Productivity: Cloud Computing เพื่อชีวิตเบาๆ

ค้นงานเขียนเก่าๆ มาลง Blog ครับ

บทความนี้มีเป้าหมายเพื่ออธิบายภาพให้ Non-Technical Person ในองค์กรอ่านนะครับ

หากคุณเป็น Tech Geek อยู่แล้ว ไม่แนะนำให้เสียเวลา

ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นิตยสาร GoTraining ปลายปี 2010

มีการ Rewrite ใหม่เล็กน้อย เพื่อให้เนื้อหาทันสมัย


Cloud Computing อาจเป็นหัวข้อยอดนิยมอันดับหนึ่งของงาน Conference ที่เกี่ยวข้องกับ IT ทั่วโลก แต่ในฐานะที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ที่อาจไม่ได้ข้องเกี่ยวกับ IT ตรงๆ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเอนจอยการใช้งาน Cloud Computing เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดี แต่ออกแรงเบาๆ ได้ และอันที่จริงหลายๆท่านน่าจะคุ้นเคยกับมันดี ไม่ว่าจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างเช่นระบบเว็บเมล์สุดเจ๋งจาก Yahoo หรือ Google Gmail ไปจนถึงการปลูกผักสร้างอาณาจักรบน facebook (ตัวอย่างหลังอาจจะเป็นผลผลิตเสมือนที่เป็นขั้วตรงข้ามกับผลผลิตในโลกของการทำงานจริงอยู่เสียหน่อย)

จากที่ยกตัวอย่างมา ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพเลาๆว่า Cloud Computing (หรือที่มีการแปลไทยให้งงงงมากขึ้นว่า “การประมวลผลกลุ่มเมฆ”) คือการใช้งานคอมพิวเตอร์ในมุมมองใหม่ จากเดิมที่เรามี Server คอยจัดเก็บข้อมูล แล้วให้ผู้ใช้งานใช้เครื่อง Client ของตัวเอง เรียกข้อมูลบน Server มาใช้

ในมุมมองของ Cloud Computer เครื่อง Server จะพัฒนาตัวเองมาเป็น Cloud นำคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย และให้เรามองมันเป็นก้อนเมฆหนึ่งก้อน ไม่ใช่เครื่อง Server A – Server B – Server C เหมือนแต่ก่อน และ Cloud ก้อนนี้จะเตรียมทั้ง Data และ Application เพื่อให้เราเรียกใช้งานมัน ได้จากทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ (โดยแนวคิด) ผ่านเครื่องมือพื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Web Browser หรือในหลายๆ กรณีเราจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ผ่าน App บนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ออกแบบมาเฉพาะ

เกริ่นมาขนาดนี้ แน่นอนว่าภาพที่ซับซ้อนวุ่นวายของระบบขนาดใหญ่กำลังลอยพุ่งขึ้นมาจากหน้ากระดาษสู่จินตนาการของคุณผู้อ่าน แต่ผลลัพธ์ของการใช้งานกลับตรงกันข้าม คือเรียบง่ายมากขนาดนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้สึกอึดอัดกับการใช้งาน Gmail หรือ Yahoo mail ที่ถูกออกแบบวิธีการใช้มาอย่างดี และนอกจาก Email แล้ว หลายคนอาจจะนึกออกว่ายังมี Application พื้นฐานอีกหลายตัว ที่เก็บไว้บน Cloud และเรียกใช้งานผ่าน Web Browser ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นโปรแกรมจัดการข้อมูลติดต่อ (Contact), ตารางปฏิทินนัดหมาย (Calendar) และที่ผู้เขียนทึ่งมากๆในวันที่มันออกมาใหม่ และไม่เคยหยุดใช้มันจนถึงวันนี้ นั่นคือการนำโปรแกรมชุด Office มาใส่บนเว็บและเปิดให้ใช้กันฟรีๆ โดย Google แม้ว่าโดยทางเทคนิคแล้ว มันอาจยังแทนที่ Microsoft Office บน Desktop ไม่ได้ 100% แต่มันพัฒนาตัวเองจนดีขึ้นทุกวันๆ (ข้อดีของ Cloud Computing อีกอย่างคือเราไม่ต้องคอยอัพเดทซอฟต์แวร์เอง นักพัฒนาหรือผู้ให้บริการจะเป็นคนทำหน้าที่นี้ให้เรา เราจึงมีหน้าที่เดียวคือใช้งานในฐานะผู้ใช้) ผู้เขียนควรบอกด้วยว่า Microsoft เองก็นำชุด Office ไปไว้บน Cloud แล้วเรียบร้อย (หนีไม่พ้น) หรือหากใครเป็นแฟนสินค้าจากทางฝั่ง Apple ครอบครองอุปกรณ์อย่าง iPhone/iPad ก็มีบริการที่คล้ายกัน เรียกว่า “iCloud” ความพิเศษของมันนอกเหนือจากระบบที่คล้ายกับ Google เช่น Mail, Contact, Calendar, Gallery, Storage แล้ว มันยังมีระบบที่คอยติดตามเครื่องในกรณีที่หายไปอีกด้วย (ผู้เขียนมีลูกค้าที่ใช้ระบบนี้ ติดตามพฤติกรรมการไปโรงเรียนของลูกๆ นับว่าเป็นพ่อแม่ที่ไฮเทคมาก)

ยังมี Applications อีกมากที่เก็บไว้บน Cloud นั้นจะมีประโยชน์มากกว่าบน Desktop เช่น CRM (Customer Relation Management), การเงิน (mint.com น่าเสียดายยังไม่เชื่อมต่อกับธนาคารไทย), การทำงานร่วมกัน (Team Communication/Collaborative) ฯลฯ ถ้ามีโอกาส ผู้เขียนจะหยิบมานำเสนอสู่คุณผู้อ่านในคราวต่อไปนะครับ

ทั้งหมดนี้ แม้ว่ามันอาจต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่บ้าง แต่หากเราคุ้นเคยกับมันแล้ว ชีวิตของเราจะ “เบา” ขึ้นอย่างแน่นอน

เบาแรกคือเบาตัว เพราะไม่ต้องเก็บข้อมูลขนาดใหญ่และ Application ไว้กับตัว ทำให้ไม่ต้องคอยอัพเดทเอง

เบาสองคือเบาใจ เพราะไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลของเราจะหายไป (แนวคิดของ Cloud Computing จะทำการเก็บข้อมูลไว้มากกว่าหนึ่งตำแหน่งภายในโครงสร้างของมัน) เราอาจพบว่าข้อมูลของเราที่เก็บไว้บนคอมของเรานั้นหายไปเฉยๆ ได้ แต่เราจะไม่เคยพบว่าเมล์ของเราเมื่อ 5 ปีที่แล้วบน Gmail น้ันหายไป

เบาที่สามคือเบากระเป๋า เพราะลดต้นทุนทั้งการซื้อ Server และจ้าง System Admin มาดูแล แต่จะใช้บริการจาก Provider ซึ่งจะคิดราคาตามการใช้งานจริงๆ (นอกเสียจากว่าองค์กรเราจะใหญ่มาก จนลงทุน Cloud เองคุ้มค่ากว่า) ไปจนถึงต้นทุนซอฟต์แวร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่เขียนบน Cloud จะมีการใช้งานแพร่หลายมาก ทำให้ผู้ให้บริการชาร์จค่าใช้จ่ายได้ถูกมากๆ ยกตัวอย่างชุด Office จาก Google ปกติเราจะใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าเราเป็นองค์กรที่ใช้งานจริงจังและต้องการใครซักคนจาก Google มาสนับสนุนการใช้งาน ก็จ่ายเพียงปีละ $50 USD ต่อผู้ใช้หนึ่งคนต่อปี เทียบค่าเงินปัจจุบันแล้วเราจะพบว่าต้องใช้งานถึง 20 ปี จึงจะจ่ายเงินเท่ากับซื้อชุด MS Office 1 License

และสุดท้าย ท้ายสุด หากองค์กรมีการนำ Cloud Computing มาใช้กันแทนที่รูปแบบเก่าโดยสิ้นเชิง อาจพบว่ามันช่วยให้องค์กร “เบา” ลงอีกด้วย ทั้งปริมาณคนและปริมาณคอมพิวเตอร์

“เบาคอมพิวเตอร์” จะช่วยลด “โลกร้อน” แต่ผู้เขียนเองไม่แน่ใจนักว่าหลายคนจะเห็นด้วยกับการ “เบาคน” ขององค์กรนะครับ และที่แน่ๆ มี “ร้อนใจ”

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.