลัวมากกว่าการเจอผีเสียอีก
ทั้งหมดคือสิ่งที่ผู้เขียนนั่งเทียนคิดเอาจากสิ่งที่ดูนะครับ ไม่เคยอ่านตำราการทำหนังผีมาก่อน ดังนั้นหากจะมีผู้สันทัดมาแชร์ความเห็นบ้าง ผมจะยินดีมาก 😀