ผิดหวังกับ Apple หรือครับ? ผมจะเล่าประวัติย่อของนวัตกรรมให้ฟัง

เผยแพร่ครั้งแรกที่ GROOV Publication

เป็นธรรมเนียมว่าทุกครั้งที่ Apple เปิดตัวสินค้าใหม่ จะต้องมีสาวกหรือ Hater ออกมาเชียร์ กัด หรือวิจารณ์สุดแท้แต่จริตและความคิดส่วนตน ผมพบว่า ต่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเปลี่ยนแปลงโลกและมียอดขายน่าอิจฉาอย่างตอนเปิด iPad ก็มีอิเมล์ส่งไปด่าไปวิจารณ์กับสตีฟ จ๊อบส์กว่า 700 ฉบับ ส่งผลให้เขาหดหู่กันเลยทีเดียว (Isaacson, 2011) นั่นหมายความว่าคนจะด่ายังไงก็ด่า (iPad รุ่นแรกเองไม่ได้เลิศเลอเพอร์เฟกต์ แต่คำด่าบางส่วนที่ส่งไปยังสตีฟ จ๊อบส์ก็มาจากอารมณ์ล้วนๆ เหมือนกัน)

แม้ว่าช่วงหลัง สตีฟ จ๊อบส์ คนคุมทิศทางของ Apple จะไม่อยู่ ยิ่งทำให้มีเสียงบ่น เสียงวิจารณ์หนักเข้าไปใหญ่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่คนด่าเยอะ ก็เพราะคาดหวังเยอะ (ไม่นับพวก Haters gonna hate) ผมมีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่นิดหน่อย เพราะชอบติดตามประวัติศาสตร์นวัตกรรม จึงอยากหยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ แต่ขอโฟกัสที่ 50-60 ปีหลัง เป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ เพราะเราคงปฎิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมยุค 50 ปีหลัง มันเกี่ยวกับ (circulate around) คอมพิวเตอร์เป็นหลัก แม้แต่สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเราคือ Internet ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมสะสม Collective Innovation มันก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์

และอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมจะมาปกป้อง Defend ให้ Apple Inc เป็นหลัก ส่วนตัวผมเห็นว่าปัจจุบัน Product Lines ของ Apple เองนั้นเริ่มทำให้ผู้ใช้สับสน และมีความหลากหลายที่สตีฟ จ๊อบส์เองเรียกว่า Fragmented คือสินค้าตัวหนึ่ง กลับมีทางเลือกเยอะแยะจนเลือกไม่ถูก

ถ้าเรามองสายผลิตภัณฑ์ เราอาจเห็นว่า iPhone มีหน้าจออยู่ 3 ขนาด แต่มีการซอยย่อยด้วยชื่อเรียกอย่าง se, 6, 6 plus, 6s, 6s plus ในส่วนของ iPad เราจะเจอ mini, air 2, pro 9.7″, pro 12.9″ ซึ่งยังมีการซอยย่อยในส่วนของ mini อีก ในความเห็นผม Apple ควรลดเหลือแค่ 3 รุ่น คือ 3 ขนาดของ iPhone และ iPad พอ

เหตุผลที่ Apple ยังคงความสับสนเดิมนี้ไว้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยอดขาย เพราะที่ผ่านมา ยุคหลัง สจ (ตัวย่อสตีฟ จ๊อบส์) Apple มักไม่ฆ่าผลิตภัณฑ์ที่ขายดี เช่นตอนยุค iPad 2 ที่ขายลากยาวมา 3-4 ปี หรือปัจจุบันคือ iPhone 5s เพราะว่ามันขายได้อยู่ พวกเขาจะไม่ฆ่าทิ้งในขณะที่ยังไม่มีตัวแทน iPhone se จึงเกิดขึ้นมาเพราะแบบนี้ ขณะที่ยุค สจ เราจะเห็นว่าเขาไม่ลังเลนักที่จะฆ่าผลิตภัณฑ์ทิ้ง ทั้งที่มันขายดีอยู่ แต่เพราะผลิตภัณฑ์ไม่อยู่่ในภารกิจของบริษัท อย่างกรณี Apple Newton (PDA ยุคแรก) เป็นต้น

