บทวิเคราะห์วาทกรรม “กรณ์” เหยียดไม่เหยียด

จากเรื่องราวดราม่าเมื่อนักการเมืองสองฝ่ายกินร้านเดียวกัน

กรณ์ จติกรวานิช เริ่มเปิดประเดนใน Facebook

เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่” ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก “อำมาตย์” สักเท่าใดนัก

อันที่จริงแล้วผู้เขียนเห็นว่าวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” นั้น คือสิ่งที่ผู้ที่เลือกข้างทางการเมือง เห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง ขณะที่อีกฝ่ายเห็นเป็นเรื่องลวง 

ทั้งยังมีความหมายของคำที่เห็นไม่ตรงกัน เช่นฝ่ายที่เห็นเป็นเรื่องลวงจะนำไพร่ในยุคศักดินามาเปรียบเทียบว่า เราไม่จำเป็นต้องสักเลก ทำงานให้หลวงปีละ 6 เดือนเหมือนยุคนั้น

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ จะมองเห็นว่ามันคือไพร่-อำมาตย์ในบริบทแห่งทุนนิยม ไม่ใช่บริบทในยุคสมัยศักดินา เป็นการอุปมาเอาลักษณะบางประการมาใช้ ผู้ไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมยังพยายามโยงเรื่องเศรษฐกิจเข้ากับความเป็นไพร่ในยุคศักดินา เข้ามาว่าไพร่จะต้อง “ยากจน” นักการเมืองทั้งหลายที่ร่ำรวยจะเป็น “ไพร่” ไปได้อย่างไร

ผู้เขียนสามารถอธิบายง่ายๆ ว่าไพร่ศักดินากับไพร่ทุนนิยมนั้นต่างกันมากจากบริบทแห่งยุคสมัย เนื่องจากไพร่ศักดินาทำงานที่ไม่ใช่ของตัวเองเสียครึ่งชีวิต ครั้นตอนทำงานของตัวเองก็ยังต้องส่งส่วยที่ขูดรีดอย่างหนักหน่วงอีกต่างหาก ขณะที่ชนชั้นศักดินา-อำมาตย์ในยุคนั้นผูกขาดการค้าและการขูดรีดเอาไว้ ทำให้ไพร่ไม่สามารถยืนหยัดสะสมความมั่งคั่งใดๆ ได้เลย อย่างดีคือมีที่ดินให้ลูกหลานไว้ทำกินเท่านั้นสืบต่อกันไปเท่านั้น

ไพร่ทุนนิยม นั่นคือสามัญชนทั่วไป ที่ได้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ ที่มนุษยชาติคิดค้นมาตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมไล่มาจนถึงปฏิวัติข่าวสาร เราต่างครอบครองเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตไปจนถึงเครื่องมือทางการเงินในการสะสมความมั่งคั่งเองได้ แต่สิทธิเสรีภาพบางอย่างยังถูกจำกัดคล้ายกับยุคสมัยศักดินา แม้แต่นักการเมืองหรือนายทุน ก็ถือเป็นไพร่ได้ ถ้าพวกเขาโดนคนอีกชั้นจำกัดขอบเขต หรือใช้อำนาจที่เหนือกว่าเล่นงานไม่ต่างอะไรจากยุคศักดิดา ไพร่ทุนนิยมจึงมีความหลุดพ้นทางเศรษฐกิจมากกว่าไพร่ศักดินา แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยก็ตาม

และอันที่จริงแล้วไพร่ทุนนิยม ยังโดนขุดรีดจากการสมคบคิด (โดยมิได้นัดหมาย) ระหว่างกลุ่มศักดินา-ทุนนิยม (ชนชั้นศักดิดาเก่าผันตัวมาเป็นหนึ่งในนายทุนในยุคสมัยทุนนิยมในอย่างแนบเนียน) ผ่านนโยบายต่างๆ จากองค์กรต่างๆ ที่ควบคุมเบ็ดเสร็จ รัฐวิสาหกิจ ไล่มาจนถึงเอกชน (อันหลังจะมีผลน้อยหน่อย) หลักฐานการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนของหน่วยงานราชการ ที่มันดูไม่สัมพันธ์กันเลยกับค่าครองชีพ ข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่ธนาคารโลกรายงานเอาไว้ ไปจนถึงการเอาเงินภาษีไปใช้สุรุ่ยสุร่ายจากหน่วยงานที่ชนชั้นอำมาตย์คุมอย่างเบ็ดเสร็จ คือหน่วยงานทหาร การซื้อของที่มีราคาแพงเกินความจำเป็นของหน่วยงานราชการต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เด็กประถมที่พอจะบวกลบได้ก็ทราบดีว่า เงินมันไปกองในจุดที่ไม่อยู่ถูกที่ถูกทาง สามัญชนอย่างเราๆ ที่ไม่ได้เป็นนายทุน จึงเป็น “ไพร่ทางเศรษฐกิจ” โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว (กลุ่มหลังนี่ถือว่าน่าเศร้าอย่างมาก คือความอัปยศที่สุดของการศึกษาไทยที่คุมโดยอำมาตย์ ที่ต้องการผลิตไพร่จำนวนนี้มากๆ คือไพร่ที่ไม่มีการรับรู้ใดๆ ถึงสถานะที่เป็นอยู่)

อีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนยังเห็นว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เรียกตัวเองว่าไพร่นั้น เป็นการประชดตัวเองที่เจ็บแสบคัน และไว้คอยย้ำเตือนตัวเองว่าเราอยู่ในสถานไหน อุปมาก็คล้ายกับการที่คนรักสองคนประชดกัน ชายหนุ่มรักหญิงสาวมากกว่า และชอบประชดกึ่งจริงกึ่งเล่นว่าตัวเองเป็น “ของตาย” คือเป็นจริงๆ ด้วย ประชดด้วย เตือนใจตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตามครับ อันนี้ไม่ใช่ประเดนหลักของบทวิเคราะห์อันนี้ เราลองมาดูถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่จากการตีความของสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนแดง กับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปัตย์ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีอคติไปทางไหน ดังนี้ครับ 

เพื่อให้เห็นภาพขอยกประโยคกรณ์มาไว้เทียบกับอีกที

เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่” ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก “อำมาตย์” สักเท่าใดนัก

ความหมายแรกออกในเชิงลบ ตีความโดยใช้อัคติไปทางแดง ไหนว่าเป็นไพร่ แล้วทำไมถึงกินข้าวร้านเดียวกับอำมาตย์ได้”

ความหมายที่สองในเชิงบวก ตีความหล่อๆ ตามแนวทางประชาธิปัตย์ “ไม่มีไพร่ไม่มีอำมาตย์ จึงกินร้านเดียวกันได้ และพวกไพร่เป็นคำที่ณัฐวุฒิใช้ดูถูกตัวเอง”

เราลองมาวิเคราะห์ความหมายของกรณ์กัน โดยเริ่มจากการที่เขาคิดยังไงกับร้านที่เขากินก่อน (เพราะเราต่างไม่รู้ว่าร้านนั้นคือร้านอะไร มีลักษณะแบบไหน)

สมมติว่ามันเป็นร้านที่ถือเป็น Mass อย่างสุกี้ MK เขาคงไม่นำมาพูดในลักษณะนี้แน่ เพราะมันไม่เกิดจุดขัดแย้งมากพอที่จะ “ขำ” นั่นก็แสดงว่ากรณ์ Perceived ว่าร้านที่เขากินนั้น อย่างน้อยต้อง “ไม่ธรรมดา” คือสูงกว่ามาตรฐานหรือต่ำกว่ามาตรฐาน

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าร้านอาหารที่ทองหล่อจะมีร้านที่เราคิดว่ามันต่ำกว่ามารตฐานทองหล่อ อย่าง จิ้มจุ่มริมทางหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นร้านลักษณะนี้ มันจะเป็นความคิดที่น่ารักมาก ที่เขาพูดประชดณัฐวุฒิอย่างนั้น ;D แต่เมื่อเรามาลองพิจารณาคำพูดณัฐวุฒิที่ตอบกลับกรณ์ว่า 

ตอนหัวคำ่พาแก้มไปทานข้าวร้านที่เขาชอบช้างน้อยก็ไปด้วย สุดคาดหมายว่ากรณ์ จาติกวาณิชย์จะเอามาเป็นประเด็น แล้วบอกว่าไม่นึกว่าคนประกาศตัวเป็นไพร่จะมีวิถีชีวิตคล้ายพวกเขา ฟังเรานะกรณ์ เพราะประเทศนี้มีคนคิดอย่างคุณการกดขี่จึงดำรงอยู่ ทำไมกำหนดว่าไพร่ต้องจน ต้องโง่ ต้องก้มหน้ารับการเหยียบยำ่ ทำไมไพร่มันจะกินข้าวร้านเดียวกับนายทุนไม่ได้ ประชาชนจงเจริญ

