ประวัติศาสตร์ของสังคมโลกถึงปัจจุบันคือประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้น – แถลงการณ์คอมมิวนิสต์, มาร์กซ-เองเกล
อาจช้าไปหน่อย แต่ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดู Burma VJ เมื่อคืนนี้เอง โดยการเช่าดูจาก iTunes US Store ในราคา $4 USD ตอนแรกตั้งใจจะซื้อมาเก็บไว้ในราคา $10 แต่น่าเศร้าที่ระบบซื้อหนังของ Distrify เฉพาะเรื่องนี้นั้นอนุญาตให้ขายเฉพาะคนใน UK เท่านั้น ด้วยเหตุผลอันแสนงี่เง่าของธุรกิจขายหนัง สุดท้ายผมจึงตัดสินใจเช่าจนได้ เพื่อเป็นการทดลองระบบเช่าไปในตัวว่าเขาทำกันอย่างไร
Burma VJ นั้นประทับใจผมตั้งแต่ชื่อเรื่อง เพราะเคยเล่นพวก VJ ในฐานะ Video Jockey มาก่อน แต่ VJ ของหนังเรื่องนี้คือ Video Journalist เพราะภาพจากหนังเกือบทั้งหมดมาจากฟุตเทจที่บันทึกโดยทีมงานใจกล้าประมาณ 4–5 คน ทำงานเป็นเครือข่าย ซ่อนกล้องเอาไว้ในกระเป๋าเพื่อทำการถ่ายการชุมนุมครั้งใหญ่ที่นำโดยพระสงฆ์ในเดือนกันยายนปี 2007
ที่ต้องซ่อนกล้องไว้ในกระเป๋า เพราะที่นั่นทางการเห็นจะยึดไว้ทันที ไม่ให้มีการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อันที่จริงการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสุดท้ายคือปี 1988 ซึ่งนำโดยนักศึกษา และนอกจากการปราบจะทำให้มีคนตายถึง 3000 คน (อ้างจากเนื้อหาในภาพยนตร์) แล้ว ยังส่งผลให้ทางการปิดมหาวิทยาลัย จึงมีนักศึกษาพม่าลี้ภัยมาเมืองไทยจำนวนหนึ่ง ที่แม้จะผ่านไปหลายสิบปีแล้ว เวลาข่าวอ้างถึงคนกลุ่มนี้ก็ยังเรียกพวกเขาว่านักศึกษาพม่าอยู่
เครือข่ายที่ส่งข่าวสาร หรือข้อมูลออกมาจากพม่านั้นชื่อ DVB – Democratic Voice of Burma พวกเขาส่วนหนึ่งก็เป็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและรอดตายจากการปราบปรามในปี 1988 นับว่าเป็นการต่อสู้โดยอุทิศชีวิตส่วนหนึ่งเลยทีเดียว ในแง่นี้ทำให้นึกถึงหลายๆ คนที่รอดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อย่างสมศักดิ์ เจียมฯ, เกษียร, ธงชัย ที่แม้จนถึงวันนี้ก็ยังแอคทีฟในแวดวงการเมือง แม้จะในฐานะนักวิชาการไม่ใช่นักเคลื่อนไหว บทบรรยายของ Burma VJ ได้อธิบายสั้นๆ ถึงเหตุการณ์ปี 88 ว่า “ความตายของพวกเขานั้นสูญเปล่า” (They die for nothing)
อันที่จริงเท่าที่ผมศึกษาเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร อัตราการชนะมันน้อยมาก และถ้าชนะในทันทีส่วนใหญ่ มักเกิดจากแรงช่วยจากภายนอกที่มีอิทธิพลสูง ไม่ได้เกิดจากการชุมนุมมือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั้งหมด ระหว่างปืนกับมือเปล่า มันไม่มีทางสู้กันได้อยู่แล้ว ถ้าเจอกันตรงๆ มันก็มีแต่มือเปล่า (ก้อนหิน ขวด หรืออะไรที่หยิบฉวยได้) ที่มักจะเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด
การลุกฮือ (Uprising) ในพม่าปี 2007 นั้น จัดว่าน่าสนใจมาก อย่างแรกเลยคือพม่าเว้นว่างจากการพูดคุยทางการเมืองมาเกือบ 20 ปี ความน่ากลัวของการพูดคุยทางการเมืองเห็นได้ชัดในหนัง ตอนนี้มีคนนำกล้องวิดีโอไปสอบถามความเห็นของคนอื่นๆ บนรถเมล์ ไม่มีใครกล้าพูดหรือกล้าตอบ แม้จะแสดงทีท่าว่าอยากพูดมากแค่ไหนก็ตาม แต่พอเริ่มมีคนใจกล้ากลุ่มแรกๆ ที่กล้ายืนชูป้ายเรียกร้องทางการเมือง เช่นขอให้รัฐบาลลาออก ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าครองชีพและปรับปรุงคุณภาพชีวิต มันก็ทำให้เริ่มมีคนกล้ามากขึ้นจนเกิดเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่
มูลเหตุของเรื่องนี้ที่ถือเป็นชนวนสำคัญคือการขึ้นน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลทหารถึง 66% ในวันเดียว ท่ามกลางความยากจนของพลเมือง ลูกสาวนายพลต่านฉ่วยแต่งงานด้วยแหวนเพชรหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ จนเป็นเหตุให้ประชาชนลุกฮือขึ้น และแม้แต่พระสงฆ์ที่ปกติเราจะเห็นว่าพวกเขาไม่ควรจะมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ถือเป็นแกนนำการรุกฮือครั้งนี้ นี่คือมุมที่น่าสนใจที่สุดของเหตุการณ์ เพราะพม่าเป็นเมืองที่ศาสนาพุทธเป็นแกนหลักพึ่งพิงทางใจมาช้านาน ถ้าใครเคยไปพม่าจะพบว่าคนที่นั่นเสพติดศาสนามากกว่าคนไทยเสียอีก พระสงฆ์ในพม่ามีจำนวนประมาณ 400,000 องค์ พวกเขาลุกฮือขึ้นโดยยื่นคำขาดต่อนายพล ไม่งั้นจะเดินขบวนทั่วเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ หัวเมืองสำคัญๆ ของพม่า คนที่ร่วมต่อต้านรัฐบาลมาช้านานเริ่มมีความหวังว่าครั้งนี้อาจเป็นครั้งสำคัญที่จะโค่นรัฐบาลทหารได้จริงๆ
แต่ความหวังกับความจริง มันก็ไม่เคยตรงกันเสียทีครับ เหตุการณ์นี้ถ้าเราไม่อคติเข้าข้างประชาชนพม่าเกินไปนัก ก็พอจะเดาได้ว่าพวกเขาจะเอาอะไรไปสู้กับกองทัพในประเทศที่ปิดแบบนี้ได้ เพราะในขณะที่กองทัพปราบปรามประชาชน รวมไปถึงพระสงฆ์ด้วยอาวุธหนัก รัฐบาลพม่าก็ออกข่าวทางทีวีว่า DVB ปล่อยคลิปที่ทำลวงเพื่อโจมตีรัฐบาลได้อย่างหน้าไม่อายมาก เหตุการณ์ที่ดูแย่ที่สุดคือการบุกไปทำร้ายและจับกุมพระสงฆ์ในตอนกลางคืน แม้วิดีโอจะบันทึกไว้ไม่ได้ แต่ภาพกองเลือดขนาดใหญ่หลายกองมันก็สุดจะจินตนาการว่าพวกเขาทำอะไรกับพระสงฆ์เหล่านั้น ถึงเลือดตกเพียงนั้น และพระในวัดนั้นก็โดนกวาดล้างจนหมดวัด จากการบุกไปสองครั้ง เพราะการบุกไปเล่นกับวัดที่เป็นแกนนำ มันก็น่าจะเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลที่สุดของรัฐบาลทหารพม่า
งานนี้นอกจากพระสงฆ์และประชาชนโดนเก็บแล้ว นักข่าวญี่ปุ่น ก็เป็นเหยื่อกระสุนการเมืองรายแรกๆ เพราะถือกล้องอย่างโจ่งแจ้ง ขอไว้อาลัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
การตาย ความเจ็บปวด และการถูกจองจำของคนเหล่านั้น แม้จะดูเสียหายมากเกินกว่าประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวหนึ่งที่รัฐบาลทหารพม่ายอมเปิดทางให้ แต่มันก็เป็นก้าวเล็กๆ ที่เปิดความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนพม่าเพิ่มขึ้นมาอีกนิด ผู้เขียนหวังไว้แต่เพียงว่าประชาธิปไตยที่พม่าจะเบ่งบานขึ้นโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีก
เรื่องนี้คงเป็นคำถามที่ชัดเจนเพื่อไว้ตอบคนที่มีจิตใจเป็นทาสจำแลงว่า เราต้องการประชาธิปไตยเพื่ออะไร