Making 2015 to be the Creative Year

เกิดความคิดเรื่องนี้ขึ้น จึงรีบเขียนรีบแชร์ครับ

TL;DR (ยาวไป;ไม่อ่าน)

ให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ในทุกวัน แม้เป็นเพียงสิ่งละวันอันละน้อย เช่น แต่งเพลง วาดภาพ เขียนโปรแกรม

ช่วงปลายปี 2011 ที่น้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด ผมในตอนนั้นที่จำใจเร่ร่อนในหลายจังหวัดทั่วไทย เพราะเอารถกลับบ้านไม่ได้ ทำให้มีเวลานั่งทบทวนอะไรบางอย่างที่สำคัญโดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องงานมากเท่าไรนัก อาจจะถือเป็นสิ่งดี ๆ ในช่วงนั้น ท่ามกลางความวิตกกังวลตลอดเวลาว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน

สิ่งสำคัญที่ค้นพบตอนนั้น คือการที่รู้ว่างานของผมแม้มันคาบเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ต้องทำในทุกวันคือการจัดการให้มันสำเร็จ การทำแบบนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน ๆ มันทำให้เราลืมความสร้างสรรค์ไปเยอะมาก พอมีเวลาของตัวเองจริง ๆ ที่ไม่ต้องคิดเรื่องการทำงานให้ลูกค้า ในตอนนั้นสิ่งเดียวที่ผมทำทุกวันคือการถ่ายภาพแล้วแชร์ลง Instagram ดู IG: PHz ตอนนั้นเริ่มทดลองอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเสียง โดยทำเพลงสั้น ๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน และทำอะไรที่ยังไม่เคยทำอีกหลายอย่างเช่น ทำ 3D

พอได้กลับบ้านแล้ว ผมเลยตั้งปณิธานว่าปี 2012 จะเป็นปีแห่งการสร้างสรรค์ โดยส่ง สคส ไปให้ลูกค้าทุกคนเพื่ออวยพรให้ปี 2012 เป็นปีแห่งการสร้างสรรค์สำหรับพวกเขาเช่นกัน

ใช่แล้วครับ ผมไม่ได้พูดไว้เปล่า ๆ แต่ได้ลงมือทำอะไรไปหลายอย่าง ตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม

หลักการพื้นฐานคือ เมื่อคิดอะไรได้ให้ลงมือทำทันที ทำเสร็จแล้วต้องเคลียร์พื้นที่ให้วันหลังมาทำใหม่ได้ ทำให้พื้นที่การทำงานมันดูดี นำไปสู่ความรู้สึกอยากทำอะไรใหม่ ๆ และพยายามให้ผลงานดูดีเท่าที่ความรู้สึกของเราจะไปถึง

เรียนรู้เรื่องใหม่ และลงมือทำทุกวันโดยไม่ต้องสนว่าผลลัพท์จะเป็นยังไง เพราะถ้าเรายังคงทำต่อเนื่อง มันจะดีขึ้นโดยธรรมชาติ

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นฐานของการสร้างสรรค์คือการเขียนบันทึกประจำวัน มันอาจฟังดูน่าเบื่อ แต่ถ้าเราเขียนอย่างมีเป้าหมาย มันจะเป็นดัชนีบ่งชี้ในตัวเราเอง ว่าเราได้ทำอะไร เรียนรู้เรื่องอะไรไปแล้วบ้าง

การเขียนบันทึกประจำวัน ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบ หรือเน้นความสวยงามของถ้อยคำอะไรนัก บางครั้งเราแค่ต้องการจดโน้ตสั้น ๆ ลงไปนั้น เหมือนที่เราทำบน Twitter ก็ยังได้ (ผมใช้โปรแกรม Day One) จดปัญหาที่พบเจอ หรือสิ่งที่เราทำอันละเล็กละน้อย

โปรแกรม Day One จะมีข้อความแนะนำไอเดียให้เราเขียน แม้ว่าเราอาจไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี เช่นเขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคต เขียนถึงคนใกล้ชิดที่จากไป

