จากการติดตามอ่านเรื่องราวการปฏิวัติชนชั้นจากที่ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์มาระยะหนึ่ง ผมค้นพบรายละเอียดและเกร็ดเล็ก ๆ เกร็ดน้อยมาฝาก เป็นบันทึกความทรงจำไปในตัวด้วย
คำที่แสลงหู
เริ่มที่คำว่า “การปฏิวัติชนชั้น” คำนี้เป็นคำที่ไม่มีอยู่ในช่วงปฐมวัยในโรงเรียนรัฐที่ผมศึกษาเล่าเรียนมา อาจเพราะคำนี้เป็นคำแสลงหู ของชนชั้นผู้เขียนตำราเรียนก็เป็นได้ ต่อมาเมื่อโตขึ้นได้อ่านอะไรหลากหลายขึ้น และอาจเพราะวิธีคิดปฏิวัติชนชั้นมันห่างไกลความเป็นไปได้มากขึ้น คำนี้จึงถูกพบเจอบ่อยขึ้น โดยเป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตเกือบทั้งหมด เพราะปัจจุบันไทยเราเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเกือบหมด คนไทยเกือบทั้งหมดนั้นก็อยู่เลยเส้นแบ่งความยากจนของธนาคารโลก (รายได้ที่ 1.25 USD ต่อวัน1) นั่นทำให้แม้สังคมไทยจะมีความเหลื่อมล้ำในระดับที่สูงพอตัว (อันดับ 12 ของโลกจัดลำดับโดย CIA2) แต่ก็เลยจุดที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติชนชั้นมาไกลแล้ว จะมาจุดประเด็นนี้แบบสมัยที่เหมาเจ๋อตุงทำการเดินทางไกลรวบรวมมิตรสหายสู้รบ Long March ก็คงจะไม่ได้การณ์แล้ว
ปฏิวัติชนชั้นคือการสับไพ่
จากประวัติศาสตร์ที่หลายท่านก็ทราบดี การปฏิวัติที่ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย หรือแม้แต่ในไทยเอง สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นการสับไพ่ใหม่ ฝ่ายมีอำนาจเดิมหมดอำนาจลง (หรือจะกลับมามีอำนาจใหม่) ฝ่ายที่ยึดอำนาจได้ ก็มีกระบวนการแย่งชิงอำนาจกันภายในกลุ่มชนชั้นนำใหม่อยู่ดี ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นกันชัดเจนคือที่จีนปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำแม้ไม่ได้ติดอันดับต้นของโลก แต่ก็มากพอที่จะไม่ควรเรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์ให้กระดากปากนัก2
หรือจะให้ผมยกตัวอย่างกรณีคลาสสิค คือใน เรือนจำ ที่เรารู้กันว่าต่อให้รวยมาจากไหน ยศฐาบรรดาศักดิ์เดิมคือใคร ในคุกคือโลกใหม่ที่จะถอดทุกอย่างทิ้ง เหลือเพียงตัวเปล่า ๆ กับข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น แต่ในความเป็นจริง ไม่นับเรื่องที่ว่านักโทษมีระบบเศรษฐกิจภายในของตัวเองแล้ว สุดท้ายภายในกลุ่มนักโทษด้วยกันจะมีการสถาปนาให้บางคนไม่เท่ากับคนอื่น ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นานา สุดแท้ที่มนุษย์จะคิดขึ้น
นั่นก็เท่ากับว่าความเท่าเทียมมันไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงอุดมคติ เพราะแม้เราจะพยายามบังคับความเท่าเทียมขนาดไหน เช่นในคุก คนก็ยังหาทางจัดลำดับความไม่เท่าเทียมใหม่อยู่ดี
จะปฏิวัติชนชั้นอย่างไรดี?
