ชวนคุยเรื่องความเกลียดชัง (Hatred Implant)

แด่ความเกลียดชังที่ถูกปลูกลงในใจเด็กไทยทุกคน

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดจากการสังเกตมานาน แต่พึ่งจะตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงชวนเพื่อนๆ ใน Twitter คุยเรื่อง “การที่เราถูกปลูกฝังความเกลียดชังนับตั้งแต่ตอนเด็ก”

ก็มีผลรับการตอบรับจากเพื่อนๆ มากมาย ขอยกนำขึ้นมาบางส่วนพร้อมๆ กับ ข้อคิดเห็น บางอย่างของผมแทรกไปด้วย

จุดเริ่มต้นน่าจะเป็นตอนที่พวกเราได้เรียนชั้นประถม และมือวางอันดับหนึ่งที่ถูกจัดให้เราเกลียดชังในอันดับแรกคือพม่า เมื่อคิดถึงพม่า สมองที่ถูกวางข้อมูลของเราจะนึกไปถึงการเผาเมืองอโยธยาทันที

ขณะที่มือวางอันดับสองและสาม ไม่พ้นเขมรกับลาว ซึ่งสมองของเราจะเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่เขมรคอยจ้องทรยศเรารวมไปถึงเรื่องกบฏลาวอย่างเจ้าอนุวงศ์ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต เราอาจพบว่าพม่าทำกับอโยธยาไว้เยอะ พอๆ กับที่อโยธยาเองก็ทำกับประเทศราชต่างๆ ไม่แพ้กัน แต่ถ้าหากคุณผู้อ่านยังโกรธแค้นเพื่อนบ้านต่างๆ เหล่านี้จนถึงตอนนี้ ก็อยากให้ลองพิจารณาดูประวัติศาสตร์ใกล้ๆ ปัจจุบันที่สุดกันนะครับ

พม่า หลังจากเสียเอกราชให้อังกฤษ ก็ถูกอังกฤษแบ่งแยกและปกครอง จนกลายเป็นรัฐน้อยใหญ่จนถึงทุกวันนี้ ซ้ำยังเจอรัฐบาลทหารกดขี่ซ้ำซาก จนพวกเขาต้องหนีภัยยากจนมาเป็นพลเมืองชั้นสองในบ้านเรา ปัญหาเหล่านี้คือผลจากการเมืองภายในล้วนๆ

http://twitter.com/nongb33/status/106685114838302721

เขมร มีความขัดแย้งภายในสูงมาก เสียชีวิตในสงครามและการกวาดล้างจากเขมรแดงที่ต้องการสร้างรัฐในอุดมคติใหม่ ตายไปหลักหลายล้านคน พวกเขาเริ่มมีเสถียรภาพและกำลังฟื้นตัวในระยะเวลาไม่นานนี้เอง

ลาว นั้นคือคู่กรณีกับไทยในสงครามเย็น ที่เราอยู่ฝ่ายเดียวกับจักรวรรดินิยมอเมริกา (คงไม่ต้องอธิบายซ้ำว่าเป็นขี้ข้า) ตอนนี้สงครามสงบแล้ว เราในฐานะผู้สนับสนุนต่างชาติมารังแกพวกเขา ลองพิจารณาดูว่าเราสมควรจะเกลียดชังเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันเหล่านี้อีกหรือไม่

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเกลียดชังภายนอก ยังมีความเกลียดชังภายในอีกหลายครั้งที่สอดแทรกอยู่ในบทเรียน ตั้งแต่การทรยศเปิดประตูให้พม่าเข้าเมือง ที่ก่อให้เกิดวาทกรรม “ขายชาติ” ไปจนถึงการกล่าวโทษคณะราษฏรที่ก่อการอภิวัฒน์ในปี 2475 อยู่โดยอ้อม เช่นการยัดเยียดความคิดเรื่อง “ชิงสุกก่อนห่าม” ไปจนถึงการที่ไม่แก้เนื้อหาการใส่ความปรีดี พนมยงค์ในคดีสวรรคตของร.8 อีกด้วย