เท่ากับว่าณัฐวุฒิมี Perceived ถึงร้านนี้ว่าเป็น Above Average เนื่องจากจากการใช้คำที่ระบุถึง “ชนชั้น” (ไพร่-นายทุน) ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้นั้นคงเป็นไปได้ยากที่กรณ์จะคิดต่างกับณัฐวุฒิระดับสุดขั้วเกี่ยวกับระดับของร้าน นั่นหมายความว่ากรณ์คิดว่าร้านนี้ Above Average จริงๆ จึง “ขำ” 

ทีนีิลองมาคิดจาก “จิตใต้สำนึกของกรณ์ เกี่ยวกับไพร่-อำมาตย์” ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเขาคิดยังไง จึงต้องสมมติทั้งสองแบบ

สมมติจิตใต้สำนึกแรก ไพร่กับอำมาตย์เป็นเรื่องจริง

สมมติจิตใต้สำนึกที่สอง ไพร่กับอำมาตย์เป็นสิ่งที่ณัฐวุฒิสร้างขึ้นมา ไม่มีอยู่จริง 

(ย้ำว่าทั้งสองอย่างนี้คือการสมมติ)

เราลองนำจิตสำนึกแรกมาจับกับคำพูดข้างต้น จะพบว่าเหยียดแบบเต็มๆ ครับ เพราะให้ความหมายว่าไพร่มากินร้านเดียวกับอำมาตย์ได้ไง และต้องขยายความต่ออีกว่ากรณ์ได้คิดเกี่ยวกับไพร่-อำมาตย์ในความหมายเชิงเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเป็นประเดนที่ไม่ตรงกับนิยามของทางฝั่งแดงแต่แรก ตามตัวอย่างที่ยกมาตอนต้น

เพื่อความยุติธรรมเรามาลองคิดถึงจิตสำนึกที่สอง เมื่อไพร่กับอำมาตย์ไม่มีอยู่จริง ความหมายเผินๆ คือ “ณัฐวุฒิก็ไม่ได้ไพร่ จึงมากินร้านเดียวกันได้” ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกว่าณัฐวุฒิโกหกมวลชนเรื่องไพร่ไปกลายๆ  

แต่ช้าก่อนครับ ลองพิจารณาคีย์เวิร์ดสำคัญของข้อความ 

“ก็อดนึกขำไม่ได้ว่า…” 

คำนี้เองที่เป็นตัวที่บอกถึงความไม่ปกติของประโยค เพราะเป็นตัวชี้จุดขัดแย้ง ถ้าจิตใต้สำนึกเราที่เห็นว่าคนเราเท่าเทียมจริงๆ มันก็ไม่ควรจะขำ

เพราะเขารู้ตัวเองว่ากำลังกินร้านหรู (Fancy Restaurant) และณัฐวุฒิ “คนที่ระดับเดียวกันกับเขา” มากินร้านเดียวกัน มันจะไม่มีอะไรต้อง “ขำ” หรือถ้าจะขำเรื่องการที่ณัฐวุฒิโกหกมวลชนเรื่องไพร่ ก็แสดงว่าเขามีจิตสำนึกว่าคนเป็นไพร่จริงๆ ต้อง Afford ร้านนี้ไม่ได้

“ความขำของกรณ์” นี่เองที่ทำให้การตีความตามจิตสำนึกที่สองก็ยังเหยียดอยู่นี่เอง

และการโต้ตอบของณัฐวุฒิที่ระบุว่ากรณ์เหยียดนั้นก็ถือว่าตรงประเดน 

ถ้าทั้งสองคนนี้ไม่ได้ไปกินร้านจิ้มจุ่มริมถนนทองหล่อในค่ำคืนนั้นนะ 😛

ภาคผนวก

อันที่จริงทุกคนทราบดี ว่าคุณณัฐวุฒิ คือคนชั้นกลาง เป็นนักการเมือง เซเลบริตี้ ซึ่งหากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็จะกลายเป็นชนชั้นนำขึ้นมาทันที (อย่างน้อยสี่ปี)

ทุกคนรู้ กรณ์รู้

และนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับวารทกรรมไพร่-อำมาตย์ ที่ทางฝั่งแดงเอามาเล่นเพื่อจะสื่อว่า
“ไพร่เลือก (ทักษิณ) อำมาตย์ล้ม (ทักษิณ)”

โปรดแสดงความคิดเห็น Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.