มองภาพย้อนหลังกรอบเวลา 50 ปี

เครื่องคิดเลข IBM แบบใช้หลอดสูญญากาศ

เครื่องคิดเลข IBM แบบใช้หลอดสูญญากาศ

จุดตัดคือ ถ้าเรามองจุดสิ้นสุดของ WWII ที่เริ่มมีการใช้เครื่องจักรเข้ารหัสและถอดรหัส (ดู Enigma และ Alan Turing) คอมพิวเตอร์เมนเฟรม เริ่มถูกเอาใช้ในวงการวิจัยและการค้าในยุค 50s ช่วงนั้นมีการพัฒนาจากการใช้หลอดสูญญากาศ มาใช้ Transistor และต่อมาทำเป็นชิปแบบรวมวงจร (Integrated Circuit หรือ IC) พวกนี้ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านขนาดของคอมพิวเตอร์ และกินเวลานานนับทศวรรษในการเปลี่ยนผ่านจากยุคนึงสู่ยุคนึง

จุดเปลี่ยนสำคัญคือพอขนาดมันลงมาเล็กได้ มันคือยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC ซึ่ง Apple Computer Inc. (ชื่อเดิม) เป็นบริษัทที่ก่อตั้งในโรงรถ ในยุคปลาย 70s ในบ้านของพ่อแม่สตีฟ จ๊อบส์

Apple I

Apple I วางขายกันแบบไม่มีเคส ต้องหามาใส่กันเอง

ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ไม่ได้สวยงามแบบที่เราเห็นนะครับ รุ่นแรกมันไม่มีแม้แต่คีย์บอร์ด ต้องมาหาต่อต่างหาก มันต่อออกทีวี มีภาษาเขียนโปรแกรมอย่าง Basic เพื่อให้เราสั่งมันทำโน้นทำนี่ได้

Macintosh (1984)

Macintosh (1984)

Apple ทำขายอีก 2-3 รุ่น ผ่านเวลามา 7 ปีจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือปี 1984 Apple ออก Macintosh คอมพิวเตอร์หน้าตาทันสมัยที่สุดในยุคนั้น พร้อมเมาส์สำหรับลากคลิก มันคือต้นแบบของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบัน แต่ถามว่ามันคือคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มี Graphical User Interface-GUI ไหม คำตอบก็คือไม่

Xerox Star

Xerox Star

ถ้าไม่นับพวกวิดีโอเกมที่ใช้กราฟฟิกมาตั้งแต่เริ่มต้น คอมพิวเตอร์แบบมีเมาส์และ GUI นั้น ทาง Apple เอาไอเดียมาจาก Xerox Star ที่ออกมาก่อนและ สจ และทีมของเขาไปเห็นตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว จริงๆ ทีม Xerox เองก็ไม่ได้ตั้งใจเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ แต่ สจ ดันไปต่อรองเรื่องซื้อขายกิจการกันก่อนหน้านี้ ทำให้ได้เห็นสิ่งที่พวกเขารู้ว่ามันคืออนาคต แต่ Xerox ผู้ที่ครั้งหนึ่งเป็นดาวเด่นในตอนที่พวกเขาคิดค้นวิธีการ copy ภาพ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร กลับไม่สามารถทำ Xerox Star ให้ติดตลาด หรืออีกนัยหนึ่ง คือมันไม่ดีพอนั่นเอง

