“อ่าน” สี่แผ่นดิน ความประทับใจและการอ่านใจ

ลึกลงไปในแก่นของการอ่านนิยาย เราไม่ได้อ่านเรื่องราว แต่กำลังอ่านใจอ่านความคิดผู้ประพันธ์

นี่คงเป็นนวนิยายเรื่องแรกในรอบหลายปี นับจากเรื่องสุดท้ายที่อ่านคือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ที่มีความคล้ายกันในบางประการ[1] ผมยอมรับอย่างไม่อายว่า สี่แผ่นดิน เป็นนิยายที่อ่านสนุก โดยไม่ว่าเราจะเห็นสอดคล้องตาม แม่พลอย หรือไม่ก็ตาม เพราะมันเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ทางประวัติศาสตร์ รายละเอียดในวังที่ถือกันว่าทันสมัยที่สุดในยุคสมัยหนึ่งที่คนนอกจะต้องสนใจติดตามอยากรู้ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความขบขัน วิธีคิดผ่านยุคสมัย ฯลฯ ที่เป็นองค์ประกอบให้เรื่องนี้ แม้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ผมมองเห็น ทว่าประทับใจคนหลายรุ่นนับตั้งแต่ที่มันพิมพ์ออกมา นำไปทำละครโทรทัศน์ ละครเวทีอีกหลายครั้ง อีกนัยหนึ่ง เราอาจต้องบอกว่าเรื่องราวในสี่แผ่นดินนั้นสอดรับกับความคาดหวังของสังคมยุคปัจจุบันได้พอดิบพอดี นักอ่านนักคิดหลายท่านยังยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายระดับเหลาความคิด (Mind-Shaping) ของสังคมไทยในยุคสมัย 50 กว่าปีที่ผ่านมาได้เลยทีเดียวครับ

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยส่วนตัวที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับการอ่านนิยายนี้ เนื่องจากเป็นการอ่านนิยายครั้งแรกที่ผมอ่านนิยายบน Kindle ด้วย ผมซื้อ Kindle มาเมื่อเมษายนปีที่แล้ว (2011/2554) เพื่อมาอ่านสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fiction) ตั้งแต่หนังสือไปจนถึงข่าวและบทความสั้นๆ มาจนเกือบปี ก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์ในแง่หนึ่ง แต่พึ่งจะมาหลงรัก Kindle ตอนที่ได้มีโอกาสอ่านนิยายนี่เอง มันอาจเป็นเพราะคนเราจะรู้สึกจับใจกับเรื่องราวมากกว่า ก็เหมือนกับการที่หลายๆ บ้านขาดโทรทัศน์ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะกลัวจะขาดการรับรู้ข่าวสาร แต่เพราะละครที่จับใจจนติดใจ ไม่ดูไม่ได้

สี่แผ่นดิน

และยิ่งมาตระหนักว่าตัวผมก่อนนั้น ไม่เคยสนใจเขียนหรือแม้แต่อ่านนวนิยาย เพราะมีความสนใจเฉพาะด้าน แบบที่คนสมัยใหม่เรียกว่า Geek ไม่มีความสนใจความนึกคิด อารมณ์และเรื่องราวของคนอื่นๆ ทำให้ต่อไปนี้เพื่อปรับสมดุลย์ตัวเอง ก็คงจะต้องหานวนิยายดีๆ มาอ่านเป็นคู่ขนานระหว่าง Fiction / Non-Fiction เพื่อตอบสนองความสนใจตัวเองในด้านหนึ่ง และเพื่อให้ตัวเองยังมีอารมณ์แบบมนุษย์คนอื่นๆ ที่จะเห็นใจ ทุกข์ สุข เศร้า เหงา รัก ฯลฯ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีอารมณ์ขันบ้าง แต่ก็มีความรู้สึกคล้ายหุ่นยนต์ไร้จิตใจมากกว่าที่จะเป็นมนุษย์

แง่มุมที่น่าสนใจ

ผมใช้วิธีการอ่านไปและบันทึกส่วนที่สนใจเก็บไว้ พบเจอแง่มุมไหน จะนำมาลงรายละเอียดให้ดูกัน และต้องบอกก่อนว่ามันอาจ เป็นการทำลายอรรถรสของเนื้อหา ได้ หากยังไม่ได้อ่านหรือรู้เรื่องราวในสี่แผ่นดินมาก่อนครับ

เพคะ-มังคะ

พลอยเข้าวังครั้งแรกตอนประมาณ 10 ขวบ ถ้อยคำที่แม่เคยสอนให้พลอยลงหางเสียงว่า “เพคะ” กับเจ้านายก่อนหน้าจะเข้าวัง กลายเป็นคำว่า “มังคะ” ที่พลอยได้ยินแม่พูดครั้งแรกกับเจ้านายรวมไปถึงชาววังคนอื่นๆ และตลอดมา ในนิยายไม่ได้อธิบายว่าทำไมถ้อยคำมันจึงเพี้ยนไปแบบนั้น แต่ผมอ่านแล้วจับความได้ว่า น่าจะมาจากการกินหมากที่นิยมมากและเป็นเรื่องทั่วไปในยุคนั้น การเคี้ยวหมากไปพูดไป โดยเฉพาะคำว่า “เพคะ” การออกเสียงว่า “เพ” ได้นั้น ปากต้องอ้ามากกว่าปกติ เมื่อปากอ้ากว้าง ก็เป็นไปได้ว่าหมากจะหลุดออกมาจากปากได้ง่าย การเพี้ยนไปออกเสียงเลี่ยงว่า “มังคะ” จึงกลายเป็นสามัญ และใช้ตามกันมา แม้แต่เด็กๆ ที่ไม่ได้กินหมากอย่างพลอยหรือแม่ช้อยก็พูดตามผู้ใหญ่นั้นตอกย้ำเรื่องการทำตามผู้ใหญ่ได้ดี เจ้านายก็ไม่ได้ถือสาหาความกับการเพี้ยนหางเสียงแบบนี้ และที่สำคัญคำว่า “มังคะ” ยังเป็นการแยกชาววังแท้ ออกจากชาววังในลิเกที่เล่นกันตามชานเมืองได้ชัดดีอีกด้วย

และถ้าคุณผู้อ่านเกิดคำถามว่าทำไมต้องเป็น “มัง” ไม่ใช่คำอื่น ผมคงไม่มีสมมติฐานใดนอกเสียจากการเพี้ยนมาจาก “กระมังคะ” ที่แสดงอาการไม่แน่ใจของผู้พูด เนื่องจากเจ้านายระดับเจ้าชีวิตนั้น ให้เดชให้คุณผู้รับใช้ได้ทันที อำนาจที่เหนือกว่ามากอาจทำให้บ่าวไพร่เกิดความไม่แน่ใจได้ง่ายกว่าผู้ที่มีระดับชั้นทางสังคมเท่ากัน

คำโบราณที่เกิดมาเพิ่งเคยเจอ

มะเรื่อง: ถัดจากมะรืนไปอีกวัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคนสมัยนั้นจะเรียกขั้นกว่าของวานซืนว่า “วานเซี่อง” หรือเปล่าเทียด: พ่อแม่ของทวด คนรุ่นปัจจุบัน (ปี 2555) ที่แต่งงานกันตอนอายุ 30 ขึ้นไปโดยส่วนใหญ่ อย่าว่าแต่ทวดหรือเทียดเลยครับ ปู่ย่าตายาย ก็อาจอยู่ไม่ครบให้เห็นตอนหลานเกิดไฮ้: เป็นคำอุทานของคนยุคสมัยของแม่พลอย ก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงคิดว่าคำนี้เป็นคำอุทานที่ดูน่ารักดีนักเล่นเพื่อน: รักร่วมเพศระหว่างเพื่อนหญิงต่อเพื่อนหญิงในวัง

