สิ่งที่รัฐไทย-ประชาชนไทยควรเรียนรู้จากความเจ็บปวด

เกริ่นชื่อหัวเรื่องแบบนี้ ได้อารมณ์เผด็จการเล็กๆ ที่มาชี้นำคนไทยว่าควรจะเรียนรู้เรื่องอะไร ความจริงแล้วทั้งหมดเป็นเรื่องสามัญสำนึก และคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงมันอยู่แล้ว เพียงแต่มันน่าเศร้าที่ว่า “ความเจ็บปวดต่างๆ ที่รัฐมีส่วนก่อกับประชาชนของรัฐ” นั้น มันดันเกิดขึ้นซ้ำๆ ราวกับคนเจ็บไม่รู้จักจำ และโดยปกติแล้ว เวลาที่เรากล่าวถึงรัฐไหนๆ นอกจากจะหมายถึงเขตแดนรัฐแล้วยังหมายถึงประชากรรัฐที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐด้วย แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือเรามักจะเห็นการคุกคามของภาครัฐกับประชาชนไทยบ่อยๆ ราวกับมันไม่ใช่เนื้อเดียวกัน ถูกพิจารณาแยกกัน ดังนั้นแล้วจึงใส่ทั้งสองอย่างไว้ในหัวข้อแบบนั้นครับ

เราลองมาดูทีละข้อพร้อมเหตุผลว่าทำไม

รัฐประหาร

ตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก มีการรัฐประหารซ้ำๆ อยู่เกือบ 20 ครั้ง และเกือบทุกครั้งเป็นการกระทำที่ประสบผลสำเร็จ มีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกพ้องตัวเอง และออกกฏหมายใหม่ที่ตัวเองเห็นสมควร หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามใจชอบ

ทางแก้: กลุ่มนิติราษฏร์ นำโดย รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เสนอแนวคิดที่ปลดล๊อคตรงนี้ คือต่อให้นิรโทษกรรมแล้ว ก็สามารถยกเลิก และลงโทษย้อนหลังได้ มันเข้าใจง่าย Make Sense เหลือปัจจัยสำคัญคือให้ประชาชนสนับสนุนแนวคิดนี้จำนวนมากๆ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลลงมือทำ

อุปสรรค: กลุ่มที่ทำรัฐประหารรอบล่าสุด คือเครือข่ายอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในตอนนี้ และรัฐบาลเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะปรองดองกัน

การสังหารประชาชน

มันเศร้านะครับ ที่เราตระหนักถึงอะไรแบบนี้ ตระหนักว่าเราเกิด เราอาศัย เราเป็นพลเมืองในรัฐ ที่มีการใช้อำนาจรัฐสังหารคนราวกับสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ แล้วกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร กลับไม่ได้มารับผิดใดๆ ในสิ่งที่ตัวเองทำ เริ่มตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และเมษา-พฤษภาทมิฬ 2553 และยังมีเหตุการณ์ยิบย่อยที่เป็นการกระทำจากรัฐที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง

ทางแก้: คล้ายกับข้อแรก คือต้องมีกฏหมายที่ทำหน้าที่เหมือนกฏข้อ 0 ที่การนิรโทษกรรม ไม่สามารถนำมาหักล้างได้ และเอาผิดกับผู้กระทำผิดย้อนหลัง เริ่มจากเหตุการณ์ล่าสุด เอาผิดคนสั่งการณ์ไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง หากเป็นไปได้

อุปสรรค: เหมือนกับข้อที่ 1 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชากรรัฐตัวเอง คือกลุ่มที่ยังคงครองอำนาจนำอยู่ วิธีการจะเอาผิดได้มันต้องมาคู่กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่สนการปรองดองกับอำนาจนำนั้น แล้วถือเอาความถูกต้องเป็นหลักสำคัญ เหมือนกับที่นายพลเกาหลีใต้ที่สั่งการณ์ให้เกิดการสังหารประชาชนต้องชดใช้กรรมในคุกมาแล้ว

มาตรา 112

บทลงโทษของกฏหมายมาตรานี้ ถูกเพิ่มให้โทษสูงสุดจำคุก 20 ปี หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา และมาตรานี้ถูกนำมาใช้อย่างระมัดระวัง จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 19 กันยาที่มียอดการใช้สูงมากกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้หากเราพิจารณาความสำคัญว่ากฏหมายนี้ช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือไม่ เราอาจต้องใช้การถกเถียงกันในวงกว้าง แต่ที่แน่ๆ กฏหมายมาตรานี้กระทำต่อประชากรรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า กรณีล่าสุดคือการส่ง SMS ที่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน การแปลหนังสือ The King Never Smile ที่ศาลไม่ได้ชี้แจงว่าหมิ่นในส่วนไหน ยังไม่นับการริดรอนสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในการเลือกที่จะอ่านหนังสืออะไร เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมีผลในระดับลึกมาก เพราะแม้แต่สื่อที่ควรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงประชาชน ก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้

ทางแก้: ต้องใช้การถกประเด็นกัน ตั้งแต่ประชาชนทุกระดับไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวกับการดูแลด้านกฏหมายโดยตรง ว่าจะปรับแก้ หรือยกเลิก เพราะมาตรานี้ยิ่งอยู่ไป ประชากรรัฐจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปเรื่อยๆ และไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีต่อสถาบันฯ อย่างที่ฝ่ายสนับสนุนต้องการหรือไม่

อุปสรรค: กลุ่ม Ultra-Royalist หรือกลุ่มคลั่งสถาบันฯ ซึ่งอาจคลั่งเสียยิ่งกว่ากษัตริย์เองเสียอีก (More Royalist than The King) คนกลุ่มนี้จะกระทำทุกอย่าง ด้วยคำพูดและการกระทำเพื่อไม่ให้แก้กฏหมายมาตรานี้ ที่พวกเขาเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจะส่งดีต่อสถาบันจริงๆ หรือไม่

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.