ในบรรดา “เรื่องราว” ที่เรียนในโรงเรียน ผมเห็นว่าคณิตศาสตร์ เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์สวยงาม และควรค่าแก่การเรียนที่สุด อ่ะ ผมให้วิชา สปช หรือสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต มาเป็นอันดับสองละกัน (ปัจจุบันไม่มีวิชานี้แล้ว)
คำถามต่อมาคือ สิ่งที่เราเห็นว่ามันบริสุทธิ์สวยงาม และมีประโยชน์ ควรค่าแก่การเรียน ทำไมถึงกลายเป็นยาขมของเด็กไทย จากรุ่นสู่รุ่น (ผมได้พูดคุยกับคนจำนวนหนึ่ง หลากหลายวัย มีส่วนน้อยมากๆ ที่บอกว่าชอบคณิตศาสตร์ กลุ่มที่บอกชอบคือพวกที่เรียน Engineer มาด้วยกัน นอกนั้นแทบไม่เหลือเลย) หากต้องการหลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้ ดูผลสอบ Pisa ปี 2012
ผมคิดถึงเรื่องนี้ย้อนกลับไปเกินสิบปี ในช่วงเวลาที่ผมได้คุยกับคนที่เราใส่ใจมากๆ ที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์อย่างรุนแรง กลายมาเป็นข้อสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้ครับ
- ถูกทำให้เป็นยาขมมาตั้งแต่เด็ก
ทุกคนที่ไม่ชอบ จะมีประสบการณ์แย่ๆ จากการเรียนเลข นับย้อนไปยังวัยเด็ก จะด้วยขาดครูที่ถ่ายทอดเก่งๆ ที่แสดงด้านสวยงามให้เห็นได้ หรือมันเป็นปัญหาเชิงระบบกว่านั้น คือถูกทำให้เป็นวิชาที่แปลกแยก จนรู้สึกเข้าไม่ถึง กล่าวคือ ขาดการเชื่อมโยง ”เรื่องราว“ เข้าด้วยกัน พูดแบบภาษาสมัยใหม่คือขาด Story ที่คอยสนับสนุน หรือใช้ศัพท์สูงอย่างขาดการบูรณาการ หรือการเรียนแบบ Phenomenal-based เช่นการนำเรื่องการเงินเข้าไปผูก จนเด็กๆ สามารถเข้าใจวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารอย่างละเอียด เป็นต้น
พอเด็กไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นยาขมมานับแต่นั้น และจะมีปัญหาตอนเรียนสูงขึ้น จนขาดความมั่นใจไปเลย
- สื่อการเรียนการสอนเอง
ผมโชคดีได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีและได้อ่านหนังสือจากต่างประเทศ ทำให้เห็นช่องว่างอันมหาศาลระหว่างสื่อการเรียนนานาชาติกับของท้องถิ่น ในขณะที่หนังสือฝรั่งอธิบายความได้ละเอียด กระชับ แถมผูกเรื่องราวน่าสนใจให้เราเรียนรู้เบื้องหลัง เช่นตอนเรียนแคลคูลัสจะมีเรื่องราวของทั้งฝั่งนิวตันและไลปนีส หรือการคำนวณหอไอเฟลที่แคลคูลัสมีส่วนร่วมสำคัญ มันทำให้หนังสือมีเสน่ห์น่าอ่าน
ข้างต้นนี่เราพูดถึงสื่อในระดับสูงนะครับ กรณีเด็กเล็ก ถ้าเราผูกการวัดในเรขาคณิตไว้กับประวัติศาสตร์อิยิปต์ผู้มีหลักฐานคิดค้นระบบวัดเมื่อ 5000 ปีก่อน (อาจมีมาก่อนนี้แต่กรณีที่มีหลักฐานจับต้องได้) การที่ชาวบาบิโลเนี่ยนคิดค้นเลขฐาน 60 ที่มีส่วนสำคัญในระบบเวลาของยุคปัจจุบัน หรือการค้นพบเลข 0 เป็นครั้งแรก ก็น่าจะเป็นการผูกเรื่องราวที่น่าสนใจในเบื้องต้น ผมจำได้ว่าหนังสือเรียนวัยเด็ก มีการพูดถึงยูคลิด ไพธากอรัส แล้วอารยธรรมเมโสโปเตเมียอยู่บ้าง แต่มันช่างแห้งแร้งไร้มิติและสีสัน ราวกับว่าถ้าเด็กๆ ไปหลงใหลอารยธรรมเก่าแก่โบราณเหล่านั้น จะไม่ภูมิใจในอารยธรรม 600 ปีในแผ่นดินเกิดใหม่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปได้ หรือพูดอีกอย่างว่าหนังสือเรียนไทยพยายามยัดความเป็นคณิตศาสตร์ลงไปเป็นหลัก และขาดเรื่องราวที่ทำให้คนรู้สึกมันน่าหลงใหล และเชื่อมโยงถึงสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน
เปลี่ยนยาขมเป็นขนมหวาน แนวทางแก้ไข
อย่าเพิ่งยอมรับว่ามันเป็นกฎแห่งกรรม หรือคนเราเกิดมาสติปัญญาไม่ตรงกัน ซึ่งแม้มีดจะคมไม่เท่ากัน แต่หน้าที่ของโรงเรียนคือ’ลับมีด’ หากเรายอมรับว่ามีดมันไม่คม แล้วโรงเรียนจะมีหน้าที่อื่นใดอีก
อันที่จริงวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถม มัธยม หากว่ากันตามตรง มันไม่จำเป็นต้องอาศัยสติระดับสูง ขอแค่เห็นด้านสวยงาม และค่อยๆ ทำความเข้าใจจากจุดเริ่มต้น โดยให้เห็นความสำคัญ ผ่านการผูกคณิตศาสตร์เข้ากับประวัติศาสตร์ การใช้ชีวิตประจำวัน การเงิน ธนาคาร เข้ากันเป็นหนึ่งเดียว การลับมีดให้คมแต่ยังเด็กนั้นสำคัญมาก
กรณีครูไม่พอ หรือครูมีความสามารถไม่พอ ปัจจุบันเราสามารถใช้สื่อออนไลน์ได้ ถ้ากลัวเด็กไม่มีครู ก็ใช้ครูทำหน้าที่แนะแนวอีกที นอกจากสื่อออนไลน์ เรื่องครูไม่มีคุณภาพไม่น่าจะใช่ข้ออ้างอีกต่อไปแล้วล่ะครับ
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงทฤษฎีและความเชื่อของผมนะครับ ผมเคยได้ทดลองอธิบายวิธีการบวกเลขในอนุกรมให้คนที่เกลียดเลขแต่เด็ก เข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้ แต่ในภาพรวมนั้น ยังไม่เคยสอนในเด็กเล็กมาก่อน ซึ่งถ้ามีโอกาสสอนจริงๆ ผมจะให้พวกเขาเห็นด้านสวยงามของตัวเลขก่อน เพราะเชื่อว่าทัศนคติที่ดีเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในลำดับถัดไป