Computer Science for All กับสิทธิความดักดานส่วนบุคคล

วานนี้ทาง White House ได้ประกาศว่าจะให้วิชาด้าน Com Sci เป็นวิชาหลักพื้นฐานของโรงเรียนในอเมริกา Source

ที่นี้ ผมได้ยินความเห็นประมาณว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะเขียนโปรแกรมได้ ไม่จำเป็น” พอได้ยินดังนี้แล้วคิดถึงสมัยเด็ก ที่มันจะมีคนบอกว่า “เรียนเลขไปทำไม เอาแค่บวกลบคูณหารพอแล้ว” หรือ “ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ไม่ต้องรู้ก็ได้”

ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ผมจะชี้ให้เห็นความสำคัญของทั้งสามอย่างที่กล่าวมาดังนี้ ด้วยประโยคบอกเล่าสั้น ๆ ครับ

  1. คณิตศาสตร์ ถ้าเราทิ้งมันในจุดที่เลยกว่าบวก ลบ คูณ หาร จะมีความยากลำบากสองอย่างตามมาครับ อย่างแรกเลยคือการตกเป็นทาสธนาคาร เขากำหนดขอบเขตการหมุนเวียนเงินของเราได้ ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน ก็อาจจะตกเป็นทาสดอกเบี้ยไปตลอดชีวิต อันนี้มีงานวิจัยรองรับเกี่ยวกับคนที่ไม่เก่งเลขในอังกฤษ มีแนวโน้มเป็นหนี้สินมากกว่า อันดับถัดมาคือทาสการพนันครับ ใครก็ตามที่เชื่อว่าดวงของตัวเองดีกว่าความน่าจะเป็น ก็มีโอกาสจะตกเป็นเหงื่อเจ้ามือที่ใช้คณิตศาสตร์มาช่วย ยังมีเรื่องพื้น ๆ ที่เคยเจออย่างการทอนเงิน ผมเป็นลูกค้าประจำร้านค้าแห่งหนึ่ง ที่ลูกน้องทอนผิดประจำ ซึ่งผมยินดีที่จะรีบแจ้งคืนเงิน เพื่อไม่ให้พวกเขาซึ่งมีรายได้ไม่สูงอยู่แล้ว เดือดร้อน แต่ถ้าทอนผิดบ่อย ๆ เงินหายไปบ่อย ๆ จากการทอนเงิน คงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเท่าไร
  2. ภาษาอังกฤษ ในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก การไม่รู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาหลักของการสื่อสารในโลกเสรี จะทำให้เราถูกล็อคกับวิธีคิดหรือกระบวนทรรศน์ในแบบเดียว บางคนอาจเถียงว่าการรู้ภาษาอังกฤษก็ถูกล็อคในวิธีคิดแบบโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน แต่นั่นคือเรามีทางเลือกในระหว่างวิธีคิดสองแบบหรือมากกว่านั้น กับการไม่มีทางเลือกต้องติดกับวิธีคิดแบบเดียว ที่รัฐยัดเยียดให้เรามาตั้งแต่กำเนิด
  3. วิทยาการคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบัน คงยากที่จะปฏิเสธว่าชีวิตของเราจะไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลย ระบบการเงิน การธนาคาร ร้านค้าสมัยใหม่ ต่างใช้มันเป็นศูนย์กลางการค้า และอันที่จริง แค่ใช้คอมพิวเตอร์โพสต์ Facebook มันคงไม่ต้องเรียนคอมไซน์ก็ได้ แต่ที่มันถูกยกเป็นเรื่องพื้นฐานเพราะวิธีคิดที่ลึกกว่านั้นครับ

เรากำลังอยู่ในกระบวนทรรศน์ที่สิ่งรอบตัวมันคำนวณได้ มันคิดได้ มันสื่อสารได้ (Internet of Things) ตอนนี้ที่บ้านผมมีลำโพงที่พูดคุยกับผมได้ เล่นเพลงให้ฟังเพียงแค่บอกให้มันทำ เดินเข้าประตูไป จะมีเซนเซอร์ที่จะสื่อสารภายในบ้านให้เปิดไฟ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มันมีคนฉลาดสร้างมาให้เราใช้แต่แรก ในประเทศที่เห็นความสำคัญและมองเห็นภาพว่าสิ่งเหล่านี้จะสำคัญมาก ๆ เขาจึงสอนมันในระดับพื้นฐาน ไม่ใช่เพื่อจะให้คนมาโพสต์ Facebook ขำ ๆ แต่ให้คนของเขา เข้าใจทิศทางในปัจจุบันและต่อยอดไปสู่อนาคต

หากคนรุ่นใหม่ เข้าใจพื้นฐานการทำงานของอินเตอร์เนต ของคอมพิวเตอร์ ของสรรพสิ่งรอบตัวเขา พวกเขาจะไม่กลัวมัน พวกเขาจะแก้ไขมัน เพราะพวกเขาเป็นนายมัน และเพราะว่าคอมพิวเตอร์นั้นส่งผลต่อผลิตผลของประชาชาติตรง ๆ ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกที่มาถึงจุดนี้ได้ เพราะพวกเขาล้ำที่สุดในสิ่งนี้ การที่เขาฝึกเด็กของเขา เพื่อต่อยอดสิ่งเดิม ในขณะที่คู่แข่งอันน่ากลัวของเขา มีประชากรมากกว่า 4 เท่า ที่พร้อมจะทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ อันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญมาก ๆ

คนที่บอกว่า Com Sci, Computer Literacy ไม่ใช่สิ่งจำเป็น อาจยังมึน ๆ อยู่กับคำถามที่ว่า “ทำไมประเทศไทยจึงไม่หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางเสียที?” ก็เป็นได้

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.