จากข้อมูลดัชนีความไม่เท่าเทียม2 และจากที่หลายท่านเข้าใจได้เองมาก่อนโดยไม่ต้องใช้การไตร่ตรองอันลึกซึ้ง เราจะเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ ล้วนแล้วแต่มีกฏหมายที่คอยตบคนข้างบนให้ลงมา ไม่ให้คนสะสมความมั่งคั่งง่าย ๆ จนหนีห่างไปเรื่อย ๆ เช่นมาตรการทางภาษีขั้นบันไดที่หนักหน่วง (ยิ่งรวยยิ่งเก็บหนัก โดยที่ปกติก็เก็บหนักอยู่แล้ว) ภาษีมรดก (พ่อแม่จะส่งเงินให้ลูกจำนวนมาก ลูกจะโดนหักออกเยอะมาก จนพ่อแม่เองก็ไม่อยากสะสมไว้ให้มาก ให้ลูกหาเองด้วย) และภาษีที่ดิน (มีที่ดินเยอะ ๆ และไม่ใช้ประโยชน์ ก็โดนภาษีหนักจนไม่อยากครอบครองไว้เยอะ ๆ)
และนำเงินที่เก็บภาษีหนัก ๆ มาชดเชยคนระดับกลาง-ล่าง ด้วยสวัสดิการสังคมระดับดีเยี่ยม ซึ่งการตอบแทนในระดับนี้ ถูกโต้เถียงกันได้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นจะทำให้สังคมนั้นขาดพลวัต (ไดนามิก) ของการแข่งขัน จะทำให้คนขี้เกียจทำงานรอเงินรัฐอย่างเดียว ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในแง่หนึ่ง
ในบรรดาประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ทำได้ เพราะพวกเขาอยู่เหมือนเป็นเผ่าพันธุ์เดียว (Homogenous) ความรู้สึกคล้ายกับความเป็นครอบครัวเดียว และพร้อมจะทำงานหนักเพื่อคนอื่น ๆ โดยไม่สนใจว่าได้เงินมาก็เสียภาษีมากขนาดไหน และถ้าต้องอยู่โดยไม่ทำงานเป็นเรื่องที่แย่กว่าการแบมือขอเงินรัฐเสียอีก
และต้องไม่ลืมอีกว่า การตั้งหน้าตั้งตาเก็บภาษีคนรวยผ่านการร่างกฏหมายเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ใช่ทางออกที่ครบวงจร ประเทศเหล่านี้แม้แต่ประเทศที่ใกล้เคียงเราอย่างสิงคโปร์เอง ต่างก็เตรียมระบบการศึกษาชั้นดีเยี่ยม เพื่อสร้างพลเมืองประเทศให้มีทักษะสูง มีความสามารถและความพอใจในงาน ในคุณค่าของการมีชีวิต ไปจนถึงการโปรโมทความคิดแบบเสรี (Free Thinking) ไม่ยึดกับแนวคิดใด (No Doctrines) พร้อมที่จะวิพากษ์และถูกวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการสร้าง (Constructive) มิใช่เพื่อการทำลาย (Destructive) รัฐเองยังพยายามที่จะช่วยผู้ประกอบการให้ดำเนินการอย่างดี มีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตและกำไรสูง ๆ ไม่ใช่เพื่อที่จะคอยเก็บภาษีมาก ๆ แต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมก็ยังถูกดึงขึ้นมาเพื่อให้มีที่ยืนในสังคมผ่านระบบการศึกษา และการให้โอกาสอย่างเท่าเทียมที่สุดเท่าที่จะทำได้ (แม้ไม่ได้เท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์)
TLDR; ยาวไปไม่อ่าน
สรุป การปฏิวัติชนชั้นในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ใช้ปืนครับ แต่รัฐบาลจะเป็นหัวแรงสำคัญในการทำสองอย่าง
- ดึงชนชั้นล่างให้ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางให้มากที่สุด ผ่านการดึงคนชนบทเข้าเขตเมือง หรือขยายเขตเมืองไปชนบท (จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ กำลังทำ) ผ่านระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยม สร้างทักษะ และให้โอกาสคน (สิงคโปร์) ให้คนมีความคิดอิสระเสรีมากกว่าจะที่ยึดติดกับวิธีคิดใด (แถบสแกนดิเนเวียร์)
-
ผ่านการร่างกฏหมายที่จะช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำของคนรวยมาก ๆ ในสังคมนั้น เช่นออกภาษีต่าง ๆ แล้วนำเงินมาชดเชยกับข้อ 1
1 ใน 2 คำตอบ เราอาจพบว่าทำไมสังคมไทยยังติดหล่ม ไม่เดินไปไหนสักที…