Apple เป็นนักดัดแปลงครับ เขามองหาวิธีที่จะทำให้มันดีภายใต้เงื่อนไขที่พวกเขามี และงานนี้ไม่ใช่เพราะ สจ เก่งคนเดียว แต่เพราะเขารวมทีมงานเก่งๆ มาช่วยเขาได้ และพวกนี้แหละครับ ที่คอยต่อสู้กับ สจ เพื่อผลักดันหลายสิ่งให้มันเกิด คือถ้าเป็นคนไทย เราจะแพ้ตั้งแต่ยอมให้อำนาจนิยมอย่าง สจ ไปเรียบร้อย

Macintosh เป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายในปีแรก แต่มันคือจุดเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันต่อมาถึง 30 กว่าปี หรือถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

จังหวะเดียวกันพอ Mac ออกสู่ตลาดได้ไม่นาน Microsoft ที่เห็น Mac ตั้งแต่สมัยยังพัฒนา ก็ทำ GUI OS ของตัวเองภายใต้ชื่อ Windows ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ สจ โกรธเอามากๆ แต่ข้ออ้างของบิล เกตต์ CEO ของ Microsoft ตอนนั้นคือ Apple ไม่ได้คิด GUI + เมาส์ เขาก็มีสิทธิ์จะเอาไอเดียนี้มาทำเหมือนกัน

จุดเปลี่ยนหลักของ Apple คือตอนที่ สจ ถูกไล่ออกในปี 1987 วิธีการไล่ออกนั้นก็ดูอารยะ คือไม่ได้ไล่ออกตรงๆ คือให้เขาเป็นประธาน แต่ในทางปฎิบัติคือไม่มีอำนาจทำอะไรได้เลย เรื่องนี้มีการต่อสู้ลากยาวเหมือนกัน รายละเอียดอ่านได้ในหนังสือชีวประวัติ สจ (Isaacson, 2011)

สจ ออกมาตั้งบริษัทใหม่เพื่อผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ในชื่อ Next เป็นตลาดบนที่แพงมาก เน้นลูกค้าคือมหา’ลัยรวยๆ ที่จ่ายไหว ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเท่าไรนัก (แต่มีฐานลูกค้าและมีรายได้อยู่)

ในขณะที่ Apple เอง ค่อยๆ เพรี่ยงพร้ำในสงคราม PC กับ Microsoft จุดที่ทำให้ Microsoft ได้เปรียบมากๆ คือในตอนแรกคู่หู PC-DOS + IBM PC ขายดี จน IBM ผลิตเครื่องไม่ทัน อยู่ๆ ก็เริ่มมีโรงงานอื่น พยายามผลิตคอมพิวเตอร์โดยใช้มาตรฐานที่ IBM วางเอาไว้ ทำให้เครื่องเหล่านั้นใช้ MS-DOS ได้ พอมีหลายๆ โรงงานผลิตเครื่องแบบเดียวกันจำนวนมาก MS-DOS จึงขายพ่วงไปกับเครื่องเหล่านั้น ทำเงินได้เยอะ พอพัฒนามาเป็น Windows ซึ่งตอนแรกยังห่างชั้นกับ Mac แต่มันเป็นตัวเลือกหลัก ของโลกในฝั่งที่ไม่ใช่ Mac (มีคู่แข่งทางเลือกอื่นอีกสองสามราย แต่ไม่ได้แชร์ตลาดใหญ่เหมือนสองรายนี้ ถ้าให้เปรียบคือเหมือน iOS-Android ของ พศ นี้)

ใช้เวลาไม่นานนัก Windows ก็ตาม Mac ทันในเรื่องของความสามารถ และเพราะว่า PC ขายดีกว่า จากเครื่องโคลนของโรงงานต่างๆ และฝั่ง Mac เองไม่ได้นำเสนออะไรใหม่นัก (จริงๆ ก็ทั้งสองฝั่ง) Windows กินตลาดไปเรื่อยๆ จนฝั่ง Mac เหลือยอดแชร์ในตลาดประมาณ 3-5% ในปี 1997 เป็นช่วงที่ Apple วิกฤตส่อจะเจ๊งเหมือนปลาที่เกยตื้นรอวันตาย และ สจ ก็ได้กลับมาบริหาร Apple ใหม่ในช่วงนี้ นับเวลาที่หายไป 1987-1997 คือ 10 ปีพอดี

1987-1997 ช่วงเวลานี้เกิดอะไรขึ้น?