เสด็จฯ ของพลอย

มีผู้พยายามวิเคราะห์มากมาย ว่าเสด็จฯ ของพลอยคือเจ้านายพระองค์ใด เป็นพระธิดาองค์หนึ่งของพระจอมเกล้า (King Mongkut) จริง แต่เนื่องจากผู้ประพันธ์ (ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช) เขียนเรื่องนี้ด้วยการเทียบเคียงเหตุการณ์จริง แต่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นความถูกต้องแม่นยำมากนัก เสด็จฯ จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวละครสมมติในเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์ได้เล่าเรื่องหลังนิยายนี้ว่าการเข้าเฝ้าเสด็จฯ ครั้งแรกของตัวผู้ประพันธ์เอง เสด็จได้ตรัสถามชื่อของผู้ประพันธ์ผ่านการคุยกับเสาตึกบ้าง ตรัสกับแม่ของเขาด้วยการพูดกับกระโถนบ้าง อาจเพราะเจ้านายวันนั้นไม่สื่อสารกับบ่าวไพร่หรือคนที่ต่ำกว่าตรงๆ ต้องผ่านการพูดคุยกับสิ่งของแทน ซึ่งต่างกับรายละเอียดของเสด็จฯ ในสี่แผ่นดินที่ไม่มีการอธิบายในส่วนนี้ ทั้งที่สี่แผ่นดินนั้นคือการมองโลกรอบตัวผ่านตัวละครคือแม่พลอย การที่เสด็จฯ ไม่ได้มีพฤติกรรมแบบคนทั่วไป ต้องเป็นความรู้สึกที่สะดุดใจแม่พลอยบ้าง แต่ไม่มี ถ้าผู้ประพันธ์ไม่จงใจข้ามรายละเอียดเรื่องนี้ไปก็คงไม่มีเหตุผลด้านอื่น

เสด็จฯ ในนิยายนั้น มีแต่แสดงด้านพระคุณให้พลอยเห็น ไม่มีด้านพระเดช หรืออารมณ์อื่นๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ ทั้งยังชอบใช้คำพูดที่แสดงถึงอารมณ์ขบขัน จริงใจ เช่น “ดัดจริต” (พูดกับพลอยหรือคนอื่นๆ เกี่ยวกับการที่เสด็จฯ จะให้แต่งงานแต่พลอยบอกยังไม่พร้อม) “ถ้าชั้นไม่ปล่อยให้ไปก็ร้องห่มร้องไห้ ไปนินทาว่ากดขี่บ้างล่ะ” คำว่า “กดขี่” ถูกนำมาใช้บ่อยในเรื่องนี้ แต่นำมาใช้ในทางบวกทั้งหมด เช่นตอนที่พ่อของพลอยอยากให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน แต่ถามความเห็นจากพลอยก่อน เพื่อไม่ได้ดูเป็นการกดขี่ แบบนี้เป็นต้น

เรื่องที่ประทับใจเกี่ยวกับเสด็จฯ ของผม คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเมตตาของเสด็จที่มีต่อตัวพลอย ผู้อ่านอย่างผมยังคล้อยตามความรักความรู้สึกของพลอยที่มีต่อเสด็จได้ไม่ยากนัก

ยังมีคำพูดของเสด็จฯ ที่ผมจำได้คือตอนที่เสด็จฯ พูดถึงเจ้านายส่วนใหญ่ที่มีอายุสั้น และเมื่อตายลงไปแล้ว ตำหนักก็ถูกปิดร้าง (ไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้)

เกี่ยวกับเสด็จฯ ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ยังใช้สำนวนในการเล่นคำให้ผู้อ่านประทับใจไม่รู้ลืมเช่นประโยคที่มีคนมาถามเสด็จว่า “เสด็จให้ดิฉันมาถามเสด็จ ว่าเสด็จจะเสด็จด้วยหรือเปล่า ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย…” เป็นประโยคที่หลายคนจำขึ้นใจ และถูกยกมาพูดซ้ำอยู่บ่อยๆ นับว่าเป็นชั้นเชิงการวางคำเพื่อให้ผู้คนจดจำได้อย่างชาญฉลาด

แม่ช้อย

ช้อยพบกับพลอยครั้งแรกตอนที่พลอยอายุ 10 ขวบ ส่วนแม่ช้อยอาจแก่เดือนหรือปี แต่ไม่มากไปกว่าหลายปี ทำให้ทั้งสองสนิทกันได้ง่าย และด้วยการที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันตัวแทบจะติดกันจึงพัฒนาเป็นเพื่อนรักกัน และเป็นมิตรสหายตลอดชีวิตจวบจนถึงวาระสุดท้ายของแม่พลอย แม่ช้อยมีบุคลิกอันโดดเด่น ช่างพูดช่างเจรจาแม้กับการต่อล้อต่อเถียงกับเสด็จฯ ก็ดูเหมือนจะมีแม่ช้อยคนเดียวเท่านั้นในตำหนักที่กล้า ตัวอย่างของเรื่องนี้คือตอนที่แม่ช้อยขอจักรยานกับเสด็จฯ เพื่อให้แม่พลอย แต่การขอนั้นเป็นไปด้วยคารมอันชาญฉลาด ที่ผมไม่เห็นจากตัวละครไหนในเรื่องนี้

และไม่ใช่เพียงคารมวาจาเท่านั้น แม่ช้อยยังมีความประพฤติที่กล้าหาญและเสรีกว่าแม่พลอยตัวเอกของเรื่องเสียอีก ตัวอย่างเช่นการชอบออกไปเที่ยวเตร่ไกลๆ เกินกว่าที่คุณอาสายอนุญาต การคบค้าสมาคมกับกลุ่มคนต่างๆ ในวัง ไปจนถึงเรื่ิองที่ผมประทับใจเป็นที่สุด คือฉากที่ช้อยแอบเห็นท่ากระโดดน้ำและว่ายน้ำจากหนังสือฝรั่งของเสด็จฯ และชวนแม่พลอยไปแอบฝึกอยู่เงียบๆ ตอนกลางคืน (แม่พลอยทำหน้าที่เป็นผู้ชม)

บุคลิกและลักษณะเช่นนี้ เป็นแนวทางแบบที่ผมประทับใจจริงๆ แม้ว่าทุกวันนี้เราจะเห็นสาวสมัยใหม่กล้าหาญและเสรีกว่าแม่ช้อยในทางปฏิบัติ แต่เมื่อพิจารณาจากบริบททางยุคสมัย สิ่งแวดล้อม และตัวละครอื่นๆ แล้ว หากผมย้อนเวลากลับไปยุคสมัยนั้นได้ จะไปสู่ขอแม่ช้อยมาออกเรือนด้วยกัน เพื่อไม่ให้แม่ช้อยต้องทนอยู่กับสิ่งแวดล้อมในวังที่นับวันจะถดถอยลงเรื่อยๆ (จากเนื้อเรื่อง) จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คึกคักในวันนีิ้ เพราะชีวิตในบั้นปลายแม่ช้อยนั้นน่าสงสารในแง่หนึ่ง เพราะพอสิ้นเสด็จฯ และคุณอาสายแล้ว แม่ช้อยยังคงใช้ชีวิตต่อในวังที่เริ่มร้างผู้คน ทั้งยังต้องเลี้ยงตัวด้วยทักษะชาววังในการประดิษฐ์ประดอยสิ่งต่างๆ ออกมาจำหน่าย

อีกนัยหนึ่งผู้ประพันธ์ (คึกฤทธิ์) อาจต้องการให้ภาพบางอย่างว่าสาวชาววังนั้น ไม่ได้มีชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อเสมอไปก็เป็นได้ ความฉลาดของแม่ช้อยยังถูกแสดงออกมาผ่านคำทำนายที่แม่ช้อยในวัยรุ่นพูดกับแม่พลอยว่า ”วังที่เราอยู่ ที่เราเห็นว่ามันคึกคัก ในวันนึงทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือมเดิม” แต่ก็แน่นอนว่าเป็นการมองย้อนจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไปแล้ว กระนั้นความฉลาดของแม่ช้อยที่จงใจสร้างโดยผู้ประพันธ์ ก็ประทับใจผู้อ่านอย่างผมอยู่ดี

แม่พลอย

อาจไม่ต้องอธิบายความมากนัก เพราะความสำคัญของแม่พลอยนั้น มันคือระดับเดียวกับการที่เราเรียกชื่อ “แม่พลอย” แทนชื่อนิยายสี่แผ่นดินนี้ก็ยังได้ (Synonym) แม่พลอยเป็นตัวเอกหลักของเรื่อง (Protagonist) แต่ลึกกว่านั้นคือการมองโลกผ่านจิตใจของแม่พลอย เมื่อสิ้นแม่พลอย สี่แผ่นดินก็จบตามไปด้วย และยิ่งถ้าเรามองลึกไปกว่านั้นอีกนิด มันก็คือ “สาร” เดียวกับที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อไปยังผู้อ่าน ผู้ประพันธ์ใช้แม่พลอยเป็นทางผ่านสาร (Passage หรือ Carrier) นำความนึกคิดแบบแม่พลอยให้จับใจคนจำนวนมากทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

และเมื่อเป็นเช่นนั้น การสร้างบุคลิกแบบแม่พลอยจึงทำได้ไม่ยากนัก แม่พลอยเปรียบเหมือนดังผ้าขาวไม่มีพิษมีภัยกับใคร ทั้งยังใจบุญดุจดั่งพระโพธิสัตว์ สามารถให้อภัยศัตรูที่อาฆาตแม่พลอยมาอย่างยาวนานอย่างคุณอุ่น หรือแม้แต่จะรับเด็กที่ไม่ได้เกิดแต่ตนเองมาเลี้ยงดูเป็นลูกได้คนหนึ่งโดยบริสุทธิ์ใจอย่างตาอ้น

แม่พลอยต่างกับพระโพธิสัตว์เพียงแค่การ “ยึดติด” ที่ยังไม่สามารถปล่อยวางห่วงบางอย่างเช่นลูกๆ ของตนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในหัวอกของผู้หญิง (ความเก่งกาจของคึกฤทธิ์คือการเล่าเรื่องราวผ่านโลกของผู้หญิงที่แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันยังอินไปด้วยอย่างลึกซึ้ง-ทมยันตี) ในขณะที่ค่านิยมหลักของแม่พลอยอย่างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงน้ำใจต่างๆ ที่แม่พลอยแสดงออกมาตลอดทั้งเรื่องนั้น คือการสร้าง “ค่านิยม” ที่พ่วงความสวยความดีเข้ากับความจงรักภักดีได้อย่างแนบเนียน ทั้งที่ความจริงเราอาจบอกได้ว่าทั้งสามอย่างนี้ไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ คึกฤทธิ์ได้สร้างตัวละครระดับ Bulletproof ให้แม่พลอยเป็นตัวละครที่มีคนรักแบบ 100% แม้แต่ผมที่กำลังเขียนวิจารณ์แม่พลอยอยู่นี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น

และถ้าเราพิจารณาความจงรักภักดี ไปจนถึงชีวิตส่วนอื่นๆ ของแม่พลอย เราจะพบว่าชีวิตของแม่พลอยนั้นแทบจะไม่มีจุดสะดุดใดๆ เลย (ไม่นับชีวิตของลูกๆ เพราะผลจากการกระทำของตัว) แม่พลอยแม้จะเป็นลูกของแม่แช่มเมียน้อยของคุณหลวง แต่ก็เป็นเมียที่คุณหลวงรักมาก และส่งผลมายังแม่พลอยด้วย การเข้ามาอยู่วังใกล้ชิดกับเสด็จฯ และการแต่งงานกับลูกเจ้าสัวมรดกมากมีที่กินผลประโยชน์อย่างเดียวโดยที่ตัวไปรับราชการได้ (คุณเปรมสามีแม่พลอย) ทำให้เราพอเห็นภาพว่าชีวิตที่แทบไม่มีจุดสะดุดใดๆ นั้น มีเบื้องหลังอยู่ที่เหตุผลทางเศรษฐกิจหนุนอยู่ในระดับที่ถ้าเป็นภาษาสมัยใหม่ก็คือ “พวก 1%” แต่แม่พลอยนั้นน่าจะต่ำกว่านั้นไปอีกในระดับ 1 ต่อหมื่นหรือแสน เราไม่เห็นแม่พลอยทำงานหรือสู้ชีวิตใดๆ แบบคุณเชยพี่สาวคนละแม่ และแม่ช้อยเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกันในวัง แต่ต้องมาสู้ชีวิตในระบบเศรษฐกิจจริงเลย ซึ่งสองรายหลังนี้ไม่ทำให้สี่แผ่นดินดูเป็นนิยายไฮโซเกินไปนัก

ในขณะที่ตัวละครแบบแม่พลอยนั้น ในด้านหนึ่งคือความแบนราบและความคาดเดาได้ จึงไม่แปลกที่ผู้อ่านหลายกลุ่มที่คิดเยอะมากหน่อย จะพบว่าแม่พลอยไม่มีเสน่ห์อื่นใดยกเว้นความสวย ส่วนความดีในระดับนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ท่ามกลางเงื่อนไขของชีวิตคนจริงๆ

คุณเปรม

หากคุณประทับใจสี่แผ่นดินจากในละครที่นำมาทำใหม่เรื่อยๆ คุณอาจเคืองผมที่คิดว่า คุณเปรม เป็นตัวละครที่แปลกประหลาดยิ่ง เนื่องจากเวอร์ชันละครนั้นอาจใช้นักแสดงที่ทำให้ตัวละครมีมิติ ในขณะที่ผู้ประพันธ์สร้างคุณเปรมให้เป็นเพียงจุด Counter Point ให้กับเรื่องราวที่มีเพียงตัวเอกเพียงตัวเดียวคือแม่พลอยเท่านั้น หากเราผู้อ่านพบว่าแม่พลอยเป็นตัวละครที่ราบเรียบไร้มิติแล้ว คุณเปรมนั้นเข้าขั้นประหลาดตามที่ผมจะแสดงดังต่อไปนี้ครับ แต่ก่อนจะเล่าถึงแง่นั้น ขอเท้าความกันเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อาจลืมไปบ้างแล้ว

  • คุณเปรมเป็นลูกกำพร้าชาวจีนพ่อแม่เป็นเศรษฐีทิ้งมรดกไว้ให้ อาศัยอยู่โดยมีคุณอาผู้หญิงสองคนดูแลห่างๆ
  • เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในยุคสมัยของร.5 ขอพลอยแต่งงานในยุคปลายรัชสมัย
  • ตำแหน่งพุ่งขึ้นในระดับเจ้าพระยาในยุคสมัยร.6 เนื่องจากเป็นบุคคลใกล้ชิดพระองค์
  • เสียชีวิตในยุคร.7 จากอุบัติเหตุตกม้าหลังจากออกจากงานราชการเพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากออกจากราชการแล้วก็หมดอาลัยตายอยากอยู่ที่บ้านเนื่องจากไม่มีอะไรทำ วันหนึ่งขี่ม้าออกจากบ้านด้วยความรวดเร็วเหมือนเคยจนเกิดโศกนาฏกรรมที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตแม่พลอยคือสูญเสียสามี

ความแปลกประหลาดของคุณเปรมที่โดดเด่นเริ่มต้นที่ตรงนี้ครับ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คุณเปรมคึกคักมากเพราะยังหนุ่มแน่น อยากออกไปร่วมรบในฐานะผู้สนับสนุนประเทศเยอรมันที่ดูเหมือนว่ากำลังได้เปรียบในการรบ โดยที่สงครามนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสยามเลย ครั้นต่อมาสยามประกาศสงครามเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรสู้กับเยอรมัน คุณเปรมกลับลำมาเชียร์ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยที่ลืมคำพูดที่เคยพูดสนับสนุนเยอรมันไว้อย่างหมดสิ้น คุณเปรมจะเล่าเหตุการณ์เหล่านี้ให้แม่พลอยฟังอย่างออกรสตั้งแต่ช่วงที่สนับสนุนเยอรมันมาจนถึงช่วงกลับลำเชียร์สัมพันธมิตรที่สยามประกาศเข้าร่วม การอธิบายบุคลิกกลับลำของคุณเปรมนั้น เป็นเหตุเป็นผลอยู่เรื่องเดียวในแง่ที่ว่าคุณเปรมเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เมื่อประกาศสงครามแล้วคุณเปรมจำเป็นต้องเชียร์ฝ่ายเดียวกัน ซึ่งก็พอเข้าใจได้ โดยเฉพาะเราจะเห็นว่าในหลายๆ ตอนที่คุณเปรมจะ ”ติด” สิ่งที่ิเป็น ”พระราชนิยม” ที่กษัตริย์ทรงโปรดปรานเรื่องใด คุณเปรมจะโปรดปรานเรื่องนั้นทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของการแต่งตัวจัด การขี่ม้าโลดโผน การละคร ไปจนถึงการเล่น (สะสมและขัดเงา) ไม้เท้า ที่คุณเปรมในฐานะผู้ใกล้ชิด ร.6 รับเอามาทั้งหมด

เกี่ยวกับเรืื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังมีแง่มุมเล็กน้อยที่เป็นการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายต่อคำถามที่ว่าทำไมสยามจึงเข้าร่วมในสงครามที่เกิดขึ้นอันไกลโพ้นที่แบบเรียนประถมของผมไม่ได้อธิบายไว้ โดยที่สยามไม่ได้ขัดแย้งใดๆ กับคู่สงครามเลย ผมค้นพบว่าแม้คึกฤทธิ์จะไม่ได้เล่าออกมาตรงๆ แต่ก็เล่าบริบทของเหตุการณ์ผ่านทางตัวละครอย่างคุณเปรม ให้ผมสรุปอีกทีว่่า

สยามรอดูทีท่าว่าใครจะเพลี่ยงพล้ำ แล้วประกาศสงครามกับฝ่ายนั้น ไม่ใช่เพราะอยากอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง แต่เพราะอยากตบทรัพย์ซึ่งในที่นี้คือเยอรมัน โดยคุณเปรมกลับมาเล่าให้แม่พลอยฟังว่าสยามประกาศสงครามต่อเยอรมันแล้ว ตอนนี้เริ่มยึดทรัพย์ห้างร้านต่างๆ ของเยอรมันในเมืองไทย

การส่งทหารไปเข้าร่วมสงครามที่ยุโรปไม่ทันการสู้รบเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่่าสยามไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงครามจริงๆ แค่อยากตบทรัพย์ฝ่ายที่แพ้และได้หน้าในฐานะผู้ชนะสงคราม

กลับมาสู่เรื่องของคุณเปรมต่อครับ มันไม่ใช่มีเหตุการณ์การกลับขั้วทางความคิดอย่างรวดเร็วของคุณเปรมเท่านั้นที่ทำให้ผมตัดสินว่าคุณเปรมช่างประหลาด ทว่ายังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่ช่วยส่งความคิดนี้ให้ชัดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นคุณเปรมมีลูกชายที่เกิดกับพลอยสองคนคือตาอั้นกับตาอ๊อด (อีกคนนึงคือตาอ้นที่เกิดกับสาวไม่ทราบชื่อก่อนหน้าพลอย) ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งคู่ถูกส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษ (ตาอ้นเรียนทหารจึงไม่ถูกส่งไปด้วย โดยไม่นับว่าคุณเปรมไม่ค่อยได้แสดงความรักต่อตาอ้นมากเท่าไรในบทประพันธ์) ครั้นเมื่อส่งไปเรียนต่อที่เมืองอังกฤษแล้วทั้งอั้นและอ๊อดต่างก็ส่งจดหมายกลับมาบ้าน โดยอั้นจะเขียนไม่ยาวนัก แต่เน้นความคืบหน้าด้านการเรียน และความคิดที่อยากพัฒนาบ้านเมือง ขณะที่อ๊อดเขียนบรรยายพรรณนาถึงบ้านเมืองอังกฤษที่แตกต่างจากเมืองไทยอย่างไรบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนการกินการอยู่ แน่นอนว่าในบทประพันธ์นี้เน้นไปที่จดหมายของอ๊อดมากกว่าอย่างชัดเจน โดยบรรยายว่าแม่พลอยเฝ้ารอจดหมายของอ๊อดเพราะอยากรู้รายละเอียดความเป็นอยู่ของลูก ขณะที่อั้นไม่บรรยายแบบนั้น

คึกฤทธิ์พยายามสร้างความรู้สึกให้คุณเปรมเป็น Counter Point กับแม่พลอยอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือการทำให้คุณเปรมชอบจดหมายของอั้น แต่ไม่ชอบของอ๊อดโดยบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ซึ่งสำหรับผมในฐานะคนอ่านแล้ว แม้จะอ่านจดหมายของทั้งคู่เข้าใจ แต่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่คุณเปรมจะอ่านจดหมายของอ๊อดไม่เข้าใจและจะไม่ชอบมัน ทั้งนี้เพราะการพรรณนาของอ๊อดมันเต็มไปด้วยอารมณ์ขบขันและรายละเอียดช่องว่างทางวัฒนธรรมที่คนที่สนใจเรื่องราวของต่างประเทศอย่างคุณเปรมจะต้องอยากรู้ และรู้สึกสนุกกับการอ่านไปพร้อมๆ กับผู้อ่านตัวจริงคือผู้อ่านนิยาย ทั้งนี้โดยไม่ต้องอธิบายว่าแม่พลอยนั้น Enjoy การอ่านจดหมายของตาอ๊อดมากแค่ไหน ทั้งที่ปกติแล้วแม่พลอยจะได้รู้เรื่องราวทางโลกภายนอกจากคุณเปรมมาโดยตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเปรมที่สนใจการละครตามพระราชนิยมย่อมต้องชอบที่ลูกหนึ่งคนสนใจการบ้านการเมือง ส่วนอีกคนมีแววว่าจะเป็นนักเขียนเจ้าสำนวนโวหารที่เอาดีทางด้านวรรณกรรมหรือไปทางด้านการละครได้

อย่างที่สองคือแม้ว่าคุณเปรมจะทำงานใกล้ชิด ร.6 และรักบ้านรักเมืองมาก แต่จดหมายของอั้นที่มีเนื้อหามุ่งไปยังการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ที่ผู้อ่านพอจะเห็นภาพว่านี่คือการปูทางสู่การเป็นสมาชิกคณะราษฏรของอั้น กลับไม่ทำให้คุณเปรมรู้สึกเป็นห่วง ตรงกันข้าม กลับรู้สึกชอบใจความคิดความอ่านของลูกคนกลางคนนี้เสียอีก ซึ่งที่กล่าวมาทั้ง 3 จุดใหญ่ (สงครามโลก, จดหมายของอ๊อด, จดหมายของอั้น) คือความขัดแย้งในตัวเองของคุณเปรมคนที่หากเป็นบุคคลในชีวิตจริงผมคงมีสมมติฐานได้เพียงว่า ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อย่างช่วยไม่ได้ แต่ คุณเปรมไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนจริง เขาเป็นเพียงแค่ตัวละคร ผมในฐานะผู้อ่านก็คงจะสรุปเป็นอื่นไกลไม่ได้ว่าคึกฤทธิ์สร้างคุณเปรมขึ้นมาโดยไม่ได้มีการวางอุปนิสัยหรือบุคลิกอย่างแข็งแรงไว้แต่แรก มันจึงขัดแย้งในตัวเองได้ถึงเพียงนี้ (จริงๆ คุณเปรมก็มีบุคลิกตามสุภาษิตไทยที่ว่า “นายว่าขี้ข้าพลอย” ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวที่ชัดเจนมาก) นั่นก็เพราะว่าคึกฤทธิ์ใช้คุณเปรมเป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนความฟุ้งเฟ้อและพระราชนิยมในราชสำนักทางหนึ่ง โดยอีกทางหนึ่งคือการเป็น Counter Point ในนิยายเรื่องนี้ ยกตัวอย่างจุดสำคัญตามนี้

