เรื่องเล่าวัยเด็ก 1 : การอ่านหนังสือ (คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานชอบอ่านหนังสือ)

ภาพประกอบจาก Link

คุณพ่อของผม ท่านให้ความสำคัญกับการอ่านมาก ผมเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก ว่าทำไมต้องอ่านหนังสือ โดยไม่นับว่าผมคือเด็กรุ่น Video Game Generation คือ (เกือบจะ) เกิดมาพร้อมกับวิดีโอเกมเลย จำความได้ว่าตอนที่เห็นการต่อเครื่องเกมเข้ากับทีวีเพื่อที่จะเล่นเกมครั้งแรก ตอนประมาณ 5 ขวบได้ มันเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก เพราะผมโตมาจากยุคที่ไม่รู้ว่าทีวีทำแบบนี้ได้มาก่อน

ลองจินตนาการถึงเด็กที่เกิดมาแล้วเห็น iPad พวกเขาจะไม่ประหลาดใจหรือสงสัยว่ามันทำอะไรแบบนั้นได้อย่างไร เพราะมันเห็นมาตั้งแต่เกิด (Pre-Conceive)

เด็กรุ่นวิดีโอเกม เราคงไม่คาดหวังว่าพวกเขาจะเสพติดการอ่านได้อย่างไร จริงไหมครับ

วิธีการในความพยายามล่อลวงให้ผมและน้องชายอีกคนอ่านหนังสือของพ่อคือ บ่ายวันเสาร์ พ่อจะให้เงินไปเล่นเกม ในข้ออ้างว่า ‘พักผ่อนสมอง’ โดยมีข้อผูกมัดว่าพรุ่งนี้จะได้อ่านหนังสือ

ท่านผู้อ่านคงพอเดาได้ว่า วิธีแบบนี้ไม่ได้ผล ผมไปเล่นเกมจริง แต่วันต่อมาก็ไปเล่นอย่างอื่นตามประสาเด็ก

ส่วนคุณแม่ผม มักจะชอบยกตัวอย่างพี่บ้านตรงข้าม ที่นอกจากจะเรียนเก่งแล้ว เสาร์ อาทิตย์ยังเอาหนังสือมาเปิดอ่านหน้าบ้านให้แม่ผมเห็น จนแม่ผมต้องเอามาเล่าให้ผมฟัง

ส่วนผมฟังแล้วก็ก้มหน้าก้มตากดเกมบอยต่อ เพราะความสนุกต่างกันมาก อย่างที่คุณก็เดาได้

ผ่านเวลามาสิบกว่าปี ทุกวันนี้ผมเข้าร้านหนังสือและซื้อหนังสือมาใหม่แทบทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือต่างประเทศภาษาอังกฤษ เหตุผลหลักคือหนังสือไทยมีเนื้อหาหลากหลายน้อย แต่ที่น่าสนใจก็มีบ้าง แต่เทียบไม่ได้เลยกับภาษาอังกฤษที่ตลาดคนอ่านใหญ่กว่ามากนัก ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าแม่รู้ว่า 10 ปีกว่าปีต่อมาลูกชายจะเสพติดการอ่านจนซื้อหนังสือเดือนละหลายพันแบบนี้ เขาจะยังบอกให้ผมรักการอ่านในวันนั้นหรือเปล่า

ไม่เพียงแค่หนังสือ ผมยังเสพติดการอ่านแทบทุกอย่าง แม้แต่ป้ายโฆษณาในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงพยายามอ่านใจของคนเขียนสารนั้น ๆ ว่ากำลังจะสื่ออะไรอยู่บ้าง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

มันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันแน่นอนครับ การอ่านตัวหนังสือ หากเราคิดในลึกอีกนิด เราจะพบว่าเราใช้การสแกนผ่านตัวอักษร และสมองจะทำการจับคู่แพทเทิร์นของถ้อยคำเหล่านั้น ออกมาเป็นความหมาย

ความชำนาญในการจับแพทเทิร์นนี้เป็นความจำ เป็นความคุ้นเคย และยังเป็นทักษะ หมายความว่ายิ่งอ่าน ยิ่งเร็ว ยิ่งคล่อง ยิ่งติด ยิ่งอ่านยิ่งมัน ยิ่งหยุดไม่ได้ ยิ่งต้องอ่าน

ส่วนตัวผมไม่ได้ดูทีวีแบบติดหน้าจอตั้งแต่อายุ 13 ที่เหลือคือเกมกับหนังสือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะมาจากสองสาเหตุหลักครับ คือที่บ้านผมขายหนังสือตอนผมเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และการที่ชอบเล่นเกมแนววางแผนหรือจำลองสถานการณ์จริง (Simulator) ซึ่งเกมแบบนี้ในยุคแรกนั้น ใช้การอ่านเป็นหลักเช่นกัน

สรุป คือการที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อ่านนั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่าการบังคับหรือโน้มน้าวให้อ่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่เคยได้ผล

เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่า เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุน และวิธีการตอบสนองความอยากรู้นั้น ไม่มีอะไรดีกว่าการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเพียงการค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตหรือจะห้องสมุด ร้านหนังสือก็ตาม และถ้าพวกเขาอ่านไม่ทน หรือไม่สนใจจะอ่าน นั่นไม่ใช้ความผิดของพวกเขา พวกเขาอาจจะมีวิธีการตอบความอยากรู้อยากเห็นอย่างรวดเร็วในวันนี้ด้วย Google และไม่ได้ต้องการรู้รายละเอียดมาก แค่ตรงประเด็นที่พวกเขาสนใจ การอ่านเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลา กว่าเราจะอ่านคล่องแบบมองแป๊ปเดียวก็เข้าใจ มันใช้เวลาสะสมนาน และคนเป็นผู้ใหญ่มักจะลืมเรื่องนี้ไป

สิ่งที่สำคัญมาก คือการทำสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ชั้นหนังสืออุดมไปด้วยหนังสือดี ๆ ที่นั่งอ่านหรือจะเอนหลังอ่าน มีแสงสว่างที่เหมาะสม เช่นบางครอบครัวคนอยู่กันเยอะ ๆ ในพื้นที่จำกัด การอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดกันเลย และที่สำคัญในฐานะผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่าการอ่านนั้นสนุกสนานและมีประโยชน์เพียงใด เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นคนชอบอ่านแต่แรก ไม่ได้เป็นตัวอย่างเอง ก็อย่าคาดหวังว่าลูกหลานของเราจะเป็นไปอย่างเดียวกันเลยครับ

2 Comments

  1. thongek

    ชอบครับ

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.