ฝั่ง Windows พัฒนาตัวเองให้ทัน Mac มีระบบปฏิบัติการตัวที่ดังมากยุคนั้นอย่าง Windows 95 แต่สิ่งที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจริงๆ คือ CPU และของต่างๆ ที่อยู่ด้านในคอมพิวเตอร์ หรือพูดให้ชัดคือฮาร์ดแวร์ ที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา มีการแข่งขันกันสูง เช่นตลาด HDD (ใช้ตัวย่อเยอะ ถ้าใครไม่คุ้น ให้ Google ดูครับ) รายละเอียดของการแข่งขันในตลาด HDD ให้อ่านเพิ่มได้จาก The Innovator’s Dilemma (Christensen, 1997)

ใช่ครับ ฮาร์ดแวร์พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ฝั่งที่ติดต่อผู้ใช้นั้นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก คือการพัฒนาไปอย่างช้าๆ นี่เราไม่ควรนับ เราจะเห็นว่า Windows แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากจนถึงปี 2012 ที่ Microsoft ออก Windows 8 ในรูปแบบของ Hybrid คือใช้ทั้งเมาส์ก็ได้ เป็น Tablet ก็ได้

ส่วนฝั่ง Apple เอง พวกเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจาก สจ กลับมาในปี 1997 เขาจับมือกับนักออกแบบที่ต่อมากลายเป็นซุเปอร์สตาร์ของวงการอย่าง Jonathan Ive ออกเครื่องคอมพิวเตอร์ iMac (1998) ซึ่งถือว่าเป็นงานออกแบบที่สุดโต่ง (Radical) ทีมงานที่ทำโฆษณา iMac ตัวนี้ ถึงกับเอ่ยปากว่า “พวกคุณรู้ตัวไหม ว่ากำลังทำอะไรอยู่?” (Isaacson, 2011) คือคนทั่วไปส่วนใหญ่ ไม่คุ้นกับการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ของคอมพิวเตอร์ ที่ก่อนนี้เป็นกล่องที่น่าเบื่อ กลายเป็นแบบ Playful

iMac (1998)

iMac (1998)

iMac ขายดีเทน้ำเทท่า แถมทำให้คนที่ยังไม่เคยมีคอมพิวเตอร์มาก่อน ซื้อ iMac เป็นคอมเครื่องแรก (Isaacson, 2011) ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดกระแส Internet บูมอย่างมาก เพราะว่ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่า www เราสามารถดึงข้อมูลจากคอมเครื่องไหนก็ได้ในโลกที่อนุญาต ผ่าน http – hypertext transfer protocol (บุคคลที่คิดอันนี้คือ Tim Berners-Lee เขาทดลองระบบนี้ครั้งแรกผ่านคอมพิวเตอร์ Next ของ สจ อีกนั่นแหละครับ) สิ่งนี้ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ที่มีหน้าตาเป็นมิตร และพร้อมจะต่ออินเตอร์เนตอย่าง iMac (ตัว i บน iMac คือการบอกว่าเป็น Mac สำหรับ Internet) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ยุคบูมของ MP3

ในปลาย 90s มันเกิดสิ่งหนึ่งที่เป็นกระแสแรงมาก สิ่งนั้นคือ mp3 เทคโนโลยีการบีบอัดเสียงให้ลดลงประมาณ 10 เท่าของขนาดไฟล์ แต่คงคุณภาพใกล้เคียงเดิมไว้ มันเกิดขึ้นในยุคต้นของ 90s แต่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นที่นิยม เพราะคอมพิวเตอร์ค่อยๆ กลายเป็นของสามัญประจำบ้าน + การส่งเพลงผ่านอินเตอร์เนตเป็นเรื่องที่ทำกันได้