  • คุณเปรมปรากฏตัวว่าชอบพลอย ในช่วงที่พลอยอกหักจากพี่เนื่องพอดี เนื่องจากพี่เนื่องพลาดท่าไปมีเมียตอนออกหัวเมืองที่นครสวรรค์ (Counter Point ที่ 1 สร้างเรื่องให้ผู้อ่านพบความผิดหวังของพลอย)
  • คุณเปรมขอพลอยแต่งงาน พลอยจึงต้องออกจากวังมาอยู่บ้านคุณเปรมแทน (Counter Point ที่ 2 เปลี่ยนวิถีชีวิตของพลอย)
  • สนับสนุนตาอั้นแต่ไม่ชอบใจตาอ๊อด และแม้ว่าพลอยนั้นจะรักลูกทุกคนแม้แต่ตาอ้นที่ไม่ใช่ลูกในไส้ แต่เราก็พอจะเดากันได้ว่าพลอยนั้นห่วงและเอ็นดูอ๊อดมากกว่าใคร (Counter Point ที่ 3 นี้เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าลูก 3 คนมีแนวทางต่างกันชัดเจน)

การที่คุณเปรมไม่ได้ถูกวางแผนทางอุปนิสัยแต่แรกนั้นชัดเจนในนิยายทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งคือการที่คึกฤทธิ์ออกมายอมรับเองว่าเขาเขียนสี่แผ่นดินลงสยามรัฐเป็นตอนๆ โดยอ่านของตอนเดิมเพื่อเขียนตอนใหม่ทันที การไม่ได้วางแผนที่แข็งแรงมาแต่แรก แต่ต้องทำให้ตัวละครใดตัวหนึ่งมีจุด Counter Point ของเรื่องนี้ทำให้ตัวละครอย่างคุณเปรมมีจุดขัดแย้งในตัวเองจนผู้อ่านสังเกตได้ในที่สุด

เราอาจสังเกตได้อีกว่า หลังจากสิ้นรัชสมัยของ ร.6 แล้ว คึกฤทธิ์ก็ผูกเรื่องให้ตรงกับเหตุการณ์สำคัญในสมัยร.7 ได้อย่างทันท่วงที คือการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก (The Great Depression) ซึ่งส่งผลให้เจ้าพระยาอย่างคุณเปรมต้องออกจากราชการมาอยู่บ้าน และหมดอาลัยตายอยากจนสิ้นชีวิตในที่สุด ซึ่งถือเป็นจุด Couter Point สุดท้ายให้กับพลอย คือปล่อยให้พลอยต้องใช้ชีวิตอยู่ลำพังกับลูกและบริวาร สังเกตว่าคึกฤทธิ์คงเห็นว่า Function ของคุณเปรมในการเป็นเงาสะท้อนราชสำนัก ร.6 ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงออกแบบให้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุเพื่อให้เกิด Counter Point สุดท้ายให้กับพลอย

ที่กล่าวหาคุณเปรมอย่างสาดเสียเทเสียมาทั้งหมด (จริงๆ คุณเปรมไม่ได้ผิดอะไร การไม่ได้ออกแบบอุปนิสัยของตัวละครให้ชัดเจน และการวางพล็อตไว้อย่างหลวมๆ ของผู้ประพันธ์ต่างหากที่ผิด) ผมค้นพบว่าคุณเปรมก็มีจุดที่ผมชอบใจอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่นจังหวะสำคัญที่คุณเปรมเข้าถึงพลอยในวัยหนุ่ม ในช่วงแรกนั้นคุณเปรมได้แต่แอบมองจนพลอยสังเกตได้และรู้สึกกลัวปนรำคาญจนต้องให้แม่ช้อยออกแรงด่าให้อับอายครั้งหนึ่ง ครั้นพอมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพลอยมากที่สุดที่บางปะอิน คุณเปรมกลับวางเฉยต่อพลอย ทว่าทำท่าทางเอาใจคุณสายผู้ปกครองของทั้งช้อยและพลอย ซึ่งเป็นจังหวะที่ทำให้พลอย (พูดในภาษาของวันนี้คือ) เสียเซล์ฟเอามากๆ เพราะคิดว่าคุณเปรมจะสนใจตัวแต่หาไม่ โมเมนต์นี้คือสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในตัวคุณเปรม ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเปลี่ยนเรื่องเท่านั้นเอง

อ้น, อั้น, และอ๊อด

แม้ว่าคุณเปรมจะมีบุคลิกไม่แข็งแรงนัก แต่ลูกสามคนนั้นกลับมีแนวทางของตนเองไว้อย่างจงใจผู้ประพันธ์ ตั้งแต่การวางตาอ้นให้เป็นทหาร เพื่อให้ต่อมาต้องมาต่อสู้กับอั้นในสงครามโต้อภิวัฒน์ (กบฏบวรเดช) โดยให้ตาอ๊อดเป็นผู้สังเกตการณ์ แม้ว่าเราจะเห็นว่าอ๊อดนั้นแอบเอนเอียงไปทางกลุ่มอำนาจเก่าอยู่นิดๆ แต่ก็เป็นผู้เข้าใจเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองนี้ดี เพื่อถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้ให้แก่แม่พลอยอีกที (หลังจากสิ้นคุณเปรมไปแล้ว ก็มีตาอ๊อดคอยถ่ายทอดความเป็นไปของบ้านเมืองแทน เพราะแม่พลอยเป็นตัวละครที่ไม่ได้สนใจการเมืองการปกครอง)

เกี่ยวกับอั้นกับอ๊อด ส.ศิวลักษณ์ให้ข้อสังเกตว่าถอดแบบมาจากสองพี่น้องปราโมช (อั้นคือคุณเสนีย์ ส่วนอ๊อดคือคึกฤทธิ์ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้เอง ความต่างในรายละเอียดคืออั้นนั้นเรียนที่อังกฤษและต่อกฎหมายที่ฝรั่งเศส แต่เสนีย์ ปราโมชจบกฎหมายที่อังกฤษไม่ได้ไปต่อกฎหมายที่ฝรั่งเศส ส่วนตัวละครอ๊อดนั้นต่างกับคึกฤทธิ์ในแง่ที่เขารักสบาย รักแม่และไม่อยากทำงาน อยากอ้อนแม้ไปนานๆ ในขณะที่คึกฤทธิ์ตัวจริงนั้นมีการทำงานโดยตลอด แต่ถึงกระนั้น ตัวละครที่ผมชอบที่สุดในแง่ของสำนวนโวหารก็คืออ๊อดนั่นเอง เพราะคึกฤทธิ์ได้ถ่ายทอดความเป็นตัวเองในแง่นี้อย่างชัดเจนให้กับอ๊อด ตอนที่อ๊อดเขียนจดหมายจากเมืองอังกฤษหาแม่ ซึ่งมีรายละเอียดทางวัฒนธรรมทั้งสนุกและขบขันมาก แต่ในขณะเดียวกันอั้นเป็นตัวแทนคณะราษฎรกลับถูกสร้างให้เป็นลูกที่อกตัญญูที่เป็นคุณค่าที่ชาวตะวันออกมอบให้อย่างสูงสุด (อิทธิพลของลัทธิขงจื้อ) ตาอั้นสอบตกทั้งหมดในแง่นี้ เพราะตั้งแต่เริ่มไปเรียนก็พูดจาแปลกๆ เกี่ยวกับบ้านเมือง จนอ๊อดแอบมาบ่นทางจดหมายบ่อยๆ ไปจนถึงการแอบมีเมียฝรั่งโดยไม่ปรึกษาพ่อแม่ ที่นอกจากจะเป็นขบถต่อวัฒนธรรมอันดีงามแล้ว ยังอุปมาได้กับการที่คณะราษฎรนำประชาธิปไตยซึ่งเป็นค่านิยมแบบฝรั่งเข้ามาในบ้าน ในที่นี้ก็คือเมืองไทยอีก ยังไม่นับเรื่องที่ว่าคุณอั้นได้ให้คำมั่นสัญญากับแม่พลอยเรื่องการไม่ก่อการกบฎต่อบ้านเมืองซึ่งก็ทำไม่ได้ หรือแค่เพียงรับปากเพื่อให้แม่พลอยสบายใจ หรือเป็นเพียงการเล่นคารมกับแม่พลอย เพราะพลอยให้อั้นสัญญาว่าจะไม่คิดร้ายต่อบ้านเมือง ในขณะที่ในใจอั้นนั้นอาจคิดว่าเขาทำเพื่อบ้านเมือง ซึ่งในที่สุดแล้ว มันก็ผิดคำสัญญาต่อแม่ของตัวเองอยู่ดีในมุมมองของผู้อ่าน

