รูป รส กลิ่น เสียง Digitizeได้แค่สองอย่าง?

แรกจำความได้ก็ค้นพบสิ่งที่เรียกว่าทีวี ที่จำรายละเอียดได้ลึก เพราะผมถามพ่อว่าเขากำลังทำอะไรกันในนั้น จึงได้รับคำตอบว่าเขากำลังเล่นฟุตบอลกันอยู่ คนรุ่นผมนั้นคุ้นเคยกับสิ่งนี้ บางคนแทบไม่ตั้งคำถามเสียด้วยซ้ำว่ามันทำงานอย่างไร รู้แต่ว่ามันทำได้ และมันเป็นสิ่งที่ควรต้องทำได้ แต่ถ้าให้เราคิดย้อนกลับไปสัก 200 ปีที่แล้ว การนำภาพใดๆ มาผลิตซ้ำ (Reproduce) คงเป็นเรื่องเกินความคาดหมายของคนยุคนนั้นเหมือนกัน

ถึงวันนี้การ Reproduce รูป รส กลิ่น เสียง ได้ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ยังไม่ธรรมดาคือคำถามที่ว่าทำไมเราจึงไม่สามารถทำ Digitize กลิ่นและรสได้ แต่ทำแบบเดียวกันกับภาพและเสียงได้?

ผมมีสมมติฐานเบื้องต้นอย่างง่าย นั่นคือเราจะรับรู้กลิ่นและรสได้จากการสัมผัสสิ่งนั้นโดยตรง แม้ว่าตัวกลิ่นเองจะสามารถทำได้จากไอระเหยหรือแก๊สของสิ่งนั้น การ Reproduce สิ่งที่จับต้องได้มันซับซ้อนกว่าการ Reproduce ภาพและเสียงเยอะมาก เพราะภาพใช้การเล่นกับแสงโดยผลิตวัตถุที่สร้างแสงได้เอง (LED) หรือวัตถุที่เปลี่ยนความเข้มข้นของการดูดซับแสง (eInk) ขณะที่เสียงนั้นผลิตโดยการสั่นอากาศให้เป็นคลื่น (ลำโพง-หูฟัง) แต่ทั้งกลิ่นและรสนั้นคือการเล่นกับอะตอม การสังเคราะห์อะตอมนั้นพอจะทำกันได้ แต่ไม่ใช่ทำผ่านอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เพื่อให้ทุกบ้านสร้างกลิ่นเหล่านั้นตามต้องการได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ผมยังไม่หมดหวัง เพราะหลายคนก็พยายามจะไปให้ถึงจุดนั้นอยู่ วันนี้เราอาจเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะ Digitize กลิ่นและรส แต่คนในอีก 200 ปีข้างหน้าอาจพบว่ามันทำได้ง่ายๆ และต้องทำได้ก็ได้

นึกอะไรเล่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงอีกเรื่องในชีวิตประจำวันที่เราอาจพบว่า คนเราตาฝาดหรือหูฝาดได้ (การหักเหแสงและเสียงผ่านตัวกลาง) แต่เรามักจะไม่ค่อยจมูกฝาดหรือลิ้นฝาด ยกเว้นแต่ว่ามันเป็นการเสื่อมถอยของระบบประสาทแล้วจริงๆ

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.