ความแรงของ mp3 ส่งผลให้เกิดเว็บไซต์แชร์เพลงอันโด่งดังอย่าง Napster ที่ต่อมาถูกรุมฟ้องยับเยิน หลายๆ บริษัทในวงการต่างก็หาที่ยืนกับเทคโนโลยีอันนี้ โดยการผลิต Media Player มาเล่นไฟล์ชนิดนี้ หลายบริษัทต่างก็กระโดดมาทำฮาร์ดแวร์เล่น mp3 ส่วนยักษ์ใหญ่อย่าง Apple รอดูท่าที ถึงช่วงปี 2000 จึงเริ่มขยับ หลังจากเห็นช่องว่างทางตลาดว่าคนอื่นๆ ยังทำมันไม่ดีพอ

ปี 2001 Apple เปิดตัว iPod เป็นครั้งแรก สิ่งสำคัญที่ทำให้มันดีกว่าของคนอื่นๆ มาจากสองอย่างครับ
1. เขาเพิ่งได้ HDD อันเล็กที่ผลิตโดย Toshiba แต่ Toshiba เองยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร และ Apple รีบทำสัญญาจะใช้มันเป็นรายเดียว
2. Apple คิดค้นวิธีที่ผู้ใช้จะค้นหาเพลงได้อย่างเร็วๆ ด้วย Click Wheel มันคือแป้นกลมๆ ที่ใช้นิ้วลาก ซึ่งสะดวกมากในยุคนั้น ในวันที่แป้นพิมพ์บนจอสัมผัสขนาดเล็กยังไม่มี

iPod (2001)

iPod (2001)

iPod ขายระเบิดเลยครับ ยุคแรกมันยังใช้ได้เฉพาะบน Mac เท่านั้น ทีมงานของ สจ เริ่มพยายามต่อสู้เพื่อให้ Windows ได้ใช้บ้าง จนในที่สุดผู้ใช้ Windows ก็ใช้ iPod ได้ สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ใครหลายคนขยับมาใช้ Mac บ้าง ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นคนในกลุ่มนี้ การมาของ iPod ส่งผลให้ Microsoft ขยับตัวมาทำ Media Player แข่งในชื่อ Zune ซึ่งตอนหลังเลิกไป เพราะไม่ประสบความสำเร็จ

Apple ทำ iPod ออกมาอีกหลายรุ่นนับจากปี 2001 จนถึง 2007 ระหว่างนี้พวกเขาสร้างร้านขายเพลงโดยใช้ Media Player Software อย่าง iTunes เป็นหน้าต่างสู่การเลือกเพลง ขายในราคาไม่แพงนัก และทำเงินให้ Apple มหาศาลในรอบ 6 ปี ก่อนที่จะมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ พวกเขาทำโทรศัพท์ iPhone และอีก 3 ปีต่อมาพวกเขาปล่อย iPad

จริง ๆ Apple ตั้งใจจะทำ iPad ก่อน และเริ่มต้นดูสิ่งนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2003 เป็นเพราะ สจ และบิล เกตต์ ไปงานเลี้ยงวันเกิดของนายช่างผู้ดูแลโปรเจกต์ Windows Tablet และเขาพยายามโชว์พาวกับ สจ ว่า Windows Tablet จะเปลี่ยนโลกขนาดไหน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้บิล เกตต์ ไม่ค่อยพอใจ เพราะพล่ามเยอะไป ส่วน สจ นั้นระคายเคืองมาก ตอนกลับไปบ้านถึงกับสบถออกมาว่า “ไอสัด กูจะทำแทบเลทบ้าง” (Isaacson, 2011)