ได้ข่าวว่าสี่แผ่นดินเวอร์ชันละครเวทีของคุณบอย ถกลเกียรตินั้นสร้างให้คุณอั้นเป็นตัวละครที่ร้ายกาจมากทีเดียว แต่ในขณะที่บทประพันธ์ต้นฉบับนั้น ไม่ทำร้ายจิตใจคนรักแม่พลอยระดับนั้น เนื่องจากคุณอั้นยังพอมีด้านดีๆ บ้างเช่นรักแม่ รักพี่น้องและคอยดูแลกิจการผลประโยชน์ของครอบครัว โดยบทประพันธ์จะโบ้ยความชั่วร้ายกาจสุดๆ ไปให้คุณเสวี ที่เป็นตัวแทนคณะราษฎร เพื่อนของอั้นที่เข้ามาดองกับแม่พลอยผ่านการแต่งงานกับลูกสาวคนสุดท้องที่ชื่อประไพ ความร้ายกาจของคุณเสวีนั้นนับว่าสุดๆ ในแง่ที่ตั้งใจแต่งงานกับครอบครัวเศรษฐีและขุนนางอย่างแม่พลอยเพื่อหวังปอกลอกในสมบัติ ไปจนถึงการกักตุนยาเพื่อมาขายให้แม่ยายตัวเองในช่วงสงครามโลกอย่างราคาแพงโดยไม่นับญาติหรือความเป็นแม่ยาย

คุณเสวีนั้นอาจเป็นตัวแทนคณะราษฎรใครสักคนที่คึกฤทธ์ไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นปรีดีหรือจอมพลแปลกก็ตามก็เป็นความตั้งใจของผู้ประพันธ์ที่ให้ตัวละครไม่อาจเทียบเคียงได้กับผู้มีชีวิตจริง แต่สารที่ผู้ประพันธ์ได้ถ่ายทอดออกไปให้คนไทยจำนวนมากที่เกิดหลังปี 2498 นั้น ทำหน้าที่ได้ดีมากเลยทีเดียว ตั้งแต่การใส่ร้ายคณะราษฎรผ่านนิสัยแย่ๆ ของตัวละคร ไปจนถึงการอวยเชื้อพระวงศ์ด้วยกันผ่านตัวละครอย่างหม่อมน้อยที่เข้ามาจีบประไพแข่งกับคุณเสวี แต่พ่ายแพ้ไปเพราะประไพชอบคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าอย่างคุณเสวี ไม่ใช่หม่อมน้อยที่เด็ก ทว่าสุภาพนอบน้อมจนแม่พลอยเอ็นดูออกนอกหน้า โดยจงใจเล่นกลทางความคิดกับผู้อ่านให้รู้สึกเสียดายและเสียใจแทนแม่พลอยที่ลูกสาวเลือกคนผิดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือพูดอีกแบบให้เข้าใจง่าย เลือดเจ้าเลือดสีน้ำเงินนั้นย่อมดีกว่าสามัญชนมักใหญ่ใฝ่สูง ซึ่งถึงวันนี้ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า Statement ข้างต้นนั้นมัน Valid เพียงใด (ขออนุญาตกระแดะใช้คำอังกฤษเพื่อความสะใจในอารมณ์)

จากนิยายสู่โลกจริง

ความผิดพลาดในคณะราษฎรที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์นั้นอาจมีหลายอย่าง การที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจสร้างสี่แผ่นดินขึ้นมาในปี 2498 นั้น ก็คงหวังที่จะแขวะศัตรูทางการเมืองแบบตอกตะปูปิดฝาโรง เพราะตอนนั้นจอมพลแปลกในฐานะผู้นำก็ร่อแร่เต็มที จนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยมือขวาของตัวเองคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปีสองปีต่อมา ปิดฉากคณะราษฎร์คนสุดท้ายที่ทิ้งมรดกทางการเมืองไว้ให้ถึงวันนี้ คือการยกระดับกระบวนทรรศน์ของประชาชนไทย

แม้ว่าสารอันทรงพลังจากสี่แผ่นดินนั้นยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีผ่านการผลิตซ้ำขยายผลมาจนวันนี้ นั่นก็คือครึ่งทศวรรษเข้าไปแล้ว ก็มีคำถามว่ากลุ่มผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคุณค่าที่สี่แผ่นดินยกย่อง (คุณค่าสีน้ำเงิน) เช่นพวกที่มีความเห็นไปทางซ้าย สังคมนิยม เสรีนิยม ไปจนถึงผู้รักประชาธิปไตยจะเขียนนิยายระดับ mind shaping แบบสี่แผ่นดินได้หรือไม่?

นับเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งที่เราพบว่า หากเราอ่านหนังสือ หรือดูหนังโดยเฉพาะจากต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมใดๆ เหล่านั้นเกือบทั้งหมด เราต่างจะพบว่ามันเป็นคุณค่าแบบเสรีนิยมที่เป็นมรดกของมนุษยชาติไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษแล้วนับจากยุค Enlightenment ตัวอย่างง่ายๆ ที่ชัดเจนคือหนัง AV ที่แสดงความเสรีนิยมสุดๆ ในระดับที่การร่วมรักจริงๆ เป็นเพียงการแสดงที่ทำกับใครก็ได้

ดังนั้นผมพบว่าเราไม่จำเป็นต้องแต่งนิยายเพื่อโปรโมทแนวคิดแบบนั้น เพราะมันแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะคนเมืองใหญ่มานานแล้ว แต่ถ้าถามว่าเราจะใช้วิธีเดียวกันกับสี่แผ่นดินในการใส่ร้ายคนกลุ่มหนึ่งและเชิดชูคนกลุ่มหนึ่ง นี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีใครแต่งนิยายแบบนี้เพราะมันเป็นวิธีการที่ต่ำทรามเกินไปนั่นเอง ไม่นับว่าจะมีกระบวนการทางกฎหมายเล่นงานในระดับกักขังหน่วงเหนี่ยวจิตวิญญาณจนกว่าเราจะยอมรับสารภาพ และแม้ว่าเราจะมี resource มากมายให้เราใช้ประพันธ์โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ร้ายใครเลยก็ตาม แค่เอาเรื่องจริงที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมาใช้ก็พอ


1: ประชาธิปไตยบนเส้นขนานนั้นคล้ายสี่แผ่นดินในแง่ที่อิงเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะที่ประชาธิปไตยฯ เน้นความถูกต้องของเหตุการณ์สูง สี่แผ่นดินจะหละหลวมกว่า ประชาธิปไตยฯ ยังไร้อารมณ์เพราะผู้ประพันธ์พยายาม Detached ตัวเองออกจากเรื่องราวและพยายามจะเป็นกลาง (ไม่จริง) แต่สี่แผ่นดินนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์และเอียงข้างอย่างชัดเจน

10 Comments

  1. "แม่พลอยเป็นตัวเอกหลักของเรื่อง (Antagonist)" ตรงนี้น่าจะหมายถึง protagonist หรือเปล่าครับ