หรือผมมีแนวทางบางอย่างเช่น

เขียนว่าวันนี้ ทำอะไร เรียนรู้อะไร และสร้างสรรค์อะไร แค่ 3 อย่างสั้น ๆ ก็ช่วยให้เรามีอะไรให้เขียน และให้เราติดตามแนวทางที่เรากำลังทำด้วยครับ

พอจบปี 2012 ผมได้ทำโปรเจกต์ใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ว่ายน้ำเกือบทุกวัน และเรียนภาษาจีนได้ไปหลายตัว แม้จะยังไม่ถึงจุดที่ใช้การได้ ที่ชอบส่วนนี้คือการคัดภาษาจีน Caligraphy โชคดีที่ตอนนั้นมีพู่กันสำหรับวาดบนไอแพดออกมาให้ใช้ (ดู Gallery)

มีอีกเรื่องในปี 2012 ที่ผมจำได้คือ มันมีเกมวาดภาพอย่าง Draw Something ที่เกิดดังขึ้นมาช่วงนึง ผมชอบแนวคิดของเกมนี้มาก ช่วยให้ผมได้วาดภาพง่าย ๆ ทุกวัน เพื่อฝึกฝีมือ โดยเครื่องมือที่ให้ใช้ก็มีจำกัด ความหนาของเส้นไม่กี่แบบ สีมีให้เลือกไม่เยอะ ข้อจำกัดต่าง ๆ ตอนนั้นก็ช่วยให้เราวาดภาพอย่างสนุก

ปี 2013 – 2014 มันยังคงมีพื้นฐานจากตอนนั้นอยู่ ผมยังเขียนบันทึกประจำวันทุกวัน ว่ายน้ำหรือออกกำลังกายอย่างอื่นเกือบทุกวัน การเรียนภาษามีช่วงหยุดไป เพราะดันไปต่างประเทศบ่อย ข้ออ้างคือตอนไปประเทศไหน ๆ ผมมักจะอ่านรายละเอียดแบบเร็วและทุ่มเทส่วนนั้นอย่างเดียว เลยทำให้หยุดไปบ้าง

การสร้างสรรค์ก็ยังคงมีบ้าง แต่ก็โดนงานประจำแทรกไปเยอะ เหตุผลที่เราอยากสร้างสรรค์ เพราะงานประจำของคนส่วนใหญ่ มักเป็นงานจัดการ หรืองานประจำวัน เหล่านี้มันอยู่คนละฝั่งกับการสร้างสรรค์ครับ อยู่ไปนาน ๆ เราจะกลายเป็นเครื่องจักรที่ทำตามคำสั่งไป

ปี 2013-2014 ผมได้ทำงานใหม่ที่ถือว่าท้าทายมาก คือการสอนหนังสือระดับอุดมศึกษา ความท้าทายคืออิสระที่ผมสามารถที่จะออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนได้เอง เลยทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ในคลาสไปเยอะ ทำในสิ่งที่ผมถ้าเป็นนักศึกษาก็อยากจะเรียน ได้ผลตอบรับมาระดับหนึ่ง คือมีคนที่ทำได้ดีกับแนวทางแบบนี้ ส่วนนี้ผมจะคอยปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกนะครับ เพราะเห็นจุดบกพร่องของตัวเองเยอะพอควร

สรุปสิ่งที่ผมคิดว่ามันสัมฤทธิ์ผมมาก มีดังนี้ครับ

  • การเขียนบันทึก, ออกกำลังกาย ทำได้ 100%, 85%
  • เรียนภาษา 30%
  • การสร้างสรรค์อื่น ๆ วาดภาพ เขียนเพลง เล่นดนตรี 30% (คะแนนน้อยเพราะกระจายไปทำหลายอย่าง)