การออก iPhone นั้น เป็นที่คาดกันว่าจะทำให้ยอดขายของ iPod ตก ปกติแล้วบริษัททั่วไปจะกลัวการทำแบบนี้ คือกินยอดขายของตัวเอง แต่ สจ นั้นเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ในหนังสือ The Innovator’s Dilemma ว่า ถ้าพวกเขาไม่ทำแบบนี้ คนอื่นก็จะทำอยู่ดี และคนที่ไม่ทำ ไม่ใช่แค่เพียงยอดขายตก แต่เพราะวงการไฮเทคมันโหดสัส การพ่ายแพ้แม้สงครามเดียว อาจส่งผลต่อชีวิตบริษัทไปตลอดกาล

สจ ไม่กลัวที่จะกินผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม การมาของ iPhone ทำให้พวกเขาสร้าง Ecosystem ใหม่ที่ทำเงินเป็นหมื่นล้านต่อปีในชื่อ App Store การมาของ iPad ที่ตอนแรกโดนคำวิจารณ์ไปเยอะ แต่ผลของยอดขาย + การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ iPad ยังเป็น Tablet เบอร์หนึ่ง คือไม่มีเบอร์สองที่ผมคิดว่าจะทำได้สูสี ในขณะที่ฝั่งโทรศัพท์คู่แข่งของ iPhone เอง ได้ผลักดันสิ่งที่เป็นนวัตกรรมไปก่อน iPhone จน iPhone ยังต้องทำตาม แต่สิ่งที่ Apple ยังได้เปรียบในทั้งสองตลาด คือความเหนียวของ Ecosystem ถ้าคุณใช้มันด้วยกัน มันจะทำงานร่วมกันได้ดีมาก ในลักษณะที่บริษัทอื่นใดยังทำไม่ได้ ฝั่ง Android-Google เองก็พยายามทำแบบนี้ แต่ติดปัญหาเรื่องความหลากหลายทางผู้ผลิต

หลังจาก สจ ตายไป Apple ใช้เวลาอีก 4 ปี นับจาก iPad ในการปล่อยของใหม่ อย่าง Apple Watch ที่บางคนเรียกติดปากเป็น iWatch

Apple Watch แม้มาทีหลัง แต่ก็ไม่ได้ทำดีห่างคู่แข่งนัก มันต้องชาร์จทุกวัน ขณะที่คู่แข่งในตลาดส่วนใหญ่ทำได้ 3-7 วัน แต่สิ่งที่ชดเชยคือความสวยงามของจอ และความรู้สึกพรีเมี่ยม ที่สำคัญคือทำงานร่วมกับ iPhone ดีมาก เช่นถ้าคุณไม่ได้ดูมือถือ ดูผ่านนาฬิกา ตัวแจ้งเตือนในมือถือจะไม่แสดงต่อ เพราะรู้ว่าเราเห็นแล้ว แบบนี้เป็นต้น ด้วย Ecosystem ที่แข็ง มีฐานคนใช้เยอะ Apple ขาย Apple Watch ไปได้ 11.6 ล้านเรือนในปีก่อน (ระยะเวลาขาย 8 เดือน) ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง Fitbit ขายได้ 20 ล้านเรือน และ Garmin กับ Samsung ขายได้รายละ 3 ล้านเรือนเท่านั้น (IDC Worldwide Quarterly Wearable Device Tracker, 2016) แน่นอนว่าพวกนี้ยังมีตลาดเหลือให้เล่นได้อีกมาก

แอพหลายตัวของ Apple Watch ก็เปิดช้า อันที่จริง Apple สามารถ Refresh มันในปีต่อมาด้วยสิ่งที่เร็วขึ้น ถ้าโชคดีก็แบตอึดขึ้น (เทคโนโลยีแบตเตอรี่ คือสิ่งหนึ่งที่พัฒนาช้าสุด) แต่ถึงวันนี้ก็ใกล้จะครบปีที่ Apple Watch รุ่นแรกออกแล้ว Apple ยังไม่ได้ประกาศอะไรเกี่ยวกับนาฬิการุ่นใหม่ ยกเว้นแต่การทำสายสีใหม่ๆ แบบใหม่ๆ มาขายสาวก ซึ่งถ้าเป็นบริษัทอื่นๆ คือเรื่องปกติ แต่พอเป็น Apple ผู้คนจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์