  2. เราคิดว่า โดยรวมถ้าใส่บริบททางด้านปวศ.สังคมในช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มไปจนจบเรื่องได้จะดีมากนะค่ะเพราะจะทำให้เห็นสภาพความเป็นจริงทางสังคมในขณะนั้นกับสิ่งที่นวนิยายสร้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ที่วิเคราะห์ตัวละคร คุณเปรม ถ้าเราย้อนไปดูปวศ สมัยร.6 จะพบว่ามีนโยบายกีดกันคนจีนอย่างหนัก ร.6 เองก็ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "ยิวแห่งบูรพาทิศ" เพื่อใช้ต่อต้านการขยายตัวของคนจีนในช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกอะไรที่มรว.คึกฤทธิ์จะสร้างตัวละครอย่าง คุณเปรม ซึ่งในเรื่องมีเชิ้อสายจีน หรือจะเรียกได้ว่า เป็นคนไร้รากเหง้า (ตรงกันข้ามกับแม่พลอย) จะพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ที่จะทำให้ตัวเองสามารถหลอมรวมกลายเป็น "คนไทย" และก็ไม่ใช่เพียงคนไทยธรรมดาๆทั่วๆ ไปแต่เป็นคนไทยแบบที่มีการศึกษาและเข้าถึงวัฒนธรรมความสมัยใหม่จากตะวันตก ในจุดนี้อ.สายชล สัตตยานุรักษ์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ตัวละครคุณเปรม ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ช่วยสร้างให้ลูกจีนจำนวนมากพบวิธีหรือหนทางที่จะทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในสังคม ผ่านการยอมรับอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเทิดทูและนับถือสถานบันกษัตริย์ เหตุผลอีกประการก็สืบเนื่องความปรารถนาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในทางการเมือง การสร้างตัวละครอย่างคุณเปรม จึงนับเป็นผลดีต่อตัวท่าน เพราะคนจีนในช่วงเวลานั้นมีการขยายตัวอย่างมากแลเริ่มเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในสังคมไทยมากขึ้น (สำหรับเรา การที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างตัวละครอย่างคุณเปรมให้เป็นข้าราชบริพารของร.6 เป็นเรื่องที่irony มากๆไม่แน่ใจว่าจะเป็นตลกร้ายของท่านหรือป่าว) ประเด็นต่อมา ขอออกตัวไว้ก่อนนะค่ะสำหรับคนอย่างเราที่ต้องอ่านและเขียนงานในลักษณะวิชาการ (จากสถานภาพที่มันบังับ –") ทำให้เราพบว่า การอ่านในลักษณะที่พี่เขียน บางอย่างมันดูเลื่อนลอย ถ้าสามารถหาข้อมูลมาอ้างอิงได้จะทำให้งานพี่ลึกและมีน้ำหนักน่าสนใจมากขึ้นนะค่ะ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนแบบงานวิชาการก็ได้ แต่ละคนมีวิธีเขียน/เล่าในแบบตัวเองอยู่แล้ว แต่การใส่แหล่งอ้างอิงไว้บ้างจะช่วยให้งานไม่ดูเลื่อนลอยจริงๆ และพี่อาจพบว่าสิ่งที่พี่คิดและเขียนมันมีประเด็นที่เชื่อมโยงต่อไปถึงสิ่งอื่นที่น่าสนใจได้ (จะว่าเราติดกับวิธีที่เราอ่านก็ได้ แต่เราถือว่าเราแนะนำด้วยความจริงใจนะ ก็แล้วแต่พี่จะใส่ไม่ใส่ ><) ส่วนของข้อสรุป เราจะบอกว่าเราไม่เห็นด้วยแหละ 555 อย่าประเมินค่างานวรรณกรรมม หรือที่เรียกว่า นิยายต่ำอย่างนั้นสิค่ะ ที่สิ่งเหล่านี้แทรกซึมอยู่และยังดำรงอยู่ในสังคมนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะอิทธิพลของงานวรรณกรรมและแน่นอนว่า จากอัฉริยะภาพของผู้เขียน ที่เรียงร้อยค่านิยม อุดมการณ์เหล่านี้ให้กับผู้อ่านและนำไปผลิตซ้ำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เราไม่เห็นด้วยอย่างมากกับประโยคที่บอกว่า "นี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีใครแต่งนิยายแบบนี้เพราะมันเป็นวิธีการที่ต่ำทรามเกินไปนั่นเอง" ในมุมมองเรา เราว่ามันรุนแรงไป ถ้าเราไปดูงานวรรณกรรมของทั้งสองฝั่ง ก็จะเห็นว่ามันมีการพยายามช่วงชิงพท.กันตลอดเวลา เรากลับคิดว่าการเปิดให้มีงานเขียนที่หลายหลายสิดี งานวรรณกรรมก็เหมือนงานปวศ. ในแง่ที่เราไม่ควรแค่อ่านข้อความจากตัวหนังสือแต่เราน่าจะอ่าน หรือวิเคราะห์ พูดคุยกันได้ไปถึงตัวตนผู้เขียน บริบททางด้านสังคม การเมือง หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในหนังสือนั้นๆ เราคิดว่าแบบนั้นสิ เราจะไม่ใช่คนรับสารแต่เพียงผู้เดียวแต่เราจะเท่าทันสิ่งที่เราเสพย์ปล.เราไม่แน่ใจแต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า คนที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการจะพาดพิงถึงในคณะราษฎร์ นอกจากอ.ปรีดีแล้วอีกคนก็อาจเป็น จอมพลพหลพลพระยุหเสนา นะค่ะ เพราะจอมพลพหล เป็นคนที่คอยช่วยเหลืออ.ปรีดีตลอดและตอนที่อยู่ก็มีอำนาจมาก เป็นหัวคณะราษฎร เพราะแม้แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองยังต้องเกรงใจเลย

  3. Werawat Wera

    @AomNicha ไม่ได้ประเมินค่านิยายต่ำนะครับ ตัวนิยายนั้นสนุกมาก และที่มันดังเพราะมันมีคุณค่าบางอย่างต่อสังคมได้ แต่ต่อให้วันหนึ่งสังคมไม่ได้ยึดถือคุณค่าแบบในสี่แผ่นดินแล้ว มันก็ยังมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ – วรรณกรรม ฯลฯ อยู่ <br/>แต่ที่คิดแบบนั้นคือ **วิธีการ** ที่ใช้ผูกนิยายกับการเมือง โดยโจมตีศัตรูทางการเมือง ที่ก็ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าจริงเท็จขนาดไหน แต่คนอ่านนั้นเกลียดพวกคณะราษฏร ผมมีพยานมากมายที่พบเจอ ที่ยังคงโทษคณะราษฏรไม่เลิก ทั้งจากการเสพสี่แผ่นดิน หรือแบบเรียนสปช ก็ตามขอขอบคุณบริบทที่แทรคสอดเข้ามา บางส่วนผมก็พึ่งจะรู้ ส่วน Citation นั้น ตอนแรกตั้งจะ qoute จากนิยายอย่างเดียว เลยไม่ได้คิดจะทำน่ะครับ หลังก็เอามาจาก wiki บ้าง มาจากที่เคยอ่าน แต่ไม่ได้เก็บไว้บ้าง จะกลับไปหาอ่านก็ไม่ทันเสียแล้ว – –

  4. Werawat Wera

    @chayanin ขอบคุณมากที่ทักท้วงครับ แก้เรียบร้อย

  5. Benedict Smith Suksakul

    ขออนุญาตทักท้วงคำพิมพ์ผิดเล็กๆน้อยๆดังนี้ครับ
    ๑. ตาอั้น มิใช่ตาอั๋น
    ๒. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
    ๓. เนื่องจากผู้ประพันธ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผูหลักผู้ใหญ่กว่าคุณWerawatมาก อาจจะเป็นรุ่นเทียดก็ว่าได้ หากเอ่ยนามท่าน จักเหมาะสมกว่าที่จักมิเอ่ยนามท่านด้วนๆว่า “คึกฤทธิ์” เฉยๆ โดยปราศจากคำนำหน้าเพื่อแสดงความเคารพตามสมควร

    • PHz (Author)

      ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ ได้ทำการแก้ไขในข้อ 1-2 เรียบร้อยแล้ว ส่วนข้อ 3 พอดีส่วนตัวผมไม่ชอบสร้อยนำหน้าหรือต่อท้าย ด้วยความเป็นคนที่เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นทุก ๆ คนอยู่แล้ว

  6. poontanb

    จากความรู้สึกส่วนตัวผม มรว.คึกฤทธ์ ไม่ได้ตั้งใจเขียนสี่แผ่นดินขึ้นมาเพื่อหลอกด่าคณะราษฎร์นะครับ แต่เป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในยุคร.5-ร.8 ผ่านมุมมองของท่าน

    ซึ่งเขียนเพื่อด่า กับ เขียนโดยใช้มุมมองส่วนตัว มันค่อนข้างต่างกันนะครับ และการเล่าเหตุการณ์ใดๆผ่านมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทยกลุ่มนึงที่มองเหตุการณ์ในยุคนั้นได้อย่างดี ซึ่งมีคุณค่าในเชิงสังคมและประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

    หรือต่อให้เป็นการเขียนเพื่อหลอกด่าผ่านนิยาย ผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องต่ำทรามแต่อย่างใด

    หากสี่แผ่นดินต่ำทรามเพราะด่าคณะราษฎร์ ถ้าเช่นนั้นวรรณกรรมคลาสสิคของรัสเซียอย่าง “ดอกเตอร์ชิวาโก” ก็คงต่ำทรามในระดับเท่าเทียมกัน เพราะเสียดสีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของรัสเซียอยู่พอสมควร แต่เหตุใดด็อกเตอร์ชิวาโกถึงกลายเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับว่าทรงคุณค่าจากทั่วโลก จนทำให้ผู้ประพันธ์ได้รับรางวัลโนเบล??