Pridi

ลองพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าการที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก มีการเปิดอภิปรายของภาคประชาชน มีการศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาภาคประชาชน มีมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน มีภาษาสมัยใหม่ที่พยายามจะสร้างสำนึกความเท่ากันของคน และอื่นๆ อีกมากเกินจะกล่าวถึง ก็เริ่มมาจากคณะราษฏรทั้งสิ้น ไม่มีการให้เครดิตใดๆ กับคณะราษฏร นอกจากให้เราจดจำวันที่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตอนนั้นคงมีเด็กไม่กี่คนที่จำได้ ถึงจำได้ ก็ไม่น่าจะเข้าใจในรายละเอียด เนื่องจากมีวัยวุฒิที่น้อยเกินกว่าจะสนใจเรื่องพรรค์อย่างนั้น (ผู้เขียนจำได้เลาๆ ว่าเรียนเรื่องเหล่านี้ตอนอยู่ชั้นป.6 พอจะจำได้เพียงปะติปะต่อ ที่นำมาเล่าอะไรต่อก็ยังไม่ได้ และต้องใช้เวลาอีกเท่าตัวหลังจากนั้น ตามมาศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง)

ในขณะเดียวกันที่ปลูกความเกลียดชังไว้ในใจของเรา ก็สร้างอีกขั้วหนึ่งของความเกลียดชัง คือความรักให้เราด้วย

อาจเพราะความจำดีมาก จึงจำได้ดีว่าผู้เขียนถูกจับให้เต้นเฉลิมพระเกียรติเพื่อในหลวงตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล พอขึ้น ป.1 ถูกจับให้ประกวดวาดภาพที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ ในทุกๆ เช้า ต้องแสดงความจงรักภักดีผ่านคำพูดด้วยการปฏิญาณตน

Our King

ผู้เขียนแสดงความจงรักภักดีด้วยความเต็มใจ ในวัยที่ยังไม่รู้เดียงสาหาความ และพอเวลาที่เรารักใครมากๆ มีคนมาแตะสิ่งที่เรารักเมื่อไร ความเกลียดชังจะผุดขึ้นมาในใจเราทันที เช่นในความรักที่มีต่อพ่อแม่ พอถึงวัยที่เพื่อนๆ เริ่มเล่นล้อชื่อพ่อแม่กันแล้ว หลายๆ คนจะแสดงความไม่พอใจในระดับสูง

อาจเพราะอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ผู้เขียนวิเคราะห์ตัวเองจนรู้ทันความคิดเหล่านั้น เมื่อยามที่ถูกล้อชื่อพ่อแม่ เราก็ทำเป็นเฉยๆ ไม่ตอบโต้ใดๆ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเกรงกลัวเพื่อน (เนื่องจากมีร่างกายที่สูงใหญ่กว่าใครมาตั้งแต่เด็ก) กลับกลายเป็นว่าเพื่อนๆ จะเลิกล้อชื่อพ่อแม่ผู้เขียนในเวลาไม่นาน แต่ก็ยังล้อกันเองกับคนอื่นๆ ที่แสดงอาการโกรธแค้นอยู่

สนธิ

ที่เกริ่นมาถึงตอนนี้ ก็เพื่อที่จะบอกว่าในทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งภายใน ฝ่ายที่มีสื่ออยู่ในมือ จะปลุกความเกลียดชังในใจคนให้ขึ้นมาง่ายมาก เพียงเพราะพวกเรามีความเกลียดชังอยู่ในตัวแล้ว มีประเด็นมากมายในเรื่องชาติและสถาบันที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหยิบนำขึ้นมาเล่น เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังในเป้าหมาย เพื่อดึงคนกลุ่มที่ไวต่อความรู้สึกนี้เข้ามาเป็นพวก

เมื่อความรักในด้านหนึ่ง ก่อให้เกิดความเกลียดชังในด้านหนึ่งแล้ว มันจะมีประโยชน์อันใดอีก ผู้เขียนรักพ่อแม่ แต่ก็รู้ทันความเกลียดชัง ตราบใดที่ไม่มีใครมาปองร้ายพวกเขาทางกายภาพ ผู้เขียนก็เพียงแต่มองข้ามและโฟกัสไปยังสิ่งดีๆ ที่เราจะทำให้กับคนที่เรารักได้

หลายครั้งที่เกิดความขัดแย้ง มักจะมีฝ่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาโดยอ้างว่าเราเป็นคนชาติเดียวกัน เราต้องรักกัน ซึ่งดูจากการกระทำที่ผ่านๆ มาแล้ว มันคงยากที่จะบอกว่ารักกันจริงๆ แต่ถึงเราจะมีความรักอยู่ในตัวกันทุกคนจริงหรือไม่ ก็โปรดสละความชังที่อยู่ลึกภายในใจเรา คลายออกมาให้มันเหลือน้อยที่สุดจนไม่เหลืออะไรเลย เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ที่เข้าใจจิตวิทยาตรงนี้