บทสรุป

จาก Mac (1984) -> iPod (2001) -> iPhone (2007) -> iPad (2010) -> Apple Watch (2015) ถ้าเราดูช่องว่างของเวลา มันอาจทำให้เราคาดหวังว่า Apple จะ Reinvent หรือผลิตนวัตกรรมทุก 3-5 ปี กรณี iPad กับ iPhone ที่มีระยะห่างกันแค่ 3 ปี เพราะมีพื้นฐานเหมือนกัน และแผนการทำ iPad นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว

การที่ Apple Watch ไม่ใช่ของที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึก Wow นั้นอาจทำให้แฟน ๆ ผิดหวังไปพอสมควร ผู้เขียนมีความเห็นว่า หลักๆ แล้ว Apple Watch ยังขาดเพียงระบบพลังงานที่ทำให้คุณไม่ต้องชาร์จมันอีก เหมือนนาฬิกาหรูทั่วไป ซึ่งถ้ามันเป็นจริง มันคือ Disruptive Wearable Device (นอกเหนือไปจากความเร็วซึ่งปรับปรุงได้)

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจลืมไป คือก่อน สจ จะตายนั้น เขาเคยพูดเปรยๆ ว่าสิ่งที่เขาอยากทำเป็นลำดับถัดไป คือ Reinvent Education หรือเปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Apple ตอนนี้พยายามทำอยู่ โดยทำให้ iPad เป็นศูนย์กลาง แทนที่ Text Book และมีระบบที่จัดการโดยครูผู้สอน ผ่าน iPad ได้ ถ้าเด็ก ๆ ไปโรงเรียนโดยไม่ต้องพกอะไรไปมากไปกว่า iPad ส่วนตัวผู้เขียนก็เห็นเป็นจุดเริ่มที่ดี เพราะผู้เขียนเกิดมาในยุคที่แบกกระเป๋าใบใหญ่ๆ ไปเรียนเช่นกัน

Apple นั้นมีแผนเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์เอง ซึ่งยังไม่ได้ประกาศว่าจะปล่อยเมื่อไร ยังมีอีกหลายสิ่งที่ Apple ยังไม่ได้ลงมาเล่นแบบเต็มตัว เช่น IoTs – Internet of Things ซึ่งมันเป็นเรื่องของความหลากหลายมาก จนเราต้องปักธงไปเลยว่าจะผลิตอะไร เช่นกรณีของ Amazon Echo อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะเป็น Hub ของ Home Automation สำหรับ Apple แล้วแค่พวกเขาโฟกัสการทำ iPhone-iPad-Apple TV ให้ทำงานได้ดี ให้ใช้เป็น Hub ของบ้านได้แบบที่ Amazon Echo ทำได้ และทำให้แอพของนักพัฒนาคนอื่นใช้งานได้ดีด้วย ก็นับว่าดีมากแล้วครับ

หากเรารู้สึกผิดหวังกับ Apple นั่นเป็นเพราะเราคาดหวังกับพวกเขาสูงไป และถ้าหากเขาไม่ทำในสิ่งที่เราอยากได้ คงไม่มีเหตุผลใดที่ดีไปกว่า ถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำเองบ้างแล้วล่ะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีระวัฒน์ วีระประเสริฐศักดิ์ ร่วมก่อตั้งบริษัทเกม Picsoft ในปี 2005 เพื่อผลิตเกมลงตลาด PC-Game Console ปัจจุบันผลิตเกมลง iOS เป็นหลัก

ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ GROOV information aesthetics ในปี 2008 เพื่อทำซอฟต์แวร์ข้อมูลให้กับองค์กร และปัจจุบันต่อยอดเป็น [GROOV.asia] ร้านค้าชั้นนำด้าน Creative Gaggets

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.