สิงคโปร์กับการป้องกันภัยก่อการร้าย

ผมเหยียบแผ่นดินสิงคโปร์ครั้งแรกในช่วงปี 2009 ในตอนนั้นที่จำได้แปลกตาที่สุด คือแทนที่โฆษณาต่าง ๆ ตามที่สาธารณะโดยเฉพาะตามรถไฟฟ้า จะเป็นโฆษณาขายของ ทุนนิยมจัดเต็มแบบที่ผมคุ้นเคยในประเทศไทย

ผมกลับพบว่าเกินครึ่ง จะเป็นโฆษณาจากภาครัฐ เช่นโฆษณาที่บอกให้เราเล่นล็อตโต้อย่างระมัดระวังอย่าให้เกิน 5% ของรายได้ เก็บเงินไว้สำคัญครอบครัวบ้าง (สิงคโปร์ออกล็อตโต้รายวัน) หรือไม่ก็บอกว่า กระทรวง Man Power (ทรัพยากรมนุษย์) ใส่ใจการทำงานของทุกคนบ้าง

อันที่แปลกใจที่สุด ที่ยังไม่เคยเห็นในไทยจนป่านนี้ คืออันที่บอกให้ “ทุกคน เฝ้าระวัง สิงคโปร์อาจเป็นที่ก่อการร้าย เมื่อพบสิ่งของแปลกปลอมให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐโดยทันที” และในทริปเดียวกันนี้เอง ที่ผมเจอกับตัว ตอนวันกลับที่สนามบิน ผมทิ้งกระเป๋าไว้ที่หนึ่ง เพื่อที่จะเดินไปทำธุระอีกที่หนึ่ง กระเป๋าผมมีแต่เสื้อผ้า ไม่มีอะไรสำคัญนัก เมื่อกลับมาอีกที ตำรวจสนามบินยืนประกบแล้ว ผมบอกว่าเป็นของผมเอง เขาก็มองผมคล้ายจะจับพิรุธและเดินจากไป (ตำรวจเชื้อสายอินโด หน้าตาไม่ต่างจากคนไทยเท่าไรนัก คือไม่ขาวแบบจีนและไม่คล้ำเกินไป)

จากนั้นผมก็มาครุ่นคิดอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับการที่รัฐเขาใส่ใจผู้คนขนาดไหน แม้จะเป็นเพียงรัฐเล็ก ๆ รวมไปถึงความเปราะบางของการก่อการร้าย

โดยไม่เคยพิจารณาว่า จนป่านนี้แล้ว สิงคโปร์ยังไม่เคยถูกกระทำการใหญ่ ๆ เลย อย่างมากคือมีการทะเลาะกันระหว่างชาติพันธุ์และก่อหวอดกันนิดหน่อย แต่ไม่มีเหตุการณ์วางระเบิดคนตายเยอะ ๆ แบบภาคใต้และล่าสุดที่กรุงเทพ

แน่นอนว่าเราอาจคิดว่าสิงคโปร์มันเล็ก ขณะที่ไทยใหญ่กว่ามาก แต่ต้องไม่ลืมว่าเล็กขนาดไหน เมืองใหญ่ที่มีประชากรรวมกัน 5 ล้านคน ก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงได้ ถ้ามีคนประสงค์จะทำจริง ๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราคงหวังพึ่งพารัฐอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องช่วย ๆ กันแล้วล่ะครับ เหตุการณ์ล่าสุด เพื่อนผมทักมาว่า ถ้าเกิดมีคนเห็นชายเสื้อเหลืองลืมกระเป๋าและรีบเอาไปคืนให้ นอกจากจะฮาแล้ว ยังอาจรอดชีวิตอีกด้วย

ยืนด้วยกัน #เราไม่กลัว

#WeStandTogether

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.