วิธีคลายความเกลียดชัง เริ่มต้นคือการวิเคราะห์ตัวเอง ถามตัวเองในสิ่งที่คุณเกลียดมากๆ นั้น เพราะอะไรบ้าง เพราะการกระทำของเป้าหมายที่คุณเกลียดหรือเพราะอคติ เพราะถูกชี้นำผ่านหลักฐานที่ปรุงแต่งขึ้นมา หรือเพราะสิ่งที่คุณกำลังเกลียดชังนั้น เพียงแค่อยู่ด้านตรงข้ามกับความรัก

และคุณอาจค้นพบว่า ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในใจนั้น นอกจากจะเกิดจากความว่างเปล่าแล้ว ยังกัดกินใจของผู้ที่ครองความเกลียดชังนั้นอีกด้วย

5 Comments

  1. เป็นบทความที่ดีครับ เห็นด้วยผมขอแสดงความเห็นเพิ่มคือ ในยุคที่มนุษย์ต้องรวมพลังความสามัคคีกันเพื่อครอบครองพื้นที่หรือแย่งชิงอะไรบางอย่าง วิธีที่จะทำให้คนสามัคคีกันคือการมีศัตรูร่วมกันครับ และนี่คือกฏธรรมชาติซะด้วยซ้ำ ดังนั้น สิ่งสำคัญในวงการทหารคือต้องมีความเกลียดชัง ต้องมีคำว่า"ศัตรู"จะเห็นว่าในอดีต มีการรบพุ่งไปมา ซึ่งทำให้เกิดจักรวรรดิและขอบเขตที่แน่นอนได้ครับ ถ้าเราไม่เคยรบกับพม่า มันก็ยากที่จะบอกเขตการปกครองของเราได้ชัดเจนด้วยเหมือนกัน แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ขอบเขตการแข่งขันของโลกเปลี่ยนไป โลกเล็กลงเรื่อยๆ ไร้พรมแดนขึ้นเรื่อยๆ และคนสามารถอยู่ได้โดยมีสังคมที่เล็กลงแต่กระจายความสัมพันธ์ได้มากขึ้น หลักสูตรที่สอนให้คนเกลียดชังจึงถือได้ว่าล้าสมัยอย่างรุนแรงครับ เพราะเราไม่ต้องการการรวมกลุ่มจากการมีศัตรูร่วมกันอีกต่อไปผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ต่างประเทศเค้าเรียนประวัติศาสตร์กันอย่างไรนะครับ เด็กๆจะเรียนว่าประเทศ A โจมตีประเทศ B โดยไม่ใช่ประเทศ A โจมตีประเทศ"เรา" หรือเปล่า?หรือการชำระประวัติศาสตร์จะช่วยให้เด็กๆได้เห็นสงครามอันโหดร้ายที่ทั้ง A และ B ได้กระทำต่อกันหรือเปล่า? อยากขอคำยืนยันด้วยครับ 🙂