    หรือ “Gone with the Wind” วรรณกรรมคลาสสิคอีกเรื่องที่พูดถึงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ หลังสหรัฐอเมริกาประกาศเลิกทาส ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้อยู่ฝั่งใต้อย่างชัดเจน และโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่าฝ่ายใต้ดูแลทาสอย่างดี และทาสก็แฮปปี้ที่จะเป็นทาส แต่ทำไมบทประพันธ์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก แถมเมื่อนำมาสร้างเป็นหนังก็ได้รับรางวัลออสการ์อีกต่างหาก

    ผมมองว่าการที่ผู้ประพันธ์เลือกฝั่ง ผ่านตัวละครในนิยาย เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก และเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ครับ ไม่ใช่เรื่องต่ำทราม

    • PHz (Author)

      ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ

      ความตั้งใจของคึกฤทธิ์ อยู่ที่การเซตให้ตัวละครทุกตัวที่ associated กับคณะราษฏรนิสัยแย่หมด แม้แต่ลูกคนกลาง (คนโตของพลอย)

      และโดยที่คณะราษฏรเองในเรื่อง ไม่มีใครที่ดูดีเลย คนรุ่นถัดมาที่ยังไม่เคยศึกษาอะไรมาก่อน เจอการยัดเยียดของเรื่องนี้ก็เกิดความลำเอียงแล้วครับ

      ในขณะเดียวกัน จะมีใครที่พยายามเขียนนิยาย ให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมดูแย่บ้าง จริง ๆ ก็ไม่ต้องเขียนเป็นเรื่องแต่งหรอก เอาเรื่องจริงมาคุยกันเลยก็ได้ สำหรับประเด็นนี้

      ผมพยายามจะมีมุมเป็นกลางที่สุด เพราะจริง ๆ ก็ชอบสำนวนที่คึกฤทธิ์เขียนจนอ่านติดงอมแงม แต่ไม่ไหวกับวิธีการ เมื่อเราอ่านพบ agenda ทั้งหมด ว่าทำไมถึงเสียเวลาเขียนเรื่องยาวนี้ถึงหลายปี ณ ตอนที่เขียน สถานะของสถานบันฯ ยังไม่ดีเท่าทุกวันนี้ด้วยนะครับ

  7. poontanb

    ว่าด้วยเรื่องตัวละคร

    แม่พลอยนั้นไม่ได้เป็นคนดีงามจนแบนราบซะทีเดียวหรอกครับ
    ตัวละครอย่างแม่พลอยมีมีลักษณะด้อย3จุดใหญ่ๆดังนี้

    เป็นคนเชยล้าหลังไม่ทันโลก บ้านเมืองมีการปรับเปลี่ยนอะไรไป ก็ไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน ซึ่งในทางของการประพันธ์ก็คือกลวิธึที่ผู้ประพันธ์จะเล่าเหตุการณ์บ้านเมืองให้ผู้อ่านฟัง โดยใช้แม่พลอยเป็นตัวแทนผู้อ่าน และให้คนรอบข้างแม่พลอยเล่าให้แม่พลอย(ผู้อ่าน)ฟังนั่นเอง และหลายๆครั้งพลอยก็แสดงออกมาว่าไม่เข้าใจ งง ตามไม่ทัน ซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่ดูมีความเป็น”มนุษย์ทั่วๆไป”ดีครับ (คึกฤทธ์ท่านเคยบอกเองเลยว่าพลอยเป็นคนโง่ แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าถึงขั้นนั้นหรอกครับ)
    ยึดติด รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สมัยพลอยสาวๆยังอยู่ในวัง พลอยไปงานเลี้ยงอะไรซักอย่าง เห็นชายหญิงฝรั่งจับมือเต้นรำกัน พลอยก็รับไม่ได้ ช้อยเสียอีกที่คอยบอกพลอยให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือตอนวัยชราเห็นประไพแต่งหน้าจัดแบบฝรั่งก็โกรธจนสั่งให้ไปล้างเครื่องสำอางออกจากหน้า

    เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพลอยจะวิตกกังวล และเครียดจนป่วย ตอนที่ร.8 สวรรคตพลอยก็เหมือนเครียดจนแบกรับอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พลอยยึดติดกับทุกสิ่งจนรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สุดท้ายพลอยป่วยและจิตใจห่อเหี่ยวจนยากจะเยียวยา และเสียชีวิตตอนอายุ60กว่า ซึ่งต้องเรียกว่าสำหรับผู้ดีมีชีวิตสุขสบายอย่างพลอย ผมถือว่าอายุสั้นไปนิดครับ (จริงๆก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยแหละ)

    พลอยเป็นคนไม่มีเสน่ห์ เสด็จยังเคยเปรียบเทียบพลอยกับแม่แช่ม ว่าพลอยสวยกว่าแม่ แต่แม่แช่มมีเสน่ห์กว่าเพราะแม่แช่มคุยสนุก แต่พลอยคุยไม่สนุก แต่พลอยมีแต่คนรอบข้างรักเพราะพลอยเป็นคนดีนี่แหละ

    อันที่จริงพลอยก็มีความเป็นปุถุชน ในระดับที่เข้าใจได้นะครับ ไม่ถึงขั้นน้องๆพระโพธิสัตว์หรอก

    คุณเปรม
    โดยส่วนตัวผมเข้าใจคุณเปรมนะ
    ข้อแรก เรื่องสงครามโลกครั้งที่1 คุณเองก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้แล้วว่าคุณเปรมเป็นพวกนายว่าขี้ข้าพลอย นี่แหละคำตอบว่าทำไมคุณเปรมเปลี่ยนข้างไปมา เพราะเมื่อร.6ประกาศสนับสนุนฝ่ายสัมพันมิตร คุณเปรมแกก็เปลี่ยนความคิดตาม ร.6นั่นแหละ

    ข้อต่อมา ประเด็นเรื่องตาอั้นและอ๊อด
    ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณเปรมต้องการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มารับราชการในตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมือง เช่นเรียนด้านกฎหมาย ,รัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่การที่จู่ๆตาอ๊อดเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ คุณเปรมย่อมไม่พอใจแน่ๆ เพราะการเรียนสาขานี้ นึกไม่ออกจริงๆว่าจะไปเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองได้อย่างไรในยุคสมัยนั้น (ตาอั้นผมไม่แน่ใจว่าเรียนอะไรแต่คงไม่พ้นนิติศาสตร์ ไม่ก็รัฐศาสตร์ ซึ่งแน่นอนได้ดังใจพ่อ) จึงไม่แปลกที่คุณเปรมจะไม่อยากอ่านจม.อ๊อด ไม่ใช่ว่าไม่อยากรู้เรื่องบ้านเมืองในยุโรปหรอก แต่คุณเปรมไม่โอเคกับอ๊อดแล้ว ทำอะไรก็ไม่เข้าตา และรู้สึกว่าอ๊อดเป็นคนไม่จริงจังกับการเรียนตามที่พ่อส่งมา

    ส่วนเรื่องที่คุณเปรมชอบการละครตามพระราชนิยม ก็ไม่ได้ชอบจริงๆหรอกครับ เป็นการชอบตามนายนั่นแหละ แต่ถ้าจะให้ลูกเรียนหนังสือจริงๆ คงไม่แฮปปี้หรอกถ้าลูกจะเรียนสายศิลป์ ยังไงใจลึกๆคุณเปรมก็ย่อมต้องการให้ลูกเรียนสายกฎหมายหรือการเมืองอยู่แล้วหล่ะ

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.