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก แต่ผมทำมานานมากจนกลายเป็นนิสัย คือการอ่านครับ ผมยังไม่เคยเจอคนที่น่าสนใจที่ไม่อ่านหนังสือเลย การอ่านและการเดินทางเป็นวัตถุดิบสำคัญ ที่เราจะนำสิ่งที่เราค้นพบเหล่านั้นมาใช้เป็นตัวจุดประกายการสร้างสรรค์อื่น ๆ และการทำสิ่งหนึ่งอาจมีผลต่อไปยังอีกสิ่งหนึ่ง เช่นคุณกำลังแต่งเพลงอยู่ แล้วมันติดขัดนึกอะไรไม่ออก ลองไปวาดภาพดูครับ มันอาจมีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน เช่นมิติทางเวลาและระนาบ time – space จังหวะและสีสัน rhythm – color ที่อาจจะมีผลต่อจังหวะและสเปคตรัมของเสียงได้ เป็นต้น

ในกรณีที่มีเวลาน้อย อยากอ่านหนังสือโดยเอาใจความสำคัญของเล่มนั้น ผมแนะนำ Blinkist ครับ ช่วยเราได้เยอะเลย ทั้งตอนนี้ยังมีหนังสือเสียงที่อ่านให้เราฟัง ช่วยเราฝึกการฟังได้อีกต่างหาก

Just Create It

มาเข้าเรื่องสำหรับปี 2015 ผมเกิดไอเดียที่ชัดเจนว่าควรมี Commitment (คำมั่นสัญญา) ไปเลย ว่าเราจะทำสิ่งหนึ่งทุกวัน วันละครั้ง

เช่น ถ้าคุณชอบถ่ายรูป ถ่ายทุกวันและเอามันออกมาโชว์เพื่อน ๆ จนกลายเป็นนิสัยใหม่

ทำแบบนี้กับการเขียนเพลง, การวาดภาพ, การเขียนโปรแกรม หรือแม้แต่การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอาจไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ในทางตรง แต่เมื่อเรามีร่างกายที่แข็งแรง จะเดิน จะยกของ จะขยับตัวแล้วรู้สึกมั่นใจ มันจะส่งผลไปยังเรื่องอื่น ๆ ด้วยครับ การสร้างกล้ามเนื้อบนร่างกายก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์เช่นกัน

และไม่ต้องทำเยอะมาก การเขียนเพลงอาจทำแค่ 8-16 Bars พอ, การวาดภาพอาจเป็นเพียงการสเก็ตซ์อะไรง่าย ๆ และไม่ต้องดูดีมาก เพราะถ้ามันมีแววดี เราอาจทำต่อวันหลัง หรือจบในวันเดียว

การทำอะไรลักษณะนี้จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด เพราะเมื่อเรารู้สึกตีบตันในการทำ เราอาจจะไปค้นหาสิ่งที่เรามี (Resources & Assets) ว่าเราจะทำอะไรกับสิ่งที่เรามีได้บ้าง หรือคิดหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อสิ่งนั้น

การสร้างสรรค์เพลง จริง ๆ มีทริคโกงนิดหน่อย คือมันมีแอพอย่าง Figure หรือ iKaoscillator ที่เราจะใช้มันเขียนเพลงอย่างเร็ว ๆ ได้ เอาไว้ใช้กรณีมีเวลาน้อย หรืออยากหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่เราเล่นกับมันได้เร็ว ๆ

การวาดภาพ มันมีแอพอย่าง Paper 53 ที่มีโหมด Mix คือเราไปโหลดผลงานของคนอื่นที่ทำมาไว้ระดับหนึ่ง มาทำต่อ ลักษณะนี้จะช่วยให้เราทำอะไรต่อได้โดยไม่ต้องรอแรงบันดาลใจอื่นครับ

ขอให้สนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานนะครับ ไม่ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ คุณจะโตขึ้นในทุกครั้งที่ได้ทำ ทำให้ได้ทุกวัน ทำเสร็จแล้วก็เอามาแบ่งกันชม

ขอบคุณที่ตั้งใจอ่านจนจบครับ

ปล การเขียนโพสต์นี้คือส่วนหนึ่งของการบันทึกประจำวันที่ผมมี Commitment ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2011 เช่นกันครับ

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.