  2. การทำให้แตกแยกแล้วปกครอง มองว่าก็มีมาเรื่อยๆ ทุกยุคทุกสมัย จากอดีตจนปัจจุบันนะอาจเพียงขึ้นอยู่กับว่า ทำให้แตกแยกที่ว่า มันแตกแยกเกลียดชังแค่ไหนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา แทรกอยู่ในทุกสังคม เพียงแต่อาจจะมีกาีรบิดมุมมองเปลี่ยนไปบ้าง เพื่อให้ยากต่อการจับได้และต่อต้านยกตัวอย่างให้ชัดเช่นส่วนที่อยู่ในโลกของการตลาด มันมีคำสามัญอย่างเช่น การกระจายสินค้า สร้างฐานลูกค้าใหม่ และ "แย่งแชร์" ถูกมั้ยครับ?แย่งแชร์ ฟังดูแล้วก็อาจดูกลางๆ เป็นคำทั่วไป แต่จริงๆ มันคือเรื่องเดียวกันกับการแย่งฐานลูกค้าผู้สนับสนุนกัน การแย่งแชร์ไม่เหมือนกับการหาฐานใหม่ แย่งแชร์หมายถึงความพยายามเพิ่มสัดส่วนของเราและแน่นอนนั่นย่อมหมายถึงลดสัดส่วนคนอื่น สร้างความแข็งแกร่งมั่นคงของตัวเองไปพร้อมๆ กับกัดกร่อนคู่แข่งให้อ่อนแอลงไปพร้อมๆ กันด้วย แม้ในรายละเอียดของนัยยะนี้ในทางทฤษฏีเราว่ากันด้วยกระบวนการนั่นนี่ หลากหลาย แต่ในภาึคปฏิบัติจริงเราทุกคนต่างรู้ว่ามันมีความพยายามทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบกับฝ่ายตรงข้ามปนรวมอยู่ในนั้นด้วยApple สร้างฐานตัวเองขึ้นมาจากภาพความเป็นครีเอทีฟที่ประกาศตนเป็นอิสระจาก IBMMicrosoft ดึงลูกค้าจาก Apple มาได้ด้วยการโยนภาพความเป็นเผด็จการให้ AppleGoogle แย่งชิงหลายฐานจาก Microsoft มาได้ด้วยการซ้ำเติม(อาจรวมถึงเสริมแต่ง)ภาพการเป็นผู้ผูกขาดให้จะเห็นว่าความพยายามและกระบวนสร้างความเกลียดหรือทัศนคติเชิงลบ ถูกทำซ้ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นี่เองที่ผมคิดว่าสามารถยืนยันพารากราฟก่อนหน้าที่ผมบอกว่ามันไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ ได้การแย่งแชร์บางครั้งทำในทางสร้างสรรค์คือพยายามสร้างผลงาน และบอก/ประกาศออกมาว่าตัวเองดีกว่าและแตกต่างยังไง(ส่วนที่คนอื่นแย่กว่า จะละไว้ก็ไม่มีใึครว่า)ส่วนถ้่าจะทำในทางโง่เขลา(ในความเห็นผม) ไม่สร้างสรรค์ก็คือสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับอีกฝ่าย เราไม่เข้าท่ายังไงช่างมันอย่าพูดถึง แต่อีกฝั่งมันเลว จงเกลียดมันกันเถอะซึ่งความพยายามส่วนนี้ ถ้าทำได้ดีพอ แน่นอนคุณได้แชร์ แต่สำหรับบางคน แค่นั้นไม่พอ แต่หวังสูงสุดไปถึง Loyalty เพราะมันเป็นการันตีระดับนึงว่า คุณจะสามารถอยู่ในสถานะนั้นอย่างปลอดภัยได้ในระยะเวลานึง โดยไม่ต้องเหนื่อยทำอะไรไปสักพัก ยิ่งถ้าคู่แข่งล้มหายตายจากได้ยิ่งดี สบายกันยาวๆเพราะฉะนั้น ในฐานะทีั่เป็น ตลาด เหยื่อ หรืออะไรก็สุดแต่จะเรียก อย่างเราๆ ถามว่าควรทำอะไร และรับมือแบบไหน?ความเห็นส่วนตัวนะครับ.. วางใจกลางๆ ตั้งสติดีๆ พิจารณาเรื่องราวไปตามเหตุผล และพยายามละความรู้สึกจากความโกรธ เกลียด ที่เกิดขึ้นจากการปลุกปั่นนั้นให้ได้ .. เพราะเมื่อไหร่ที่คุณทำไม่ มันมีความเป็นไปได้สูงว่าคุณกำลังหลงกลและตกเป็นเหยื่อ

  3. Werawat Wera

    @iPattt เนื่องจากเรียนในระบบการศึกษาไทยมาตลอด เลยไม่ทราบวิธีเรียนประวัติศาสตร์ของต่างชาตินะครับ พอแต่ได้ยินได้ฟังมาว่า อย่างญี่ปุ่นเอง ก็เรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมเหมือนเรา คือไม่อธิบายละเอียด ในเรื่องที่กระทำกับจีนเกาหลี และเคารพการกระทำตามหน้าที่ของทหารญี่ปุ่นอย่างสูง (แต่ใน higher education เข้าใจว่าเหมือนกันทั้งโลกคือกล้า discuss กันในประเดนเหล่านี้แบบตรงไปตรงมา)<br/>@ฺBLeAmz ขอบคุณสำหรับคอมเมนต์ครับ ได้ภาพที่ชัดมาก ผมชอบดีกรีของการแข่งขันด้วยการสร้างจุดต่าง มากกว่าการปลูกความเกลียดชังไร้เหตุผล อย่างแน่นอน

  4. Werawat Wera

    <markdown>ทดสอบ comment ด้วย markdown#This is header**emphasis**</markdown>

  5. Werawat Wera

    สรุป markdown ใช้ไม่ได้ ต้องเป็น html tag เท่านั้น

Leave a Reply to iPattt Cancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.