เล่าเรื่องสระว่ายน้ำ

ผมเคยเสียเงินเป็นสมาชิกสระว่ายน้ำของคลับแห่งหนึ่ง เป็นคลับที่ผมสามารถไปว่ายได้หลาย ๆ ที่ ผมเลยได้ขับรถไปตระเวนว่าย-วนๆไป 3 สระแถวบ้าน ไปจนถึงสระแถวสนามบินซึ่งห่างบ้านไป 50 km ก็ไปมาแล้ว ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุก แต่ใน 3 สระแถวบ้าน จะมีสระหนึ่งที่เพิ่งสร้างไม่นาน ใหม่สุด หรูสุด ดูดี ถ่ายรูปไปโชว์ใครก็ได้ แต่มันจะมีอะไรตลก ๆ เช่น ป้ายข้างสระจะมีระดับคลอรีนกับอุณหภูมิน้ำเขียนไว้อยู่

เนื่องจากผมไปทุกวัน ก็เห็นทุกวันว่าเขาเขียนว่าสองค่านี้มันเท่ากันทุกวัน ผมเองก็ไม่รู้ว่าค่าคลอรีนควรเป็นเท่าไร รู้ว่าต้องมีแม้สระนั้นเขียนโฆษณาไว้ว่าเป็นระบบเกลือ แต่จะเป็นไปได้อย่างไรที่ค่าคลอรีนจะเท่ากับอุณหภูมิน้ำทุกวัน!

มันทำให้ผมแอบคิดถึงสมัยเรียนเคมี และมันจะมีคนลอกผลแลบจากเพื่อนที่เก่ง แต่คนที่เขียนป้ายคลอรีนเขาไม่มีใครให้ลอก เลยลอกของตัวเองทุกวัน

นั่นไม่พอครับ คือพอเราว่ายไปเรื่อย ๆ ในเดือนหนึ่งจะมีช่วงน้ำขุ่นมาก ไม่สามารถใส่แว่นแล้วมองเห็นอะไรได้แบบเก่า เราต้องรออีก 2-3 วันหรือเป็นสัปดาห์ เพื่อให้เขาล้างแล้วทำให้สระกลับมาใสอีกครั้ง ผมจำไม่ได้ว่าเคยไปบ่นเรื่องน้ำขุ่นกับทาง FOH ไหม แต่น่าจะเคยนะ… แต่สุดท้ายต้องรอตามที่ผู้ดูแลเขากำหนด ใช่ครับ คนเดียวกับที่เขียนป้ายคลอรีนทุกวันนี่แหละ


ที่สระว่ายน้ำชุมชนแห่งหนึ่งใน NZ

IMG_9183

ภาพสระว่ายน้ำชุมชนแห่งหนึ่งใน NZ ถ่าย June 2019

สถานที่ที่ดูเผิน ๆ ไม่ได้หรูหรา ไม่สามารถถ่ายภาพไปโชว์ใครเขาให้รู้สึกตื่นเต้นได้ แต่ดันมีสระ 3 แบบ ตั้งแต่เด็กเล็กมาก เด็กโตมาหน่อย (1.05 ม.) และสระผู้ใหญ่ 25m ระดับที่ใช้แข่งขันได้ เพราะมี stand สำหรับการแข่งขัน เด็กเล็กมาก ไม่อยากเล่นน้ำก็ยังมีน้ำพุเล็ก ๆ ให้วิ่งเล่นได้ สนุกสนาน แต่สิ่งที่ดีที่สุดของสระชุมชน?

เข้าฟรีครับ ถ้าผมพาเด็กเล็กมาด้วยในชั่วโมงโรงเรียน เสาร์อาทิตย์พ่อแม่เสียค่าเข้าประมาณ 3.5 NZD แต่เด็กเล็กก็ยังฟรีอยู่ ซึ่งจะว่าไปก็ถูกกว่าที่ไทย ที่ผมเคยใช้บริการอยู่ครึ่งหนึ่ง

ผมมาใช้บริการหลายครั้ง เพราะลูกชอบเล่นน้ำ ก็แอบชม city council หรือเทศบาลส่วนตำบลในเซนส์ของไทยอยู่บ่อย ๆ ว่าเขาออกแบบได้สำหรับทุกคนจริง ๆ สมมติคุณเดินไม่ได้ ใช้ wheelchair ก็ยังมี slope ให้ลงไปว่ายในสระใหญ่ได้ ไม่มีใครโดนทิ้งไว้ข้างหลัง

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ทันสังเกต คือน้ำใสตลอดเวลา ไม่มีน้ำขุ่นแบบที่เคยเจอที่ไทย จนกระทั่งผมสังเกตเห็นทีมงานมาตักน้ำใส่ขวด แล้วเอาขึ้นมารวม ๆ กันขวดอื่นที่เขาตักจากสระอื่น ถึงรู้ทันทีว่าเขาเอาน้ำไปทดสอบทุกวัน

และถ้ามีค่าแปลก ๆ เช่นมีเด็กอึหรือฉี่ใส่น้ำ เขาจะรีบปิดสระนั้นที่มีปัญหา และอัพเดทเว็บไซต์ทันที ทำให้คนที่กำลังจะมา เช็คก่อนได้ว่าสระที่ต้องการมาเล่นปิดอยู่หรือไม่

นอกจากสระว่ายน้ำจะมีตามทุกมุมเมืองแบบเดียวกับห้องสมุด สนามเด็กเล่นก็มีเยอะมาก ดังที่เคยเล่าไปแล้ว ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น หรืออารมณ์ดี ๆ จะไปเล่นของต่างเมืองก็ได้ ไม่มีปัญหา

สังคมธรรมดาแบบนี้แหละ ที่ช่วยให้คู่หนุ่มสาวมีความคิดว่า ถ้าจะมีชีวิตใหม่เกิดมา พวกเขาจะมีปัญหาให้แก้ไขน้อยลง ตั้งแต่ตอนก่อนคลอด วิธีการเลี้ยง (รัฐส่ง midwife มาช่วย) สถานที่เล่น หนังสือ โรงเรียน หมอฟัน ไปจนถึงวัคซีน ในขณะที่ตอนอยู่ไทย ทุกข้อที่กล่าวมาคือปัญหาที่พ่อแม่ต้องขบคิด พร้อมกับเงินอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องเตรียมไว้รอ

ถ้ารัฐไทยอยากให้หนุ่มสาวคิดอยากมีลูก ทำให้เขามีความฝันความหวังในชีวิต และช่วยให้พวกเขาสบายโดยการช่วยแก้โจทย์ต่าง ๆ ข้างต้นให้พวกเขา ใช้กลไกของรัฐอย่างข้าราชการนี้แหละครับ

แต่ผมคิดว่าปัญหาข้างต้นจะแก้ไขไม่ได้เลย ถ้าเรายังไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีใครเห็นความสำคัญของประชาชนหรอกครับ พวกเขาคือไพร่ที่มีหน้าที่จ่ายภาษี ส่วนจะส่งอะไรคืนกลับไปบ้าง ก็คงจะเหมือนตอนที่ผมต้องรอให้สระว่ายน้ำล้างเองก่อน ทุก 2-3 เดือน ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้จะจ่ายค่าว่ายน้ำไปแล้วก็ตาม

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.